“หนองในเทียม” เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันกับผู้ที่ติดเชื้อ เชื้อสามารถแพร่ติดต่อได้หลายทาง เช่น ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก ทางปาก หรือแม้กระทั่งทางตา สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง
หนองใน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- หนองในแท้
- หนองในเทียม
อาการของหนองในเทียม
อาการ หนองในเทียม ผู้ชาย
- มีมูกใสหรือขุ่นไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ
- มีอาการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
- รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- รู้สึกปวดหรือมีการบวมที่ลูกอัณฑะ
- มีหนองที่บริเวณทวารหนัก มีเลือดไหล
อาการ หนองในเทียม ผู้หญิง
- มีตกขาวลักษณะผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น
- รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- รู้สึกคันหรือแสบร้อนบริเวณรอบอวัยวะเพศ
- รู้สึกเจ็บท้องน้อยเวลามีประจำเดือนหรือขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีหนองที่บริเวณทวารหนัก มีเลือดไหล
การวินิจฉัยหนองในเทียม
- การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swap Test) คือการใช้ไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งที่บริเวณปากมดลูก ปลายท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือลำคอ เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ
- การทดสอบปัสสาวะ (Urine Test) คือการเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไปตรวจ ควรเป็นปัสสาวะที่ทิ้งระยะจากการปัสสาวะครั้งล่าสุด 1-2 ชั่วโมง
หนองในเทียมในหญิงตั้งครรภ์และทารก
หากติดเชื้อหนองในเทียม ระหว่างตั้งครรภ์ อาจเกิดการแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารก ส่งผลทำให้ทารกเกิดการติดเชื้อที่ตาและปอดได้ หากมารดาไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที จะส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ หรือแท้งได้ และอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ุทำให้มีบุตรยาก
การป้องกัน หนองในเทียม
- ใช้ถุงยางอนามัยครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ สามารถช่วยป้องกันหนองในเทียมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- มีคู่นอนเพียงคนเดียว การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นหนองในเทียม
- ควรหมั่นไปพบแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจร่างกาย ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การรักษาหนองในเทียม
การรักษาหนองในเทียม สามารถรักษาได้โดยการรับประทาน “ยาปฏิชีวนะ” เพื่อช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของแบคทีเรีย ตัวอย่างกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาหนองในเทียมในประเทศไทย ได้แก่
- กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillins)
- กลุ่มยาแมคโครไลด์ (Macrolides)
- กลุ่มยาเตตราไซคลิน (Tetracyclines)
หนองในเทียมรักษาแล้ว จะหายเมื่อไหร่ ?
หนองในเทียม อาจเป็นเรื้อรังและรักษาให้หายได้ยากกว่าหนองในแท้ เนื่องจากส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบเชื้อที่เป็นต้นเหตุ แต่สำหรับหนองในเทียมที่เกิดจากเชื้อคลามัยเดีย (ซึ่งเกิดได้เป็นส่วนใหญ่) จะรักษาให้หายขาดได้ ภายใน 14 วัน หากรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด