หูดชนิดนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก คือ ติดต่อได้จากผิวหนังสู่ผิวหนัง สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยมักพบในผู้ป่วยวัยหนุ่มสาว และวัยผู้ใหญ่ จะขึ้นที่บริเวณอวัยะเพศ สามารถพบได้ทั้งในชายและหญิง แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata) คืออะไร
โรคหูดหงอนไก่ (Genital warts, Condyloma acuminata) เกิดจากการเชื้อไวรัส ฮิวแมน แปปิโลมา (Human Papilloma Virus – HPV) โดยมีลักษณะเป็นตุ่มๆ หรือติ่งเนื้อสีชมพู หรือขาว ผิวขรุขระเป็นหยักคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ บริเวณที่พบส่วนมากจะเป็นบริเวณปากช่องคลอด รองลงมาคือที่แคมคลิตอริส รอบทวารหนัก ผนังช่องคลอด และปากมดลูก โดยจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่จะพบได้ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ทั้งหญิง และชาย แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้หญิงมากกว่า ในบางครั้งอาจเรียกโรคนี้ว่า หงอนไก่, หูดอวัยวะเพศ หรือ หูดกามโรค
ระยะฟักตัวของโรค
ตั้งแต่รับเชื้อมาจนเกิดอาการจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน – 2 ปี หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 เดือน
สาเหตุของโรคหูดหงอนไก่
โรคหูดหงอนไก่ เป็นหูดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ฮิวแมน แปปิโลมา (Human Papilloma Virus – HPV) ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีเชื้อชนิดนี้กว่า 200 สายพันธุ์ย่อย บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดที่ผิวหนัง บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ บางสายพันธุ์ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และทางเดินอุจจาระ
สำหรับเชื้อที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่นั้น พบว่าประมาณ 90% เกิดจากสายพันธุ์ย่อย 6 และ 11 ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดโรคมะเร็งค่อนข้างต่ำ (ส่วนเชื้อชนิดที่เพิ่มโอกาสเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และทางเดินอุจจาระ คือ HPV สายพันธุ์ย่อย 16 และ 18 ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้คือ สายพันธุ์ 33, 35, 39, 40, 43, 45, 51-56, 58)
ส่วนใหญ่โรคนี้มักติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก มักพบได้ในกลุ่มวัยรุ่น และที่พบได้ในจำนวนน้อยมาก ๆ คือการติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกในระหว่างการคลอด ในกรณีที่เด็กคลอดผ่านช่องคลอดของแม่ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่
ผู้ที่สัมผัสเชื้อนี้อาจจะไม่ติดโรคทุกราย เพราะขึ้นอยู่กับภาวะภูมิคุ้มกันและจำนวนเชื้อที่ได้รับ โดยเมื่อผิวหนังได้รับเชื้อหรือติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ผ่านทางรอยถลอกที่ผิวหนัง ก็จะมีระยะฟักตัวของโรคที่ยังไม่แสดงอาการได้หลายเดือนหรือหลายปี เมื่อผ่านระยะฟักตัวไปแล้ว เชื้อไวรัสก็จะเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดการสร้างเซลล์ที่ผิดปกติในชั้นผิวหนัง โดยปกติแล้วร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้ออกได้เอง แต่มีส่วนน้อยที่เชื้อไวรัสจะไม่ถูกกำจัด และหากเป็นไวรัสสายพันธุ์รุนแรงก็จะมีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งในตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อได้
สาเหตุของการเกิดซ้ำ
โรคหูดหงอนไก่ สามารถเกิดซ้ำได้ถึงร้อยละ 30-70 ในระยะเวลา 6 เดือนหลังสิ้นสุดการรักษา สาเหตุเป็นได้ตั้งแต่ยาไม่มีประสิทธิภาพ การติดเชื้อซ้ำจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการเกิดรอยโรคจากเชื้อในร่างกายตนเอง
อาการของโรคหูดหงอนไก่
- คนส่วนใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันดี หลังจากได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วมักจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา เชื้อเหล่านี้ก็จะถูกกำจัดออกไปได้เองภายใน 2 ปี (ยกเว้นในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ) แต่ก็ยังมีผู้ติดเชื้อบางส่วนที่อาจแสดงอาการออกมาให้เห็นหลังรับเชื้อเข้าไปแล้วหลายเดือนหรือหลายปี
- มีอาการคัน หรือไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นมากก้อนเนื้อหูดก็จะใหญ่ขึ้นและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในผู้ชายอาจมีปัญหาเรื่องปัสสาวะไม่ออก ส่วนในผู้หญิงอาจตามมาด้วยอาการมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
