ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI) ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญมานานหลายศตวรรษ ซิฟิลิสเกิดจากแบคทีเรีย Treponema pallidum สามารถส่งผลกระทบต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายและลุกลามไปตามระยะต่างๆ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้ ในบทความนี้ เราจะเจาะลึกถึงสาเหตุ อาการ และการรักษาที่มีอยู่สำหรับโรคซิฟิลิส
ทำความเข้าใจโรคซิฟิลิส
ซิฟิลิส เป็น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยส่วนใหญ่ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ โดยไม่ได้ป้องกัน นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่านทางเลือด และจากมารดาที่ติดเชื้อไปยังทารกในครรภ์ หรือคลอดบุตรได้เช่นกัน ซิฟิลิสแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ
ซิฟิลิสระยะแรก
ในระยะแรก ผู้ติดเชื้อจะเกิดแผลริมแข็งเล็ก ๆ อาการนี้อาจปรากฏที่อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก ผู้ป่วยอาจไม่ทันได้สังเกตหรือไม่รู้ตัว เนื่องแผลที่เกิดขึ้นไม่มีอาการเจ็บปวด และมักเป็นนาน 3 ถึง 6 สัปดาห์
ซิฟิลิสระยะสอง
หากไม่ได้รับการรักษา ซิฟิลิสระยะแรกจะดำเนินไปสู่ระยะที่สอง ระยะนี้มีลักษณะอาการหลายอย่าง ได้แก่ ผื่นที่ผิวหนัง มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ และต่อมน้ำเหลืองบวม อาการเหล่านี้อาจเป็นๆ หายๆ หลายเดือน จึงจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ซิฟิลิสระยะแฝง
หลังจากระยะที่สอง ซิฟิลิสจะเข้าสู่ระยะแฝง ในช่วงเวลานี้ไม่มีอาการที่มองเห็นได้ แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย ซิฟิลิสแฝงสามารถคงอยู่ได้นานหลายปี และหากไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้ออาจลุกลามไปถึงระยะที่สามได้
ซิฟิลิสระยะสาม
ซิฟิลิสระยะที่สาม เป็นระยะที่รุนแรงที่สุดและอาจสร้างความเสียหายต่อระบบอวัยวะต่างๆ ซึ่งระยะนี้อาจเกิดขึ้นได้หลายปีหลังจากการติดเชื้อครั้งแรก อาการต่างๆ อาจรวมถึงความผิดปกติทางระบบประสาท ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ตาบอด และอวัยวะภายในเสียหาย ซิฟิลิสระยะที่สาม อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษา
สาเหตุและการแพร่เชื้อ
ซิฟิลิส ส่วนใหญ่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก และทางปาก นอกจากนี้ยังสามามารถติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงกับผู้ป่วย ทั้งนี้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิฟิลิสสามารถแพร่เชื้อไปยังเด็กในครรภ์ได้ ซึ่งนำไปสู่โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด
อาการของโรคซิฟิลิส
อาการของซิฟิลิส อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะของการติดเชื้อ โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ
- แผลริมริมแข็ง บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือปาก (ระยะแรก)
- ผื่นที่ผิวหนัง มักขึ้นที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า (ระยะที่สอง)
- มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ และต่อมน้ำเหลืองโต (ระยะที่สอง)
- ผมร่วง ปวดกล้ามเนื้อ น้ำหนักลด (ระยะที่สอง)
- ไม่แสดงอาการให้เห็น (ระยะแฝง)
- ความผิดปกติทางระบบประสาท โรคหัวใจ ตาบอด และอวัยวะภายในเสียหาย (ระยะที่สาม)
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรคซิฟิลิส
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
- ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนเป็นประจำ
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยซิฟิลิส
การวินิจฉัยโรคซิฟิลิส
การวินิจฉัยโรคซิฟิลิส สามารถทำโดยนำน้ำเหลืองจากแผล หรือผื่นที่ปรากฏบนตัวผู้ป่วยไปส่องกล้อง เพื่อหาตัวเชื้อโรค หรืออาจจะเจาะเลือดเพื่อตรวจหาภูมิต่อเชื้อซิฟิลิส
โรคซิฟิลิสรักษาอย่างไร ?
โรคซิฟิลิส สามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบเจอตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ กลุ่มเพนนิซิลลิน ทั้งนี้ระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็นด้วย หลังจากรักษาไปแล้ว 6 เดือน ต้องตรวจซ้ำในทุกๆ ปี เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
การป้องกันและการปฏิบัติที่ปลอดภัย
- ใช้ ถุงยางอนามัย ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- งดการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ
- ตรวจสุขภาพทางเพศเป็นประจำทุกๆปี
ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มักจะไม่แสดงอาการให้เห็นได้ชัดเจน ทำให้ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ หากไม่ได้รับการรักษา โรคก็จะลุกลามไปทำลายอวัยวะอื่นๆ ดังนั้นไม่ควรละเลยต่อการตรวจคัดกรองซิฟิลิส เพราะตรวจพบเร็วในระยะแรกๆ สามารถรักษาให้หายได้