หนองใน เป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน จึงสามารถรับเชื้อได้โดยง่ายแบบไม่ทันตั้งตัว และบ่อยครั้งผู้ป่วยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหนองในทั้ง หนองในแท้ และเทียม ว่ามีความแตกต่างกันยังไง? เมื่อเป็นโรคหนองในแล้วกี่วันจะหาย? อาการจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน? โรคหนองในเป็นแล้วรักษาหายหรือไม่? หรือเป็นแล้วไม่รักษาได้ไหมเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหนองในมากขึ้น ป้องกันและดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง
หนองในมีกี่ประเภท
โรคหนองในแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดได้แก่ โรคหนองในแท้ และโรคหนองในเทียม
โรคหนองในแท้ (Gonorrhoea)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื้อว่า Neisseria gonorrhea สามารถติดต่อได้ทั้งชายและหญิงรวมทั้งทารกแรกเกิด โรคหนองในแท้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีระยะการฟักตัวสั้น ประมาณ 1 – 10 วัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีการฟักตัวภายใน 5 วัน และเป็นโรคภายใน 7 วัน โรคหนองในแท้สามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นหมัน หรืออาการอักเสบในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น
โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis : NSU)
มีเชื้อก่อโรคหนองในเทียมที่พบบ่อยที่สุดคือ เชื้อแบคทีเรียชื่อว่า คลามัยเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis) สามารถติดต่อได้ทั้งชายและหญิง โรคหนองในเทียมมีระยะการฟักตัวของโรคนานกว่าโรคหนองในแท้ นั่นคือ มากกว่า 10 วันขึ้นไป แต่ปัจจุบันในบางกรณีอาจพบว่าไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป อาการอาจลุกลามจนถึงขั้นอัณฑะอักเสบในผู้ชายและร้ายแรงที่สุดคือ เป็นหมัน ส่วนฝ่ายหญิง อาการอาจลุกลามจนเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบจนถึงขั้นเป็นหมัน หรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
โรคหนองในแท้ และหนองในเทียม ต่างกันยังไง
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่แตกต่างกัน โดยโรคหนองในแท้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื้อว่า Neisseria gonorrhea ส่วนหนองในเทียมเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า คลามัยเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis) แต่มีอาการของโรคหนองในจะคล้ายคลึงกัน หรืออาจจะเกิดร่วมกันได้
การแยกโรคหนองในแท้ และหนองในเทียม อาจพิจารณาจากอาการแสดง เช่น ลักษณะของหนองโรคหนองในแท้จะมีลักษณะขุ่น ส่วนหนองในเทียมส่วนมากจะมีลักษณะใส แต่พบว่าในโรคหนองในเทียมสามารถพบได้ทั้งหนองลักษณะใสหรือขุ่นได้เช่นกัน และโรคทั้งสองพบอุบัติการณ์การเกิดร่วมกันได้มาก
จึงยากในการใช้อาการแสดงทางคลินิกในการแยก จึงอาจใช้การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย
กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหนองในเทียม
- ผู้ที่มีอายุยังน้อย หรือกลุ่มวัยรุ่น
- ผู้ที่ติดยาเสพติด
- ผู้ที่มีคู่นอนมากกว่า 1 คน หรือมีการเปลี่ยนคู่นอนใหม่
- ผู้ที่ใช้คู่นอนร่วมกับผู้อื่น
- ผู้ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์
อาการหนองในแท้-หนองในเทียม
