• Skip to primary navigation
  • Skip to main content
  • Skip to primary sidebar

ThaiHiv365

Never leave someone behind.

  • หน้าแรก
  • จองคิวตรวจเอชไอวี
  • เอชไอวีและเอดส์
    • การรักษาเอชไอวี
    • การป้องกันเอชไอวี
    • การตรวจเอชไอวี
    • เอดส์ คืออะไร
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • โรคหนองในเทียม
    • โรคหนองใน ภัยร้ายใกล้ตัว รู้ก่อนรักษาได้
    • โรคหูดข้าวสุก
    • โรคหูดหงอนไก่
    • โรคเริม
    • แผลริมอ่อน
    • โรคซิฟิลิส
  • เพร็พ PrEP/ เป็ป PEP
    • เพร็พ PrEP
    • เป๊ป PEP
  • บทความ
  • ถาม-ตอบ
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา

โรคหูดหงอนไก่

โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata)

September 23, 2022 by thaihiv365 team

โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata)

หูดชนิดนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก คือ ติดต่อได้จากผิวหนังสู่ผิวหนัง สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยมักพบในผู้ป่วยวัยหนุ่มสาว และวัยผู้ใหญ่  จะขึ้นที่บริเวณอวัยะเพศ สามารถพบได้ทั้งในชายและหญิง แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata) คืออะไร

โรคหูดหงอนไก่ (Genital warts, Condyloma acuminata)  เกิดจากการเชื้อไวรัส ฮิวแมน แปปิโลมา (Human Papilloma Virus – HPV) โดยมีลักษณะเป็นตุ่มๆ หรือติ่งเนื้อสีชมพู หรือขาว ผิวขรุขระเป็นหยักคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ บริเวณที่พบส่วนมากจะเป็นบริเวณปากช่องคลอด รองลงมาคือที่แคมคลิตอริส รอบทวารหนัก ผนังช่องคลอด และปากมดลูก โดยจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่จะพบได้ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ทั้งหญิง และชาย แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้หญิงมากกว่า ในบางครั้งอาจเรียกโรคนี้ว่า หงอนไก่, หูดอวัยวะเพศ หรือ หูดกามโรค

ระยะฟักตัวของโรค

ตั้งแต่รับเชื้อมาจนเกิดอาการจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน – 2 ปี หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 เดือน

สาเหตุของโรคหูดหงอนไก่

โรคหูดหงอนไก่ เป็นหูดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ฮิวแมน แปปิโลมา (Human Papilloma Virus – HPV) ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีเชื้อชนิดนี้กว่า 200 สายพันธุ์ย่อย บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดที่ผิวหนัง บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ บางสายพันธุ์ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และทางเดินอุจจาระ 

สำหรับเชื้อที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่นั้น พบว่าประมาณ 90% เกิดจากสายพันธุ์ย่อย 6 และ 11 ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดโรคมะเร็งค่อนข้างต่ำ (ส่วนเชื้อชนิดที่เพิ่มโอกาสเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และทางเดินอุจจาระ คือ HPV สายพันธุ์ย่อย 16 และ 18 ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้คือ สายพันธุ์ 33, 35, 39, 40, 43, 45, 51-56, 58)

ส่วนใหญ่โรคนี้มักติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก มักพบได้ในกลุ่มวัยรุ่น และที่พบได้ในจำนวนน้อยมาก ๆ คือการติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกในระหว่างการคลอด ในกรณีที่เด็กคลอดผ่านช่องคลอดของแม่ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่

ผู้ที่สัมผัสเชื้อนี้อาจจะไม่ติดโรคทุกราย เพราะขึ้นอยู่กับภาวะภูมิคุ้มกันและจำนวนเชื้อที่ได้รับ โดยเมื่อผิวหนังได้รับเชื้อหรือติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ผ่านทางรอยถลอกที่ผิวหนัง ก็จะมีระยะฟักตัวของโรคที่ยังไม่แสดงอาการได้หลายเดือนหรือหลายปี เมื่อผ่านระยะฟักตัวไปแล้ว เชื้อไวรัสก็จะเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดการสร้างเซลล์ที่ผิดปกติในชั้นผิวหนัง โดยปกติแล้วร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้ออกได้เอง แต่มีส่วนน้อยที่เชื้อไวรัสจะไม่ถูกกำจัด และหากเป็นไวรัสสายพันธุ์รุนแรงก็จะมีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งในตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อได้

