• Skip to primary navigation
  • Skip to main content
  • Skip to primary sidebar

ThaiHiv365

Never leave someone behind.

  • หน้าแรก
  • จองคิวตรวจเอชไอวี
  • เอชไอวีและเอดส์
    • การรักษาเอชไอวี
    • การป้องกันเอชไอวี
    • การตรวจเอชไอวี
    • เอดส์ คืออะไร
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • โรคหนองในเทียม
    • โรคหนองใน ภัยร้ายใกล้ตัว รู้ก่อนรักษาได้
    • โรคหูดข้าวสุก
    • โรคหูดหงอนไก่
    • โรคเริม
    • แผลริมอ่อน
    • โรคซิฟิลิส
  • เพร็พ PrEP/ เป็ป PEP
    • เพร็พ PrEP
    • เป๊ป PEP
  • บทความ
  • ถาม-ตอบ
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา

โรคเอดส์

แยกให้เป็น HIV กับ AIDS ไม่เหมือนกัน

January 18, 2023 by thaihiv365 team

ถ้าพูดถึง HIV กับ AIDS คนหลายคน ก็เกิดมีความกลัวอย่างเห็นได้ชัด เพราะยังมีชุดความรู้ผิดๆ เกี่ยวกับเชื้อนี้อยู่มาก เนื่องจากยังไม่ค่อยมีสื่อเรื่องเพศศึกษา และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในสถานศึกษาอย่างจริงจัง พอได้ยินว่า “เลือดบวก” ก็จะตีความว่าเขาเป็นโรคเอดส์ทันที ในบทความนี้จะแยกให้เห็นว่า HIV กับ AIDS ไม่ได้เหมือนกันอย่างที่คิดครับ

แยกให้เป็น HIV กับ AIDS ไม่เหมือนกัน

HIV กับ AIDS แตกต่างกันอย่างไร?

ความแตกต่างของ HIV กับ AIDS นั่นง่ายมาก เพราะ HIV คือ ไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค AIDS หมายความว่า AIDS เป็นเพียงอาการของผู้ที่ติดเชื้อ HIV และไม่ได้รับการรักษาเท่านั้น จึงจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคเอดส์ได้ในตอนท้าย สรุปอีกครั้งว่า HIV เป็นเชื้อไวรัส แต่ AIDS เป็นเพียงอาการของคนที่ไม่ได้รักษานั่นเอง ซึ่งกว่าจะกลายเป็นโรคแทรกซ้อน ไวรัสเอชไอวีจะต้องเข้าสู่ร่างกายมาสักระยะและผู้นั้นไม่ได้ทานยาต้านไวรัสเอชไอวี ตัวไวรัสจึงแพร่กระจายตัวไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้พังลงได้ในที่สุด

HIV ติดต่อได้ผ่าน

  • การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น และ
  • การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก (พบได้น้อย)
HIV ติดต่อได้ผ่าน

อาการของ HIV กับ AIDS

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า AIDS ที่เป็นอาการของผู้ติดเชื้อ HIV นั้นมีความเกี่ยวเนื่องกัน แต่ในระยะแรกที่ได้รับเชื้อมาใหม่ๆ คนๆ นั้นจะแทบไม่มีอาการใดปรากฏให้เห็นเลย หรือถ้ามีก็น้อยมากจนไม่ทันสังเกต เพราะอาจคิดว่าป่วยเป็นโรคธรรมดาทั่วไป โดยเราจะแบ่งระยะอาการออกเป็น 3 ระยะดังนี้

  1. ระยะติดเชื้อเฉียบพลัน : ระยะนี้จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีมาแล้ว ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ซึ่งจะมีอาการคล้ายกับคนเป็นไข้หวัด เช่น
    • ต่อมน้ำเหลืองโต
    • มีผื่นขึ้นตามร่างกาย
    • ปวดเนื้อเมื่อยตัว ไม่มีเรี่ยวแรง
    • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องเสีย
    • เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เจ็บคอ
  2. ระยะเริ่มแสดงอาการ : ระยะนี้ จะค่อยๆ เริ่มมีอาการ โดยจะใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 7-10 ปีขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ติดเชื้อ แต่ก็ยังไม่อาจระบุได้ว่าเข้าสู่ภาวะเอดส์อย่างเต็มขั้น ซึ่งอาการจะค่อนข้างคล้ายคลึงในช่วงแรกที่ติดเชื้อ แต่อาจมีโรคอย่างอื่นด้วย เช่น
    • โรคงูสวัด
    • เกิดเชื้อราในช่องปาก
    • มีแผลเริมที่อวัยวะเพศ
    • พบผื่นคันตามร่างกาย คล้ายคนเป็นภูมิแพ้
  3. ระยะเอดส์ : ระยะนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภูมิต้านทาน ในระดับต่ำมากๆ หรือผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่ได้รับการรักษา เชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าไปทำลายเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย และไม่มีภูมิต้านทานมาช่วยได้ ส่งผลทำให้มีโรคฉวยโอกาสเข้ามาได้บ่อยๆ เช่น
    • วัณโรค
    • โรคติดเชื้อในปอด
    • โรคติดเชื้อในสมอง
    • โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น

มาป้องกันตัวเองจาก HIV กับ AIDS กันเถอะ!

อยากห่างไกลจากโรคเอดส์ ทำได้ง่ายๆ เลยเรื่องเดียวคือ ให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเอง เพราะเมื่อเราเซฟตัวเองดี คนอื่นรอบข้างก็ไม่มีความเสี่ยงไปด้วย

  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ รักเดียว ใจเดียว
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หมั่นตรวจเอชไอวีเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

HIV กับ AIDS ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

หากเราเรียนรู้และยอมรับเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น จะเห็นได้ว่า การอยู่ร่วมกับผู้มีเชื้อเอชไอวีไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวแต่อย่างใด เพราะเขาเหล่านี้ก็คือมนุษย์ปกติเหมือนกับเรา เพียงแต่เจ็บป่วยด้วยโรคประเภทหนึ่งเท่านั้น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเรา เรียน ทำงาน หรือแม้แต่มีครอบครัว มีลูกได้เหมือนกัน ในความเป็นจริง คนที่ติดเชื้อและทำการรักษาเอชไอวีด้วยยาต้าน จะถูกกลไกของยาคอยควบคุมเชื้อไม่ให้แพร่กระจาย ไปทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ และเขาจะได้รับการติดตามผลการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะยานี้จำเป็นต้องทานไปตลอดชีวิต จนกว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนามาให้กลุ่มผู้ติดเชื้อได้รักษาเอชไอวีให้หายขาดไปได้จริงจากร่างกายในอนาคตครับ

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม

  • โรคฝีมะม่วง ภัยร้ายใกล้ตัว
  • เจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ อาการบ่งบอกถึงโรค “หนองใน”

Filed Under: เอชไอวี HIV Tagged With: AIDS, HIV, โรคเอดส์, ไวรัสเอชไอวี

ตรวจหาเชื้อเอชไอวีไม่เจอ ควรตรวจซ้ำอีกรอบหรือไม่?

October 19, 2022 by thaihiv365 team

ตรวจหาเชื้อเอชไอวีไม่เจอ

การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี  ถ้าผลตรวจออกมาเป็นลบ หรือไม่เจอเชื้อ ก็เป็นการได้เริ่มต้นป้องกันตัวเองอย่างจริงจัง หรือถ้าตรวจเจอเชื้อ ก็ถือว่าเป็นการรู้ตัวก่อนที่จะป่วยขึ้นมา เพื่อได้เข้าสู่กระบวนการรักษาแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่ป่วยหรือ เสียชีวิตจากโรคเอดส์ อีกทั้งสามารถป้องกันคนที่เรารักและคนอื่นๆ ไม่ให้ติดเชื้อจากเราได้

การตรวจหาเชื้อเอชไอวี สามารถแบ่ง 2 ลักษณะ คือ ตรวจคัดกรอง และตรวจยืนยัน

1. การตรวจคัดกรอง คือ การตรวจเพื่อกรองบุคคลผู้มีความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อเอชไอวี ว่ามีโอกาสได้รับเชื้อหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจโดย Rapid Test เป็นชุดตรวจที่ตรวจง่าย รู้ผลรวดเร็วภายในไม่กี่นาที ซึ่งมีความแม่นยำสูง 

หากผลตรวจพบว่า มีโอกาสพบเชื้อเอชไอวี ผู้ตรวจควรดำเนินการตรวจยืนยันที่โรงพยาบาล หรือคลินิกได้ทันที การตรวจแบบคัดกรองนี้ไม่สามารถยืนยัน หรือสรุปได้ว่าคุณเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี

2. การตรวจยืนยัน คือ การตรวจยืนยัน อีกครั้งหลังจาก คุณทำการตรวจคัดกรองมาแล้ว และพบว่ามีโอกาส ได้รับการติดเชื้อเอชไอวี 

ทำไมถึงต้องตรวจคัดกรองก่อน เพราะปัจจุบัน การตรวจยืนยัน ยังอาจใช้เวลานาน กว่าจะทราบผล และมีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมาก ดังนั้นหากมีการตรวจคัดกรองมาก่อน ก็จะสามารถช่วยคัดกรองผู้ป่วย ที่มีโอกาสพบเชื้อ กับผู้ที่ไม่มีโอกาสพบเชื้อ ให้สามารถเข้าสู่ระบบการตรวจรักษาได้เร็วขึ้น และลดภาระงาน ในการตรวจของเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น

ตรวจเอชไอวีไม่เจอ เกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง

การจะแพร่เชื้อได้นั้น จะต้องมีปริมาณของเชื้อไวรัสมากพอสมควร โดยเกณฑ์ที่ใช้เทียบเคียง คือ ต้องมีปริมาณไวรัสในเลือดตั้งแต่ 200 – 1,000 copies/ซีซีของเลือด จึงจะสามารถแพร่เชื้อได้ และชุดตรวจเอชไอวีในปัจจุบัน สามารถตรวจได้ต่ำสุดตั้งแต่ 20-50 copies/ซีซีของเลือด

การตรวจเอชไอวีไม่เจอนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ จาก 2 กรณี ได้แก่

  • กรณีที่ 1 คือ ระยะเวลาในการตรวจนั้น เร็วเกินไป ผู้ที่ได้รับความเสี่ยงมา บางคนอาจจะใจร้อน รีบตรวจเกินไปร่างกายยังไม่มีการสร้างแอนติบอดีขึ้นมา ทำให้หากตรวจในระยะเวลาที่เร็วเกินไปอาจจะตรวจไม่เจอเอดส์ นั่นเอง 

    ปัจจุบันวิธีการตรวจจะพัฒนาขึ้นมาก และสามารถตรวจได้เร็วสุดภายในหนึ่งสัปดาห์ ด้วยวิธีการตรวจแบบ NAT แต่หากตรวจด้วยวิธีอื่น ระยะเวลาที่ดีที่สุดที่สมควรตรวจ คือ 30 วัน และควรตรวจซ้ำอีกทุก 30 วัน เป็นเวลา 3 เดือน หรือตรวจอีกครั้งหลัง 3 เดือน ก็สามารถทำได้ แต่หากตรวจพบว่ามีโอกาสพบเชื้อตั้งแต่ครั้งแรก ให้รีบตรวจยืนยันที่โรงพยาบาล หรือคลินิก ทันที หากไม่พบเชื้อถึงจะสามารถปิดเคสได้

  • กรณีที่ 2 คือ เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว โดยรับประทานยาต้านไวรัสสอย่างต่อเนื่อง ในทุกๆ วัน ติดต่อกันนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่จะมีปริมาณไวรัสเอชไอวีอยู่ในเลือดต่ำกว่า 50 copies ต่อซีซีของเลือด ชุดทดสอบจึงตรวจไม่เจอ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เชื้อหมดจากร่างกายแล้ว เพียงแต่ทานยาต้านไวรัสต่อเนื่อง แต่หากหยุดทานยา เชื้อก็จะเพิ่มขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์
ตรวจอีกครั้งหลัง 3 เดือน

ตรวจหาเชื้อ HIV มีโอกาสได้ผลผิดพลาดไหม?

มีโอกาสผิดพลาด คือ ได้รับผลการทดสอบเอชไอวีผิดพลาด จากการทดสอบที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ผิดพลาดตามไปด้วย เพราะการทดสอบมีระยะเวลา 3-6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ใครๆ ก็สามารถติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่ไวรัสจะไม่ปรากฏในการทดสอบแอนติบอดี ซึ่งหมายความว่าอาจมีคนติดเชื้อเอชไอวีในช่วงเวลาดังกล่าว แต่จะไม่ปรากฏในการทดสอบแอนติบอดีจนกว่าจะผ่านไปนาน 6 เดือน

ตรวจเอชไอวีไม่เจอ เท่ากับไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อแล้วหรือเปล่า?

  • ระยะเวลาในการตรวจนั้น เร็วเกินไป หลังไปเสี่ยงสัมผัสเชื้อมา  แนะนำให้ตรวจอีกรอบ เพื่อความมั่นใจ ในระยะที่น่าเชื่อถือ หรือระยะการตรวจเชื้อ หากไม่พบเชื้อถึงจะสรุปได้ว่าไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ
  • การกินยาต้านไวรัสที่ทานมาอย่างยาวนาน ออกฤทธิ์ไปกดเชื้อไว้ ไม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้น ไม่ให้เชื้อทำอันตรายต่อร่างกายไปมากกว่านี้ ซึ่งการตรวจอาจจะไม่เจอเชื้อไวรัส แต่เชื้อไวรัสเอชไอวียังคงอยู่ในร่างกายไม่หายขาด สรุปก็คือเป็นผู้ติดเชื้ออยู่นั่นเอง

U = U ตรวจไม่เจอเชื้อเอชไอวี = ไม่แพร่เชื้อ จริงหรือไม่

U=U หรือ Undetectable = Untransmittable คือ ไม่เจอ = ไม่แพร่ ดังนั้นหากทำการตรวจไม่เจอเชื้อเอชไอวี ก็จะไม่สามารถถ่ายทอด หรือแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้

หากตรวจเลือดแล้ว ไม่เจอว่ามีการติดเชื้อ และไม่ทำตัวเองให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อขึ้นอีกได้ การตรวจไม่เจอว่าติดเชื้อ ก็คือไม่แพร่เชื้อเช่นกัน แต่ถ้าหากมีพฤติกรรมเสี่ยงอยู่ เช่น การไม่สวมถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือการใช้ PrEP หลังจากเสี่ยงสัมผัสเชื้อ ก็ทำให้เป็นผู้ที่ไม่ติดเชื้อมีโอกาสติดเชื้อได้อยู่

บทความอื่นๆเพิ่มเติม

ควรตรวจ HIV เมื่อไร?

เอชไอวี(HIV) ป้องกันง่ายกว่ารักษา

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ตรวจเอดส์ ไม่เจอ เกิดอะไรขึ้นกันแน่ ? http://www.thaihivhometest.com/ตรวจเอดส์-ไม่เจอ/
  • ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ (Undetectable = Untransmissable, U = U) http://www.thaiaidssociety.org/index.php?option=com_content&view=article&id=179&Itemid=90

Filed Under: ตรวจเอชไอวี, เอชไอวี HIV Tagged With: HIV, การตรวจหาเชื้อเอชไอวี, ตรวจเอชไอวี, ตรวจเอชไอวีไม่เจอ, เอชไอวี, เอดส์, โรคเอดส์

เอชไอวี(HIV) ป้องกันง่ายกว่ารักษา

September 9, 2022 by 365team

เอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คหลายคนหวาดกลัวการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ และถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่น่ากลัว และไม่มีทางรักษา แต่มีวิธีการที่สามารถช่วยป้องกัน และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีนี้ได้

เอชไอวี คืออะไร?

เอชไอวี (HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเอดส์ (AIDS) คือระยะท้ายของการติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโรคแทรกซ้อนได้ เชื้อ HIV จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายลดต่ำลง ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อของโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ ได้ เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

อาการของเอชไอวี

  • ปอดอักเสบ
  • สูญเสียความจำ อาการซึมเศร้าและอาการทางระบบประสาทอื่นๆ
  • ท้องเสียเรื้อรังนานกว่าหนึ่งสัปดาห์
  • เหนื่อยผิดปกติ
  • อาการไข้ที่กลับมาเป็นซ้ำๆ
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
  • มีผื่นตามผิวหนัง ในช่องปาก จมูกและเปลือกตา
  • แผลที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศและทวารหนัก
  • อาการบวมที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้และขาหนีบ

เอชไอวี มีทั้งหมด 3 ระยะ

ระยะไม่ปรากฏอาการ

ในระยะนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนั้นจะไม่ปรากฏอาการผิดปกติใด ๆ ให้เห็น จึงดูเหมือนคนปกติที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่อาจจะมีอาการป่วยเล็กน้อย โดยเฉลี่ยนั้น จากระยะแรกเข้าสู่ระยะที่ 2 จะใช้เวลาประมาณ 7 – 8 ปี แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการอยู่ได้นานถึง 10 ปี จึงทำให้ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นๆได้ เพราะว่าผู้ที่ติดเชื้อเอดส์ส่วนใหญ่ในระยะแรก ยังไม่ทราบว่าตัวเองนั้นติดเชื้อแล้ว

ระยะปรากฏอาการ

ในระยะนี้จะตรวจพบผลเลือดบวก และมีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็นได้ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตติดต่อกันนานหลายเดือน มีเชื้อราบริเวณในปาก โดยเฉพาะกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก เป็นงูสวัด หรือแผลเริมชนิดลุกลาม มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุเกิน 1 เดือน เช่น มีไข้ ท้องเสีย ผิวหนังอักเสบ น้ำหนักลด และอื่น ๆ ในระยะนี้อาจมีอาการอยู่เป็นปี ก่อนพัฒนาลุกลามกลายเป็นเอดส์เต็มขึ้นในระยะต่อไป

ระยะโรคเอดส์

ในระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายลงไปเยอะมาก ซึ่งทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น และร่างกายก็ไม่สามารถขจัดเชื้อโรคเหล่านี้ออกไปจากร่างกายได้  ซึ่งมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าติดเชื้อชนิดใด และเกิดขึ้นบริเวิณอวัยวะส่วนใดของร่างกาย เช่น หากติดเชื้อวัณโรคที่ปอด อาการที่พบจะมีไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด แต่ถ้าเป็นเยื้อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรวดแรง อาเจียน คอแข็ง คลื่นไส้ และถ้าเป็นอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาทก็จะมีอาการซึมเศร้า แขนขาอ่อนแรง ความจำเสื่อม ซึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ในระยะสุดท้ายนี้ จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1 – 2 ปีเท่านั้น

ใครบ้างที่ควรตรวจเอชไอวี

  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ผู้ที่ตัดสินใจจะมีคู่หรือแต่งงาน
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • ผู้ที่ใช้เข็มหรือหลอดฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ที่คิดจะตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของแม่และตัวเด็ก

การป้องกันเอชไอวี

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • มีคู่นอนเพียงคนเดียว ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ 
  • ก่อนสมรส หรือมีลูก ควรมีการตรวจเลือด
  • งดใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น
  • พาคู่รักและตนเองไปตรวจเลือด หรือรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

การรักษาเอชไอวี

การรักษาเอชไอวีมีหลายประเภท รวมถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ARV) การป้องกันโรคหลังการสัมผัส (PEP) และการป้องกันโรคก่อนการสัมผัส (PrEP)

ยารักษาอาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ที่ได้รับการรับรองมากกกว่า 25 ชนิด เรียกว่า ยาต้านรีโทรไวรัส (antiretroviral drugs หรือเรียกย่อว่า ARV) ทำหน้าที่ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคสู่คนอื่น

หากมีความกังวลว่าตัวเองอาจเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี สามารถใช้ ยาต้านไวรัสหลังสัมผัสโรค (post-exposure prophylaxis หรือชื่อย่อว่า PEP) เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับยาให้เร็วที่สุด ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง

นอกจากนี้สามารถใช้ ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis หรือชื่อย่อว่า PrEP) ใช้ในผู้ไม่มีเชื้อเอชไอวีแต่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีสูง และต้องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต้องรับประทานยาทุกวันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

  • ทำความรู้จักกับ โรคฝีดาษลิง
  • ผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี

Filed Under: เอชไอวี HIV Tagged With: เอชไอวี, เอดส์, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคเอดส์

การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัยเป็นไปได้หรือไม่

July 19, 2022 by thaihiv365 team

การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัย

เรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญของทุกคน การป้องกันก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน การมีเซ็กส์ยังไงให้ปลอดภัย เพื่อการป้องกัน และลดความเสี่ยงการติดต่อของโรคทางเพศสัมพันธ์

Safe Sex คืออะไร 

คือ การมีเซ็กซ์ หรือเพศสัมพันธ์กันอย่างปลอดภัย ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่ามีเพียงแค่การใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่ความจริงแล้วการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยมีมากกว่านั้น อย่างเช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าการช่วยตัวเอง ซึ่งวิธีอย่างหนึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ร้ายแรง หรือน่ารังเกียจ

ทำไมต้อง Safe Sex? 

การ Safe Sex หรือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยนั้น เพื่อเป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี, โรคเอดส์, ซิฟิลิส, หนองใน ฯลฯ หรือช่วยในการคุมกำเนิด ตั้งท้องในขณะที่ยังไม่พร้อม 

การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัยเป็นไปได้หรือไม่ 

เป็นไปได้ หากเรามีความรู้ และการเข้าใจในการมีเซ็กซ์ หรือเพศสัมพันธ์ อย่างถูกต้อง ทำให้เรามีเซ็กส์อย่างปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

Safe Sex มีแบบไหนบ้าง?

แบบที่ 1 ก่อนที่จะมี Sex กับใครได้โปรดตรวจเลือดเพื่อความชัวร์! 

แม้ว่าเราจะมั่นใจในตัวเอง หรือไว้ใจในคู่นอนของเรามากแค่ไหน แต่การตรวจเลือดก่อนมีเพศสัมพันธ์ก็จะชัวร์และปลอดภัยมากกว่า เพราะการที่เราตรวจเลือดก่อนมีเพศสัมพันธ์ก็เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เราสามารถตรวจได้จากเลือดนั้นเอง เช่น โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส หรือโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี ที่ติดแล้วรักษายากมาก ๆ ซึ่งสามารถตรวจได้ตามโรงพยาบาลทั่วไปเลย ฉะนั้นก่อนมีเพศสัมพันธ์เราอยากจะแนะนำให้ตรวจเลือดก่อนทุกครั้งเพื่อเขาเพื่อเราจะได้ปลอดภั

แบบที่ 2 Safe Sex ด้วยถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย

ถุงยางอนามัยของผู้ชายนั้นเป็น Safe Sex แบบเบสิก ถ้าใช้ถูกวิธีรับรองว่าปลอดภัย 100% และหาซื้อง่าย ราคาไม่แพง เพราะนอกจากจะสามารถช่วยป้องกันเราจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถคุมกำเนิดได้ดีอีกด้วย

ข้อดีของการใช้ถุงยางอนามัย

สามารถป้องกันเราจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการคุมกำเนิดได้ 100% ถ้าถุงยาง ไม่รั่ว ไม่ขาด ไม่หมดอายุ ฉะนั้นเช็กดี ๆ ก่อนสวม ราคาไม่แพง หาซื้อง่ายตามร้านสะดวกซื้อ เปิดขายกันตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพหรือภาวะแทรกซ้อนด้วย

ข้อควรระวังในการใช้ถุงยาง

อาจทำให้เกิดการแพ้สารเคมีในถุงยางได้ และอาจทำให้ถุงยางรั่วหรือแตก ระวังกันด้วยน้าา เช็กวันหมดอายุ รวมถึงเช็กขนาด รอยขาด รอยรั่วด้วยเพื่อความปลอดภัยของเรา