- อาการหนองในของผู้ชาย จะมีอาการปัสสาวะแสบและมีหนองไหล อาการอาจมีมากน้อยแล้วแต่บุคคล ในกรณีที่มีอาการรุรแรงมากมักมีอาการแทรกซ้อน ซึ่งจะเกิดหลังจากที่ได้รับเชื้อแล้ว 2-5 วัน เช่น รู้สึกระคายเคืองท่อปัสสาวะ หลังจากนั้นจะมีอาการปวดแสบเวลาปัสสาวะ มีหนองสีเหลืองออกจากท่อปัสสาวะ อัณฑะบวม อักเสบ
- อาการหนองในของผู้หญิง จะมีอาการตกขาวที่มีกลิ่นเหม็น มีหนองหรือมูกปนหนอง ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องน้อย ในบางรายอาจมีอาการอักเสบที่ท่อปัสสาวะ ปากมดลูก ช่องทวารหนัก หรืออาจรุนแรงไปถึงเกิดฝีที่ต่อมบาร์โธลิน เชื้อโรคอาจลุกลามไปยังโพรงมดลูก ปีกมดลูก ทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ ต้นเหตุของการตั้งครรภ์นอกมดลูก และเป็นหมันได้
- อาการหนองในของทารก ทารกแรกคลอดโดยมากจะเกิดการติดเชื้อที่ตา อาจพบอาการตาแดง ตาอักเสบ หรืออาจเกิดภาวะปอดอักเสบ
การวินิจฉัยหนองในแท้ และหนองในเทียม
การวินิจฉัยหนองในแท้
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น : Gram stain พบ gram-negative intracellular diplococci
- การตรวจเพื่อยืนยันผล: Culture พบ Neisseria gonorrhoeae
การวินิจฉัยหนองในเทียม
- มีประวัติพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ร่วมกับ
- ตรวจพบ urethral Gram stain พบ PMN มากกว่าหรือเท่ากับ≥ 5 cells/oil field หรือ
- ตรวจพบ mucopurulent discharge ที่ cervix ในผู้หญิงโดยไม่พบ Gram negative intracellular diplococci จาก cervical Gram stain หรือ
- Chlamydial test positive
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อหนองใน
- สำหรับผู้หญิง เชื้อสามารถแพร่กระจายไปยังมดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ ส่งผลให้เกิดอาการอักเสบที่อุ้งเชิงกรานและอาจทำให้เกิดแผลในส่วนต่างๆ ที่เชื้อเข้าถึง ทั้งยังอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากด้วย หรืออาจตั้งครรภ์นอกมดลูกที่มีอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดปัญหากับทารก โดยอาจทำให้ทารกเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและโรคติดเชื้อที่ดวงตาจนอาจทำให้เด็กตาบอดได้หากไม่ได้รับการรักษา
- สำหรับผู้ชาย เชื้อหนองในสามารถแพร่กระจายไปยังหลอดเก็บอสุจิ ทำให้เกิดอาการปวดและบวมบริเวณอัณฑะ การติดเชื้อนี้จะทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อเป็นแผล ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
นอกจากนี้โรคหนองในอาจส่งผลต่ออวัยวะและส่วนต่างๆ ของร่างกายทั้งผู้ชายและผู้หญิงได้ ไม่ว่าจะเป็นหลอดลม ดวงตา หัวใจ สมอง ผิวหนัง และข้อต่อต่างๆ แต่จะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
การรักษาโรคหนองในแท้-หนองในเทียม
การรักษาแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Ceftriaxone และ Azithromycin เมื่อได้รับยาอาการจะค่อยๆ ทุเลาลงใน 24 ชั่วโมง แพทย์จะให้ยารักษาประมาณ 1 สัปดาห์แล้วกลับมาตรวจซ้ำ ในช่วงที่กำลังรักษาให้งดการมีเพศสัมพันธ์เด็ดขาด เพราะสามารถแพร่เชื้อได้ และเสี่ยงต่อการอักเสบติดเชื้อ แม้แต่การใช้ถุงยางอนามัยก็ไม่ควร
หากมีสามีหรือภรรยา รวมถึงคู่นอน ควรจะแจ้งอีกฝ่ายว่าเป็นโรคแล้วรีบพามาตรวจรักษาพร้อมกัน และการรักษาต้องผ่านไปแล้ว 1 สัปดาห์มาตรวจซ้ำว่าไม่พบเชื้อจึงจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ มิเช่นนั้น ท่านก็จะติดเชื้อซ้ำๆ ต้องรักษาไม่จบสิ้นจนกว่าจะหายขาดและไม่ได้รับเชื้ออีก
การป้องกันโรคหนองในแท้-หนองในเทียม