สาเหตุของการเกิดซ้ำ

โรคหูดหงอนไก่ สามารถเกิดซ้ำได้ถึงร้อยละ 30-70 ในระยะเวลา 6 เดือนหลังสิ้นสุดการรักษา สาเหตุเป็นได้ตั้งแต่ยาไม่มีประสิทธิภาพ การติดเชื้อซ้ำจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการเกิดรอยโรคจากเชื้อในร่างกายตนเอง 

อาการของโรคหูดหงอนไก่

  • คนส่วนใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันดี หลังจากได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วมักจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา เชื้อเหล่านี้ก็จะถูกกำจัดออกไปได้เองภายใน 2 ปี (ยกเว้นในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ) แต่ก็ยังมีผู้ติดเชื้อบางส่วนที่อาจแสดงอาการออกมาให้เห็นหลังรับเชื้อเข้าไปแล้วหลายเดือนหรือหลายปี
  • มีอาการคัน หรือไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นมากก้อนเนื้อหูดก็จะใหญ่ขึ้นและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในผู้ชายอาจมีปัญหาเรื่องปัสสาวะไม่ออก ส่วนในผู้หญิงอาจตามมาด้วยอาการมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ 
  • นอกจากนี้ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีอาการตกขาว หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น เป็นผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด หูดหงอนไก่จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมากกว่าปกติ (ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการของโรคมากกว่าคนทั่วไป ส่วนในผู้ป่วยเอดส์จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ซึ่งมักจะขึ้นหลายแห่งและเป็นแบบเรื้อรัง)
ควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

การวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการดูลักษณะของรอยโรคเฉพาะที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า หรืออาจตรวจยืนยันได้จากการตรวจทางพยาธิวิทยาจากชิ้นเนื้อตรงรอยโรค เนื่องจากรอยโรคที่มีหลากหลายของหูดหงอนไก่อาจทำให้เกิดความสับสนกับโรคอื่น ๆ ได้ เช่น หูดข้าวสุก ไฝ โรคผิวหนังบางชนิด ผื่นของโรคซิฟิลิสระยะที่ 2 ไปจนถึงลักษณะที่ผิดปกติของอวัยวะเพศของบางคนที่มีติ่งยื่นออกมาคล้ายหูดหงอนไก่

โดยดูลักษณะหูดที่เกิดขึ้น ดังนี้คือ

  • ถ้าเป็นติ่งเนื้อสีชมพูงอกบานออกทางด้านนอกคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ สำหรับผู้ชายมักเป็นที่ด้านในของหนังหุ้มปลายองคชาติ ผู้ชายรักเพศเดียวกันพบรอบทวารหนัก ผู้หญิงพบที่ปากช่องคลอด
  • หูดชนิดแบนราบพบที่ปากมดลูก ลักษณะแบนราบ ส่วนใหญ่เกิดจาก HPV 16 เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก
  • หูดชนิดกลุ่มลักษณะเป็นตุ่มขนาด 3–4 มิลลิเมตร สีน้ำตาลแดง ม่วง หรือดำ ผิวเรียบ หรือขรุขระเล็กน้อย
  • หูดก้อนใหญ่ลักษณะเป็นหูดขนาดใหญ่ที่โตเร็วมาก จนกลายเป็นก้อนใหญ่ปกคลุมอวัยวะเพศทั้งหมด
  • ในกรณีที่แพทย์ยืนยันว่าเป็นหูดหงอนไก่จริง ผู้ป่วยควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วยเสมอ เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ หนองใน พยาธิในช่องคลอด ฯลฯ เพราะมักพบเกิดร่วมกันได้ (การติดเชื้อเหล่านี้ร่วมด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะแสบ มีตกขาว คัน หรือมีแผลที่อวัยวะเพศเพิ่มขึ้น) 
  • นอกจากนี้แพทย์ยังอาจมีการตรวจเพิ่มเติมหรือตรวจสืบค้นด้วยวิธีอื่น ๆ ตามแต่กรณีหากสงสัยว่ามีหูดหงอนไก่ในบริเวณที่พบได้บ่อย เช่น การใช้กล้องส่องตรวจดูช่องคอหรือที่ทวารหนัก เป็นต้น ส่วนในกรณีที่ยังไม่มีรอยโรคหรือยังไม่เห็นเป็นก้อนหูด แพทย์จะยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้