- นอกจากนี้ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีอาการตกขาว หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น เป็นผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด หูดหงอนไก่จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมากกว่าปกติ (ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการของโรคมากกว่าคนทั่วไป ส่วนในผู้ป่วยเอดส์จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ซึ่งมักจะขึ้นหลายแห่งและเป็นแบบเรื้อรัง)
การวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการดูลักษณะของรอยโรคเฉพาะที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า หรืออาจตรวจยืนยันได้จากการตรวจทางพยาธิวิทยาจากชิ้นเนื้อตรงรอยโรค เนื่องจากรอยโรคที่มีหลากหลายของหูดหงอนไก่อาจทำให้เกิดความสับสนกับโรคอื่น ๆ ได้ เช่น หูดข้าวสุก ไฝ โรคผิวหนังบางชนิด ผื่นของโรคซิฟิลิสระยะที่ 2 ไปจนถึงลักษณะที่ผิดปกติของอวัยวะเพศของบางคนที่มีติ่งยื่นออกมาคล้ายหูดหงอนไก่
โดยดูลักษณะหูดที่เกิดขึ้น ดังนี้คือ
- ถ้าเป็นติ่งเนื้อสีชมพูงอกบานออกทางด้านนอกคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ สำหรับผู้ชายมักเป็นที่ด้านในของหนังหุ้มปลายองคชาติ ผู้ชายรักเพศเดียวกันพบรอบทวารหนัก ผู้หญิงพบที่ปากช่องคลอด
- หูดชนิดแบนราบพบที่ปากมดลูก ลักษณะแบนราบ ส่วนใหญ่เกิดจาก HPV 16 เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก
- หูดชนิดกลุ่มลักษณะเป็นตุ่มขนาด 3–4 มิลลิเมตร สีน้ำตาลแดง ม่วง หรือดำ ผิวเรียบ หรือขรุขระเล็กน้อย
- หูดก้อนใหญ่ลักษณะเป็นหูดขนาดใหญ่ที่โตเร็วมาก จนกลายเป็นก้อนใหญ่ปกคลุมอวัยวะเพศทั้งหมด
- ในกรณีที่แพทย์ยืนยันว่าเป็นหูดหงอนไก่จริง ผู้ป่วยควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วยเสมอ เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ หนองใน พยาธิในช่องคลอด ฯลฯ เพราะมักพบเกิดร่วมกันได้ (การติดเชื้อเหล่านี้ร่วมด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะแสบ มีตกขาว คัน หรือมีแผลที่อวัยวะเพศเพิ่มขึ้น)
- นอกจากนี้แพทย์ยังอาจมีการตรวจเพิ่มเติมหรือตรวจสืบค้นด้วยวิธีอื่น ๆ ตามแต่กรณีหากสงสัยว่ามีหูดหงอนไก่ในบริเวณที่พบได้บ่อย เช่น การใช้กล้องส่องตรวจดูช่องคอหรือที่ทวารหนัก เป็นต้น ส่วนในกรณีที่ยังไม่มีรอยโรคหรือยังไม่เห็นเป็นก้อนหูด แพทย์จะยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้
การรักษาโรคหูดหงอนไก่
- ทาด้วยยาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) ชนิด 25% แต่ต้องระวังไม่ให้ถูกเนื้อดี โดยให้ใช้วาสลีนทาปิดเนื้อดีโดยรอบเอาไว้ก่อน หลังจากทายาประมาณ 4-6 ชั่วโมงแล้วให้ล้างออก และต้องทาซ้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งจนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งมักจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค
- ทาด้วยกรดไตรคลอโรอะซิติก หรือ ทีซีเอ (Trichloroacetic Acid – TCA) ชนิด 50-70% โดยไม่ต้องล้างออก และระวังอย่าให้ถูกผิวหนังที่ดี หลังจากทายาประมาณ 1 ชั่วโมงไม่ควรให้บริเวณที่ทายาโดนน้ำ และต้องรักษาซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหมดไป ตัวยานี้จะมีฤทธิ์ทำให้โปรตีนในเซลล์เสื่อมสภาพเป็นเซลล์ตาย ทำให้หูดที่มีก้านหลุดออกไปภายใน 2-3 วัน
- ทาด้วยครีมอิมิควิโมด (Imiquimod cream) ชนิด 5% เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้กำจัดเชื้อเอชพีวี (HPV) ออกไป โดยให้ทายานี้วันเว้นวันในช่วงก่อนเข้านอน ติดต่อกันเป็นเวลา 16 สัปดาห์ เป็นวิธีรักษาในหูดหงอนไก่ชนิดราบที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณเยื่อเมือก ยาทานี้มีราคาแพง แต่ผู้ป่วยสามารถนำกลับมาทาเองที่บ้านได้
- ทาด้วยยาโพโดฟิลอกซ์ (Podofilox) ชนิด 0.5% มีทั้งรูปแบบเจลและครีม ผู้ป่วยสามารถนำมาใช้ทาเองได้ที่บ้าน โดยวิธีการใช้ให้ทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน แล้วเว้น 4 วัน แต่ไม่เกิน 4 รอบ
- รักษาด้วยการจี้ไฟฟ้า (Electrocauterization) หรือจี้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (Laser ablation) เพื่อตัดรอยโรคออก ใช้วิธีลดความเจ็บปวดในการรักษาด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ แพทย์มักใช้รักษาหูดขนาดใหญ่ที่รักษาด้วยวิธีอื่นมาแล้วแต่ไม่ได้ผล
- รักษาด้วยการจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นการใช้ไม้พันสำลีชุบด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) แล้วนำมาป้ายหรือพ่นเป็นสเปรย์ลงที่รอยโรค เพื่อให้ความเย็นสัมผัสรอยโรคเป็นเวลานานประมาณ 10-15 วินาที และต้องระวังอย่าให้ถูกผิวหนังที่ดี ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบ้างในขณะทำการรักษา แต่เป็นระดับที่สามารถทนได้โดยไม่ต้องใช้ยาชา และภายหลังการรักษาอาจทำให้มีรอยดำได้ การรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องทำซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค
- รักษาด้วยวิธีการตัดหูดหงอนไก่ออกด้วยมีดผ่าตัด (Surgical excision) โดยจะอาศัยการฉีดยาชาเฉพาะที่ วิธีการรักษานี้เป็นวิธีที่ช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของหูดหงอนไก่ได้มากที่สุด มักใช้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หรือในรายที่เป็นหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์
- รักษาด้วยการขูดเอาเนื้องอกออก (Curettage)
การป้องกันโรคหูดหงอนไก่
1.มีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคู่นอนของตน และไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพราะจะยิ่งมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้น
2.หากต้องมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) แม้การใช้ถุงยางอนามัยอาจไม่สามารถป้องกันหูดหงอนไก่ได้ 100% แต่ก็เป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี
3.เมื่อพบรอยโรคต้องสงสัยหรือความผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นหูดหงอนไก่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาให้หายก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคไปสู่บริเวณเนื้อเยื่อเมือกอื่น ๆ หรือการติดต่อสู่ผู้อื่น
4.ในปัจจุบันได้มีการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV 4 สายพันธุ์สำคัญออกมาในเข็มเดียวกัน คือ
- HPV 6, 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่
- HPV 16,18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด และมะเร็งทวารหนัก
ซึ่งวัคซีนนี้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 6, 11, 16, 18 หากฉีดก่อนการติดเชื้อ ดังนั้นควรแนะนำให้มีการฉีดทั้งในเด็กหญิงและเด็กชายที่มีอายุระหว่าง 11-12 ปี สำหรับการป้องกันหูดหงอนไก่ หลังจากฉีดวัคซีนแล้วก็ยังแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยต่อไปและมีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคู่นอนของตน
การดูแลรักษาตัวเองระหว่างเป็นโรคหูดหงอนไก่
- ติดตามการรักษาโดยการมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
- หมั่นตรวจอวัยวะเพศของตัวเองเพื่อหารอยโรคอยู่เสมอ
- งดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา แต่หากมีความจำเป็นก็ควรใช้ถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
- ควรล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เป็นประจำ และหากสัมผัสรอยโรคให้ล้างบริเวณที่สัมผัสและล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ครบถ้วน เช่น การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด, ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ, รับประทานอาหารที่สุกสะอาด
- ในรายที่มีหูดหงอนไก่ขึ้นหลายแห่ง หรือเป็น ๆ หาย ๆ อยู่บ่อย ๆ ควรไปตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือไม่
- ในผู้หญิงที่เป็นหูดหงอนไก่บริเวณปากมดลูก อาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคเอดส์หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น สูบบุหรี่หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ฯลฯ ดังนั้น จึงควรหาทางหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ และควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกในระยะแรกเริ่มอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ในระหว่างการรักษาหูดหงอนไก่ หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ผิวหนังบริเวณที่ทำการรักษามีอาการเจ็บ แดง ระคายเคืองเป็นบริเวณกว้าง หรือผู้ป่วยมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ
- งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ใช้สารเสพติด
- งดสำส่อนทางเพศ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส เป็นต้น
- ระหว่างรักษาหูดหงอนไก่ หากมีอาการผิดปกติ หรือกังวลใจในอาการที่เป็นอยู่ ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด
บทความอื่นๆเพิ่มเติม
โรคเริม (Herpes) – โรคติดต่อที่พบบ่อย
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :
- โรคหูดหงอนไก่ https://www.mplusthailand.com/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ/หูดหงอนไก่/
- หูดหงอนไก่ (CONDYLOMA ACUMINATUM) https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/บทความ-สุขภาพผู้หญิง/หูดหงอนไก่-(Condyloma-acuminatum)
- หูดหงอนไก่ คืออะไร? https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/933
- หูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata) https://sites.google.com/site/napassnt/home/12
- หูดหงอนไก่ https://www.pobpad.com/หูดหงอนไก่
- หูดหงอนไก่ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหูดหงอนไก่ 10 วิธี !! https://medthai.com//หูดหงอนไก่/