- ใช้ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคหนองใน หรือคู่นอนที่มีความเสี่ยง แต่หากเลือกที่จะมีเพศสัมพันธ์ก็ควรป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางด้านหน้า ทางทวารหนัก หรือการใช้ปากสำเร็จความใคร่ก็ตาม
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพราะ จะเพิ่มความสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีอาการผิดปกติ โดยเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ปวดแสบขณะปัสสาวะ เจ็บหรือมีผื่นขึ้นที่อวัยวะเพศ
- พูดคุยสอบถามคู่ของตนเองเกี่ยวกับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงโรคหนองในแท้ก่อนเริ่มมีความสัมพันธ์ทางเพศ
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างภายในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิง เพราะจะเป็นการลดจำนวนแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อช่องคลอด และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- หนองในเทียมจะไม่ติดต่อผ่านการจูบ การกอด การใช้ช้อนส้อม การใช้สระว่ายน้ำ การใช้ห้องน้ำหรือห้องอาบน้ำร่วมกับผู้ป่วย
- ควรหมั่นไปพบแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ควรดื่มน้ำก่อนร่วมเพศและถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ หรือฟอกล้างสบู่ทันทีหลังร่วมเพศ อาจช่วยลดการติดเชื้อลงได้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะได้ผลทุกราย
- หากมีอาการที่บ่งชี้ว่ากำลังเป็นโรคหนองในแท้ หนองในเทียม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์และรีบไปพบแพทย์ เพราะหากผลตรวจออกมาพบว่าเป็นโรคหนองในเทียม และผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังที่กล่าวมาได้ นอกจากนี้ยังต้องแจ้งให้คู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยภายในช่วง 60 วันที่ผ่านมาได้ทราบเพื่อเข้ารับการตรวจรักษาที่เหมาะสมจนกว่าจะหายดี ก่อนที่จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์อีกครั้ง
การปฏิบัติตนเมื่อเป็นโรคหนองในแท้-หนองในเทียม
- ในระหว่างที่ทำการรักษาโรคหนองใน ควรงดการร่วมเพศ รวมทั้งสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ รวมทั้งพาคู่นอนไปตรวจโดยเร็วที่สุด
- ดูแลสุขภาพของตนเอง รักษาอวัยวะเพศและบริเวณใกล้เคียงให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ
- ในผู้ชายไม่ควรรีดอวัยวะเพศเพื่อดูหนอง เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น
- ไม่ควรซื้อยารักษาตนเอง
- ไปรับการตรวจตามนัดทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ควรงดดื่มเหล้า-เบียร์และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
ความคุ้มค่าในการรักษาทั้ง 2 โรคพร้อมกัน
เนื่องจากโรคหนองในแท้ และหนองในเทียม มีโอกาสการเกิดโรคร่วมกันสูง จึงมักให้รักษาโรคหนองในแท้และหนองในเทียมร่วมกัน แต่ยังไม่พบการศึกษาที่เปรียบเทียบการวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลระหว่างการรักษาแบบแยกโรค และการรักษาแบบร่วมกัน
อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม
อาการแบบนี้ ใช่โรคหนองในเทียมหรือเปล่า?
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :
- โรคหนองในแท้ VS โรคหนองในเทียม https://www.ocare.co.th/blog/โรคหนองในแท้-vs-โรคหนองใน/
- โรคหนองในมีกี่ประเภท รักษาและป้องกันอย่างไร https://hd.co.th/neisseria-chlamydia-gonorrhoea-disease
- จะแยกได้อย่างไรระหว่างหนองในแท้และหนองเทียม และความคุ้มค่าในการรักษาทั้ง 2 โรคพร้อมกัน https://apps.phar.ubu.ac.th/dhi/view_question.php?q=30