แผลริมอ่อน (Chancroid) หรือ ซิฟิลิสเทียม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Ducreyi เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง ทำให้เกิดแผลที่อวัยวะเพศ และต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตติดกันเป็นพืดและเจ็บ ระยะฟักตัวของโรค หลังจากที่ได้รับเชื้อ อยู่ในช่วง 5-7 วัน จึงเริ่มพัฒนาอาการให้เห็นชัดตามมา โรคนี้ติดต่อได้ง่าย แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่ง
แผลริมอ่อนสาเหตุเกิดจากอะไร ?
แผลริมอ่อนสาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ฮีโมฟิลุส ดูเครย์ (Haemophilus ducreyi) โดยเชื้อชนิดนี้จำนวนมากจะอยู่ที่หนอง และจะเข้าสู่ร่างกายผ่านรอยถลอกทางผิวหนัง จากนั้นเชื้อจะสร้างสารพิษ (HdCDT) ขึ้นมาทำให้เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ และมีหนองไหล ทำให้หากสัมผัสโดนของเหลวจากแผลโดยตรง ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางผิวหนังที่เกิดบาดแผลหรือมือที่มีเชื้อไปสัมผัสโดนดวงตา รวมถึงการสัมผัสถูกเชื้อในขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทั้งการร่วมเพศทางปาก ทางทวารหนัก หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบปกติ
แผลริมอ่อน อารการเป็นอย่างไร ?
อาการแผลริมอ่อนในผู้ชาย
- อาจมีตุ่มนูนสีแดงเล็กๆ ขึ้นบนอวัยวะเพศหนังหุ้มปลายองคชาต และถุงอัณฑะ ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นแผลเปื่อยภายใน 1-2 วัน และแผลอาจก่อตัวขึ้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของอวัยวะเพศก็ได้
- เมื่อเกิดแผล ผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อน และเจ็บปวดที่บริเวณแผลมาก
อาการแผลริมอ่อนในผู้หญิง
- อาจมีตุ่มสีแดง บวมแดง บนแคมนอก หรือระหว่างแคมนอก รูทวาร หรือบนต้นขา
- อาจรู้สึกอาการคัน แสบร้อน หรือเจ็บในระหว่างที่ขับปัสสาวะหรืออุจจาระ
- อาจมีตกขาวมากและกลิ่นรุนแรง
การวินิจฉัยแผลริมอ่อน
- การป้ายหนองมาย้อมสีแกรม (Gram stain) เพื่อตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ ซึ่งจะเป็นการวินิจฉัยแบบคร่าว ๆ ถ้าเป็นเชื้อ Haemophilus ducreyi จะย้อมติดเป็นสีแดง ลักษณะเป็นแท่งสั้น ๆ (Coc cobacilli) และอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ คล้ายฝูงปลาว่ายตามกันไปที่เรียกว่า School of Fish
- การส่งหนองหรือน้ำเหลืองจากแผลไปเพาะเชื้อ เป็นวิธีที่มีความแม่นยำต่ำ การเพาะเลี้ยงเชื้อทำได้ยาก เพราะเชื้อนี้เจริญในสภาพที่ไร้ออกซิเจน
- การตรวจ Polymerase chain reaction (PCR) ที่มีความไว 96-100% เป็นการวินิจฉัยได้อย่างแน่ชัด แต่ก็มีราคาแพงและต้องใช้เวลา
- การตรวจด้วย Immunochromatography แต่ก็มีความไวต่ำ
การป้องกันแผลริมอ่อน
- หากเป็นแผลที่อวัยวะเพศควรงดการมีเพศสัมพันธ์
- ควรสวมถุงยางป้องกันทุกครั้งก่อนการมีเพศสัมพันธ์
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรค
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลที่อวัยวะเพศ
- ควรรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศ
- หมั่นออกกำลังกายและรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
การรักษาแผลริมอ่อน
แผลริมอ่อน สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง และไม่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงซ้ำ ช่วยให้ผู้ป่วยหายได้ไวขึ้น และลดรอยแผลเป็น แต่ในบางรายที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมจนมีขนาดใหญ่อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด (หากรักษาไม่ครบจะทำให้เชื้อดื้อยา)
ภาวะแทรกซ้อนแผลริมอ่อน
- แผลทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้ง่ายขึ้น
- อาจมีผลพวงจากการเป็นแผลที่มีการติดเชื้อชนิดอื่น ๆ ซ้ำได้
- อาจทำให้เป็นแผลดึงรั้งจนเกิดภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบตัน
- ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบแตกเป็นหนองไหลออกมา หากไม่รักษาภายใน 5-8 วันหลังจากเกิดแผล เมื่อแผลหายแล้วอาจทำให้เป็นแผลเป็นได้
- แผลอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้
- ในบางรายที่เป็นรุนแรง อาจทำให้อวัยวะเพศแหว่งหายได้
อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่
แผลริมอ่อน (Chancroid) สามารถติดต่อได้ง่าย แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน และไม่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงซ้ำ