การรักษาโรคหูดหงอนไก่

  1. ทาด้วยยาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) ชนิด 25% แต่ต้องระวังไม่ให้ถูกเนื้อดี โดยให้ใช้วาสลีนทาปิดเนื้อดีโดยรอบเอาไว้ก่อน หลังจากทายาประมาณ 4-6 ชั่วโมงแล้วให้ล้างออก และต้องทาซ้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งจนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งมักจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค
  2. ทาด้วยกรดไตรคลอโรอะซิติก หรือ ทีซีเอ (Trichloroacetic Acid – TCA) ชนิด 50-70% โดยไม่ต้องล้างออก และระวังอย่าให้ถูกผิวหนังที่ดี หลังจากทายาประมาณ 1 ชั่วโมงไม่ควรให้บริเวณที่ทายาโดนน้ำ และต้องรักษาซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหมดไป ตัวยานี้จะมีฤทธิ์ทำให้โปรตีนในเซลล์เสื่อมสภาพเป็นเซลล์ตาย ทำให้หูดที่มีก้านหลุดออกไปภายใน 2-3 วัน 
  3. ทาด้วยครีมอิมิควิโมด (Imiquimod cream) ชนิด 5% เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้กำจัดเชื้อเอชพีวี (HPV) ออกไป โดยให้ทายานี้วันเว้นวันในช่วงก่อนเข้านอน ติดต่อกันเป็นเวลา 16 สัปดาห์ เป็นวิธีรักษาในหูดหงอนไก่ชนิดราบที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณเยื่อเมือก ยาทานี้มีราคาแพง แต่ผู้ป่วยสามารถนำกลับมาทาเองที่บ้านได้ 
  4. ทาด้วยยาโพโดฟิลอกซ์ (Podofilox) ชนิด 0.5% มีทั้งรูปแบบเจลและครีม ผู้ป่วยสามารถนำมาใช้ทาเองได้ที่บ้าน โดยวิธีการใช้ให้ทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน แล้วเว้น 4 วัน แต่ไม่เกิน 4 รอบ 
  5. รักษาด้วยการจี้ไฟฟ้า (Electrocauterization) หรือจี้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (Laser ablation) เพื่อตัดรอยโรคออก ใช้วิธีลดความเจ็บปวดในการรักษาด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ แพทย์มักใช้รักษาหูดขนาดใหญ่ที่รักษาด้วยวิธีอื่นมาแล้วแต่ไม่ได้ผล
  6. รักษาด้วยการจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นการใช้ไม้พันสำลีชุบด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) แล้วนำมาป้ายหรือพ่นเป็นสเปรย์ลงที่รอยโรค เพื่อให้ความเย็นสัมผัสรอยโรคเป็นเวลานานประมาณ 10-15 วินาที และต้องระวังอย่าให้ถูกผิวหนังที่ดี ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบ้างในขณะทำการรักษา แต่เป็นระดับที่สามารถทนได้โดยไม่ต้องใช้ยาชา และภายหลังการรักษาอาจทำให้มีรอยดำได้ การรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องทำซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค
  7. รักษาด้วยวิธีการตัดหูดหงอนไก่ออกด้วยมีดผ่าตัด (Surgical excision) โดยจะอาศัยการฉีดยาชาเฉพาะที่ วิธีการรักษานี้เป็นวิธีที่ช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของหูดหงอนไก่ได้มากที่สุด มักใช้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หรือในรายที่เป็นหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์
  8. รักษาด้วยการขูดเอาเนื้องอกออก (Curettage)
วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV

การป้องกันโรคหูดหงอนไก่

1.มีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคู่นอนของตน และไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพราะจะยิ่งมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้น
2.หากต้องมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) แม้การใช้ถุงยางอนามัยอาจไม่สามารถป้องกันหูดหงอนไก่ได้ 100% แต่ก็เป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี 
3.เมื่อพบรอยโรคต้องสงสัยหรือความผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นหูดหงอนไก่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาให้หายก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคไปสู่บริเวณเนื้อเยื่อเมือกอื่น ๆ หรือการติดต่อสู่ผู้อื่น
4.ในปัจจุบันได้มีการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV 4 สายพันธุ์สำคัญออกมาในเข็มเดียวกัน คือ 