ห้ามใช้ถุงยางอนามัยพร้อมกัน


แบบที่ 3 Safe Sex ด้วยถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง

ถุงยางอนามัยของผู้หญิงมีความปลอดภัยสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดเข้าไปในช่องคลอดเช่นกัน และมีราคาแพงกว่าถุงยางของผู้ชาย ถุงยางผู้หญิงทำจากพลาสติกที่เรียกว่าโพลียูรีเทน (Polyurethane) ซึ่งมีขนาดบางมากก อ่อนนุ่ม ผู้หญิงทุกคนสามารถใช้ได้ แต่สำหรับคนที่แพ้สารโพลียูรีเทนหรือยางสังเคราะห์ หรืออวัยวะเพศมีความผิดปกติ ใส่ไม่พอดีหรือหลวมไปควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด

ข้อดีของการใช้ถุงยางผู้หญิง

ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, สามารถป้องกันการตั้งท้องได้ ถ้าใช้อย่างถูกต้อง, สามารถใช้ได้ขณะมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ และไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้งาน

ข้อควรระวังในการใช้ถุงยาง

แกะถุงยางอนามัยออกจากซองอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันการฉีกขาด โดยส่วนวงแหวนที่มีขอบยางหนาจะถูกสอดใส่ไว้ในอวัยวะเพศหญิง และวงแหวนที่มีขอบยางบางจะอยู่ที่ปากช่องคลอด ควรตรวจสอบว่าถุงยางไม่พลิกตัว หรือพับงอ และปลายเปิดของถุงยางอยู่ที่ปากอวัยวะเพศ

ควรถอดถุงยางผู้หญิงโดยการบิดวงแหวนด้านนอกหรือปลายเปิดของถุงยาง และดึงออกจากอวัยวะเพศ ห้ามใช้ทั้งถุงยางผู้หญิงและถุงยางผู้ชายพร้อมกันขณะร่วมเพศ เพราะอาจเกิดการเสียดสีกันจนฉีกขาดได้ถุงยางอนามัยของผู้หญิงสามารถใช้ได้กับสารหล่อลื่นทุกประเภท แต่ห้ามใช้วาสลีน หรือน้ำมัน

แบบที่ 4 Safe Sex ด้วยการทานยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด 

เป็นตัวเลือกของผู้หญิง ที่นิยมใช้กันมาก คือ ยาคุมกำเนิด แต่ไม่ป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ฉะนั้นอย่าลืมใช้ถุงยางทุกครั้งด้วย แต่ยาคุมชนิดเม็ดก็ยังเป็นที่นิยมอยู่

  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วย ฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ตัวนี้เป็นชนิดที่เราแนะนำเพราะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าตัวอื่น ๆ
  • ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน แบบเดี่ยว เหมาะกับคนที่อยู่ช่วงให้นมลูก 
  • ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน ไม่แนะนำให้ทาน แต่ควรใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉินมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน หรือการคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ผิดพลาด เช่น ถุงยางแตก รั่วหรือหลุด เท่านั้น

ข้อดีของการทายาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

ทานง่าย สะดวก หาซื้อได้ง่าย ตามร้านขายยาทั่วไป ไม่เป็นอุปสรรคระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

ข้อควรระวังในการทานยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

ให้เช็กตารางของการมีประจำเดือนให้ดี ๆ เพราะถ้าพลาดแล้วแก้ไขยาก ผลข้างเคียงมาก เช่น ทำให้รู้สึกง่วงนอน คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด น้ำหนักขึ้น ตัวบวม หรือบางครั้งอาจจะส่งผลให้มีอารมณ์แปรปรวนด้วยยาคุมไม่ได้ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

แบบที่ 5 Safe Sex ด้วยการฉีดยาคุมกำเนิด

การฉีดยาคุมสามารถคุมกำเนิดได้ 100% ซึ่งวิธีนี้สามารถคุมกำเนิดได้ยาวนาน 1-3 เดือน แต่ผลข้างเคียงเยอะมาก หากฉีดยาคุมควรปรึกษาหมอก่อนฉีด  ซึ่งวิธีนี้จะไม่ค่อยสะดวก และราคาสูงกว่าการทานยาคุมแบบเม็ด แต่การฉีดยาคุมถือว่ามีประสิทธิภาพสูงมากในการคุมกำเนิด 

ข้อดีของการฉีดยาคุม

คุมกำเนิดได้ยาวนาน 1-3 เดือน แล้วแต่ชนิดยา โดยไม่ต้องทานยาทุกวัน ไม่รบกวนต่อการมีเพศสัมพันธ์สามารถใช้ได้แม้จะอยู่ในช่วงให้นมลูก ช่วยแก้ปัญหารอบเดือนที่ผิดปกติได้

ข้อควรระวังในการฉีดยาคุม

ต้องฉีดยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพถึงจะหยุดใช้แล้ว เพราะอาจส่งผลจนกว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเป็นปกติ เป็นโรคกระดูกพรุน การใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉีดชนิดเมดรอกซีโปรเจสเทอโรนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อกระดูก แต่ก็จะกลับสู่ภาวะปกติ หากหยุดใช้

ตรวจโรคอย่างสม่ำเสมอ

แนวทางการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  1. ตรวจหาโรคติตต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เพียงแค่เรา แต่คู่นอนของเราเองก็ต้องหมั่นตรวจด้วยอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้สร้างความมั่นใจ และหาแนวทางในการป้องกัน หรือแก้ไขกันต่อไป เพราะเชื้อบางชนิดไม่ได้ออกอาการทันที ใช้ระยะเวลานานกว่าจะออกอาการ 
  2. ป้องกันอยู่เสมอโดยใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งสามารถพกพาถุงยางอนามัยไว้ป้องกันตัวเอง เพราะเราไม่รู้ว่าจะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงกันตอนไหน นอกจากนี้ควรย้ำกับคู่นอน หรือคุณแฟนเราอยู่เสมอว่าต้องใส่ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง 
  3. รักเดียวใจเดียว ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญกับเรื่องความรัก ในเรื่องเพศสัมพันธ์ก็เช่นเดียวกัน รักใครก็รักทีละคน จะมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยก็มีทีละคน ลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาจากคนอื่นด้วย
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว อาจทำให้สติ ความคิด ความยับยั้งชั่งใจที่ดีก็จะลดลงไปด้วย ทำให้เราอาจะไม่ได้นึกถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย หรือถูกวิธี ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมาและต้องมานั่งเสียใจทีหลังได้
  5. การคุมกำเนิด เมื่อคิดจะมีเซ็กส์แล้ว ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาด้วย นอกจากเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว เรื่องการคุมกำเนิดก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ทั้งยาคุมที่กินประจำทุกวัน และยาคุมฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์แบบไม่พร้อมนะคะ อยากจะเน้นย้ำว่า ยาคุมไม่มีผลต่อการป้องกันโรคติดต่อ ไม่สามารถป้องกันโรคได้ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยจึงควรใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทุกครั้ง

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

กามโรคคืออะไร?

โรคหนองในแท้ และหนองในเทียม ต่างกันยังไง

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ไม่ต้องอาย! ถ้า STOP ไม่ได้ ก็ “Safe Sex” เรียนรู้การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย https://www.sanook.com/women/130637/
  • Safe Sex แบบไหนปลอดภัยสุด! https://www.wongnai.com/beauty-tips/safe-sex

Filed Under: ถุงยางอนามัย, เอชไอวี HIV, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Tagged With: Safe Sex, เพศสัมพันธ์กันอย่างปลอดภัย, เอชไอวี, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคเอดส์

เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อ HIV

January 12, 2022 by 365team

ถึงแม้ว่าโรคเอดส์ และเชื้อเอชไอวี ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะมีมานานมากแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังมีความรู้ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวโรคเอดส์ และเชื้อเอชไอวี ทำให้ปัจจุบันต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับโรคเอดส์ และเชื้อเอชไอวี หรือการเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง

เอชไอวี คืออะไร

เชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus) คือ ไวรัสที่จะเข้าไปกัดกินทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง

โรคเอดส์ คืออะไร

เอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome – AIDS) คือ กลุ่มอาการของการติดเชื้อโรคแทรกซ้อนต่างๆ เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่งกายถูกเชื้อเอชไอวีทำลายจนไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายเหล่านี้ได้

สาเหตุการติดเชื้อเอชไอวี

สามารถติดเชื้อเอชไอวีโดย การสัมผัสกับเลือด น้ำอสุจิ ของเหลวจากช่องคลอด หรือแม้แต่น้ำนมแม่ สาเหตุ การแพร่เชื้อส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือส่งผ่านจากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์

เรื่องที่คนมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับเอชไอวีและเอดส์

โรคเอดส์ กับ เชื้อ HIV เป็นคนละตัวกัน

HIV คือ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง  ส่วนโรคเอดส์ คือ โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เชื้อเอชไอวีทำลาย

โรคเอดส์ ยังมีโอกาสรอดชีวิต

ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาโรคเอดส์ได้โดยตรง แต่ถ้าหากตรวจพบในระยะที่ยังเป็นการติดเชื้ออยู่ สามารถทานยาต้านไวรัส เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำร้ายภูมิคุ้มกันในร่างกาย จนเกิดอาการความผิดปกติออกมา ดังนั้นหากตรวจพบเชื้อได้เร็ว ก็จะยิ่งควบคุมเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ง่าย จนไม่เชื้อไม่พัฒนาเป็นโรคเอดส์ที่สมบูรณ์ โอกาสรอดก็มีสูงขึ้น และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป

คนเป็นเอดส์ ติดเชื้อ HIV ต้องเสียชีวิตด้วยอาการแผล ตุ่ม หนอง

อาการแผล ตุ่ม หนอง หรือ ผื่น ที่เกิดขึ้นในผู้ติดเชื้อ เป็นอาการทางผิวหนังของระยะการเป็นโรคของการติดเชื้อ หรืออาจเป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาที่รักษาการติดเชื้อ ก็ได้  ซึ่งไม่ว่าผื่นนั้นจะเกิดจากการใช้ยา หรือจากตัวเชื้อไวรัสเอง โดยส่วนใหญ่ผื่นนั้นจะมีสีแดงแบนบนผิวหนังและมีตุ่มนูนแดงอยู่ด้านบน

ผู้ป่วยโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อ HIV คือคนที่สำส่อนในเพศสัมพันธ์

การติดเชื้อไม่ได้เกิดจากเพศสัมพันธ์เท่านั้น หลายคนที่อาจติดเชื้อ HIV จากแม่ หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อก็เป็นได้

เชื้อ HIV ไม่ใช่ไข้หวัดที่จะติดต่อกันได้ง่าย

  • เชื้อ HIV จะไม่ติดต่อกันผ่านทาง กอด จูบ (ยกเว้นกรณีที่มีแผลในปาก แล้วจูบแลกน้ำลายกัน) 
  • ทานข้าวร่วมกัน จานเดียวกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน หรือแม้แต่ใช้ช้อน ส้อมคันเดียวกัน
  • มีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย 
  • ลมหายใจ 
  • ใช้สิ่งของอุปโภคร่วมกัน ใช้สบู่ ครีมอาบน้ำ แชมพู ยาสีฟัน ร่วมกัน
  • การใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายที่ยิม
  • การสัมผัสที่ฝารองนั่งในห้องน้ำ, ลูกบิดประตู หรือที่จับ

เชื้อเอชไอวีแพร่ผ่านการสัมผัส น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย หรือปัสสาวะได้

จริง ๆ แล้ว เชื้อเอชไอวีไม่สามารถแพร่ผ่านการสัมผัส น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย หรือปัสสาวะ

วิธีการรักษาแบบแปลก ๆ สามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีได้

  • การอาบน้ำหลังจากมีเพศสัมพันธ์ 
  • การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ยังบริสุทธิ์อยู่ สามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีได้

ยุงแพร่เชื้อเอชไอวีได้

ถึงแม้ว่าเชื้อเอชไอวีสามารถแพร่เชื้อผ่านทางเลือดของผู้ติดเชื้อไปสู่คนอื่นได้  แต่ไม่สามารถติดเชื้อเอชไอวีจากการถูกแมลงกัด หรือถูกแมลงดูดเลือดได้  เพราะ เมื่อถูกแมลงกัด แมลงเหล่านั้นไม่ได้ฉีดเลือดของคน หรือสัตว์ที่พวกมันกัดก่อนหน้านี้ ใส่คนที่มันกัดต่อหลังจากนั้น เนื่องจากเชื้อเอชไอวีมีชีวิตอยู่ได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ภายในตัวของแมลงเหล่านั้น

เราไม่อาจติดเชื้อเอชไอวีได้จากการทำออรัลเซ็กส์

การทำออรัลเซ็กส์ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการมีเพศสัมพันธ์บางรูปแบบ อัตราการแพร่เชื้อน้อยกว่า 4 ครั้ง จากการทำออรัลเซ็กส์ 10,000 ครั้ง แต่คุณอาจติดเชื้อเอชไอวีได้จากการทำออรัลเซ็กส์กับชายหรือหญิงที่มีเชื้อเอชไอวี จึงเป็นเหตุผลที่แพทย์แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยเสมอ แม้แต่การทำออรัลเซ็กส์

เราไม่อาจติดเอชไอวีได้ ถ้าเราสวมถุงยาง

ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันการสัมผัสเชื้อเอชไอวีได้ ในกรณีที่ถุงยางเกิดแตก, หลุด, หรือรั่ว ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์  ก็ทำให้สามารถติดเชื้อได้อยู่

ไม่มีอาการ หมายความว่า ไม่มีเชื้อเอชไอวี

ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีอาจใช้ชีวิตตามปกติโดยไม่มีอาการใด ๆ เลย เป็นเวลานาน 10-15 ปี พวกเขาอาจจะมีอาการเจ็บป่วยที่คล้ายกับหวัด รวมถึง การมีไข้, ปวดหัว, ผื่น, หรือเจ็บคอ ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการติดเชื้อ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจเลือด หลังจากมีความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อ เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และความปลอดภัยสำหรับตนเอง และผู้อื่น

ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถมีครอบครัวได้

การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใช้ถุงยางอนามัย จะทำให้มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้ แต่หากอยากมีครอบครัว ผู้สามารถจูงมือคู่รัก เพื่อปรึกษาแพทย์ หาทางออกในการมีครอบครัว มีบุตรโดยที่บุตรไม่ติดเชื้อ HIV ได้

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

  • ทำไมถึงควรตรวจเอชไอวีเป็นประจำ?
  • ความก้าวหน้าของการรักษาเอชไอวีในปัจจุบัน

Filed Under: เอชไอวี HIV Tagged With: เอชไอวี, เอดส์, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคเอดส์

ความก้าวหน้าของการรักษาเอชไอวีในปัจจุบัน

April 9, 2020 by thaihiv365 team

โรคเอชไอวีและเอดส์ ถือเป็นโรคร้ายที่อยู่กับคนเรามาร่วมหนึ่งร้อยปีแล้ว นับตั้งแต่การค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2463 ที่สมัยนั้น มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เพราะโรคนี้ไม่มีอาการใด ๆ  แสดงออกมา ประกอบกับช่วงเวลานั้นที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ ยังไม่พัฒนามากนัก ทำให้โรคนี้ส่งต่อไปทั่วโลกโดยใช้เวลาไม่นาน

ข้อมูลโรคเอดส์สมัยก่อน

โรคเอชไอวีในสมัยก่อน สามารถรักษาได้ตามอาการเท่านั้น และยังไม่มียารักษาที่ได้ผล ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกจำนวนมาก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2527 ก็ได้มีการคิดค้นชุดตรวจขึ้น สำหรับโรคเอชไอวี ทำให้สามารถยืนยันตัวผู้ป่วยได้ และในปี พ.ศ. 2530 ก็ได้มีการพัฒนายาต้านไวรัสเอชไอวีรุ่นแรกขึ้นมาชื่อว่า AZT (Azidothymidine) ที่มีประสิทธิภาพยับยั้งเชื้อเอชไอวี ไม่ให้แบ่งตัวได้เพื่อรอให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายพัฒนากลับขึ้นมา แต่เนื่องจากเป็นยารุ่นแรก ทำให้มีผลข้างเคียงที่รุนแรงในหลาย ๆ รายที่ทานยา และภายในปี พ.ศ. 2533 ทั่วทั้งโลกมียอดผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่พัฒนาไปเป็นเอดส์แล้วถึง 400,000 ราย

ผ่านมากว่า 30 ปี ก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี การรักษาเอชไอวีให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีวิธีการตรวจเอชไอวีที่แม่นยำขึ้น และรวดเร็วขึ้นมาก รวมถึงมีต้นทุนที่ถูกลงอีกด้วย ทำให้การตรวจเอชไอวี สามารถทำได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งที่มีเครื่องมือพร้อม ส่วนการรักษาเอชไอวีในปัจจุบัน ก็ยังเป็นการทานยาต้านไวรัสเอชไอวีเหมือนเดิม แต่ยาจะไม่ใช่ชุดที่ทานครั้งละหลาย ๆ เม็ดเหมือนสมัยก่อน แต่จะเป็นยารวมเม็ดที่อาจต้องทานแค่วันละ 1-2 เม็ดเท่านั้น ตามแต่แพทย์จะแนะนำ และอาจมีการนัดให้มาตรวจเลือด เพื่อดูปริมาณไวรัสในเลือดและปริมาณเม็ดเลือดขาวเป็นครั้งคราว เพื่อดูว่าคนไข้ตอบสนองต่อยาได้ดีแค่ไหน ถ้ารักษาด้วยการทานยาไปเรื่อย ๆ ก็จะสามารถลดปริมาณไวรัสในเลือดลงได้มากถึงขั้นที่ตรวจไม่พบเชื้อเลย ซึ่งถ้าถึงระดับนี้แล้วจะทำให้บุคคลนั้น ๆ ไม่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีสู่ผู้อื่นได้อีกและเทียบได้กับผู้ไม่มีเชื้อ ตราบใดที่ยังทานยาอย่างสม่ำเสมออยู่