  • HPV 6, 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ 
  • HPV 16,18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด และมะเร็งทวารหนัก  

ซึ่งวัคซีนนี้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 6, 11, 16, 18 หากฉีดก่อนการติดเชื้อ ดังนั้นควรแนะนำให้มีการฉีดทั้งในเด็กหญิงและเด็กชายที่มีอายุระหว่าง 11-12 ปี สำหรับการป้องกันหูดหงอนไก่ หลังจากฉีดวัคซีนแล้วก็ยังแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยต่อไปและมีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคู่นอนของตน

การดูแลรักษาตัวเองระหว่างเป็นโรคหูดหงอนไก่

  1. ติดตามการรักษาโดยการมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  2. หมั่นตรวจอวัยวะเพศของตัวเองเพื่อหารอยโรคอยู่เสมอ
  3. งดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา แต่หากมีความจำเป็นก็ควรใช้ถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
  4. ควรล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เป็นประจำ และหากสัมผัสรอยโรคให้ล้างบริเวณที่สัมผัสและล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์
  5. รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ครบถ้วน เช่น การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด, ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ, รับประทานอาหารที่สุกสะอาด
  6. ในรายที่มีหูดหงอนไก่ขึ้นหลายแห่ง หรือเป็น ๆ หาย ๆ อยู่บ่อย ๆ ควรไปตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือไม่
  7. ในผู้หญิงที่เป็นหูดหงอนไก่บริเวณปากมดลูก อาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคเอดส์หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น สูบบุหรี่หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ฯลฯ ดังนั้น จึงควรหาทางหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ และควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกในระยะแรกเริ่มอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  8. ในระหว่างการรักษาหูดหงอนไก่ หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ผิวหนังบริเวณที่ทำการรักษามีอาการเจ็บ แดง ระคายเคืองเป็นบริเวณกว้าง หรือผู้ป่วยมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ
  9. งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ใช้สารเสพติด
  10. งดสำส่อนทางเพศ
  11. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส เป็นต้น
  12. ระหว่างรักษาหูดหงอนไก่ หากมีอาการผิดปกติ หรือกังวลใจในอาการที่เป็นอยู่ ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด

บทความอื่นๆเพิ่มเติม

โรคเริม (Herpes) – โรคติดต่อที่พบบ่อย

กามโรคคืออะไร?

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • โรคหูดหงอนไก่ https://www.mplusthailand.com/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ/หูดหงอนไก่/
  • หูดหงอนไก่ (CONDYLOMA ACUMINATUM) https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/บทความ-สุขภาพผู้หญิง/หูดหงอนไก่-(Condyloma-acuminatum)
  • หูดหงอนไก่ คืออะไร? https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/933
  • หูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata) https://sites.google.com/site/napassnt/home/12
  • หูดหงอนไก่ https://www.pobpad.com/หูดหงอนไก่
  • หูดหงอนไก่ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหูดหงอนไก่ 10 วิธี !! https://medthai.com//หูดหงอนไก่/

Filed Under: โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Tagged With: Condyloma Acuminata, Genital warts, สาเหตุของโรคหูดหงอนไก่, โรคหูดหงอนไก่, ไวรัส ฮิวแมน แปปิโลมา

Primary Sidebar

Recent Posts

  • แผลริมอ่อน | Chancroid
  • ไวรัสตับอักเสบบี สาเหตุของการเกิดมะเร็งตับ
  • อวัยวะเพศชาย ดูแลให้เป็น ช่วยห่างไกลโรค
  • แยกให้เป็น HIV กับ AIDS ไม่เหมือนกัน
  • เจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ อาการบ่งบอกถึงโรค “หนองใน”

Archives

  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • November 2021
  • September 2021
  • April 2021
  • November 2020
  • September 2020
  • May 2020
  • April 2020

Categories

  • PEP
  • PrEP
  • Uncategorized
  • ตรวจเอชไอวี
  • ถุงยางอนามัย
  • ยาต้านไวรัส
  • หนองใน
  • หนองในเทียม
  • เอชไอวี HIV
  • แผลริมอ่อน
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โรคฝีดาษลิง
  • โรคฝีมะม่วง
  • ไวรัสตับอักเสบบี

Copyright © 2023 · Genesis Sample on Genesis Framework · WordPress · Log in