ตรวจเอชไอวี เอดส์ ยารักษาเอดส์ ยาต้านไวรัส ตรวจเอดส์ รักษาเอชไอวี ยาเพร็พ ยาเป๊ป ยาต้านฉุกเฉิน ผลเลือดบวก ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี วิธีตรวจเอชไอวี

โดยหลักการนี้ เป็นผลสรุปมาจากงานวิจัยที่ศึกษาคู่รักจำนวนหนึ่ง ที่หนึ่งคนมีเชื้อเอชไอวี แต่อีกคนไม่มีเชื้อมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี และผลสรุปที่ได้ คือ ไม่มีคู่รักคนไหนเลยแม้แต่คนเดียวที่ติดเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าจะเป็นคู่รักเพศเดียวกัน หรือต่างเพศก็ตาม ซึ่งหลักการนี้มีชื่อเรียกว่า

U=U (undetectable=Untransmittable)

หรือที่เรียกว่า ไม่พบ=ไม่แพร่ ซึ่งหลักการนี้ ถือเป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญว่า เทคโนโลยีการรักษาโรคเอชไอวีพัฒนาไปไกลพอสมควรแล้ว นอกจากนี้ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ว่า ยังสามารถนำมาใช้ในบริบทอื่นได้อีกด้วย เช่น

  • ยาเพร็พ PrEP: ที่มีชื่อย่อมาจาก (Pre-Exposure Prophylaxis) หรือยาต้านเอชไอวีก่อนมีความเสี่ยง โดยยาสูตรนี้ ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อคนที่ยังไม่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ นำมาทานก่อนวางแผนจะไปมีเพศสัมพันธ์ที่อาจเสี่ยงรับเชื้อเอชไอวีในอนาคต โดยการทานยานี้จะเป็นการทานแบบดักไว้ก่อนไปมีความเสี่ยง เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีนั่นเอง
  • ยาเป๊ป PEP: ที่มีชื่อย่อมาจาก (Post-Exposure Prophylaxis) โดยยาสูตรนี้จะเป็นยาสำหรับคนที่ยังไม่มีเชื้อเอชไอวีเช่นกัน แต่ใช้ในกรณีที่ไปมีความเสี่ยงรับเชื้อมาแล้ว เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับคนที่สงสัยว่าจะมีเชื้อเอชไอวี หรือในบุคลากรการแพทย์ที่ต้องทำงานกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย แล้วเกิดอุบัติเหตุเข็มทิ่มตำ หรือสารคัดหลั่งกระเด็นเข้าตา โดยยาสูตรนี้จำเป็นต้องทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีความเสี่ยงรับเชื้อมาเท่านั้น ถ้าหากทานยาได้ทันก็ต้องทานไปอย่างน้อย 28 วันหรือนานกว่านั้น และค่อยกลับมาตรวจเลือดซ้ำเพื่อสรุปผลการรักษา

ทั้งนี้ยาทั้งสองสูตรที่กล่าวมา มีข้อจำกัดคือ ต้องมีการตรวจเอชไอวีและตรวจเลือดเพื่อตรวจผลต่าง ๆ ก่อนการจ่ายยาทุกครั้ง เพราะยาเหล่านี้ เป็นยาควบคุมในโรงพยาบาลที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง ฉะนั้นหากคิดว่าตนเองมีความเสี่ยง และอยากรับยาเพร็พ ยาเป๊ปก็ควรสอบถามแพทย์ผู้จ่ายยาให้ครบถ้วนก่อนเริ่มทานยา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

  • ยาเพร็พ (PrEP) คืออะไร
  • ยาเป๊ป (PEP) ยาฉุกเฉินหลังเสี่ยง

ตรวจเอชไอวี เอดส์ ยารักษาเอดส์ ยาต้านไวรัส ตรวจเอดส์ รักษาเอชไอวี ยาเพร็พ ยาเป๊ป ยาต้านฉุกเฉิน ผลเลือดบวก ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี วิธีตรวจเอชไอวี

การรักษาเอชไอวี

ถึงแม้ในปัจจุบันยาต้านไวรัสเอชไอวี จะไม่ใช่วิธีการรักษาเอชไอวีให้หายขาดก็ตาม แต่หากทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะทำให้ผู้มีเชื้อเอชไอวีสามารถมีชีวิตยืนยาวได้ไม่ต่างกับคนอื่น ๆ และมีร่างกายแข็งแรงได้เหมือนกันทุกประการ แต่สิ่งสำคัญคือ การมีระเบียบในการทานยา และห้ามหยุดยาเท่านั้น ซึ่งเทคโนโลยีการรักษาทั้งหมดนี้ ใช้เวลาพัฒนาเพียงไม่นานเท่านั้นที่จะได้มา เพราะฉะนั้นถึงตอนนี้อาจจะต้องทานยาอยู่ แต่ในอนาคตอันใกล้ก็ไม่แน่ว่าอาจจะมีเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ทำให้ทุกคนหายขาดจากเอชไอวีไปเลยก็ได้

Filed Under: เอชไอวี HIV Tagged With: ยาต้านไวรัส, เอชไอวี, โรคเอดส์

Primary Sidebar

Recent Posts

  • แยกให้เป็น HIV กับ AIDS ไม่เหมือนกัน
  • เจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ อาการบ่งบอกถึงโรค “หนองใน”
  • โรคฝีมะม่วง..ภัยร้ายใกล้ตัว
  • หนองในเทียม (Chlamydia)
  • CD4 ที่เท่าไหร่ถึงเรียกว่าระดับน่าเป็นห่วง

Archives

  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • November 2021
  • September 2021
  • April 2021
  • November 2020
  • September 2020
  • May 2020
  • April 2020

Categories

  • PEP
  • PrEP
  • Uncategorized
  • ตรวจเอชไอวี
  • ถุงยางอนามัย
  • ยาต้านไวรัส
  • หนองใน
  • หนองในเทียม
  • เอชไอวี HIV
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โรคฝีดาษลิง
  • โรคฝีมะม่วง

Copyright © 2023 · Genesis Sample on Genesis Framework · WordPress · Log in