ข้อสงสัยนี้มักเกิดขึ้นกับใครหลาย ๆ คน ที่ยังคงไม่มั่นใจในชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง เนื่องด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่ยังคงเป็นไปในทางลบแม้ว่าจะเริ่มเปิดกว้างต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่หลายคนคุ้นเคยดีในชื่อ “เอดส์ (AIDS)” ซึ่งเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสเอชไอวี HIV : Human Immunodeficiency Virus และภาวะแทรกซ้อนมากมายที่เกิดขึ้นได้ในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี จากความเข้าใจเมื่อครั้งอดีตที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต จนกลายเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อมุมมองประเด็นต่าง ๆ จากสังคมในแง่ลบ การหาแนวทางเพื่อการตรวจ การวินิจฉัย ตลอดจนการเข้ารับการรักษาจึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
ปัจจุบันนับว่าแง่มุมต่อผู้ป่วยเอชไอวีเริ่มลดลงจากในอดีตมากพอสมควร ด้วยสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการรณรงค์ การให้ความรู้ความเข้าใจที่มากขึ้น อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมายในการลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การเปิดใจต่อการป้องกันความเสี่ยงมีมากยิ่งขึ้นตามลำดับด้วยเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างมากต่อการสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน คือการทำความเข้าใจสาเหตุของโรคไปจนถึงการรักษาที่ถูกต้องตามหลักการทางการแพทย์ แน่นอนว่าหากเข้าใจพื้นฐานต่าง ๆ เหล่านี้มากเท่าไหร่ จะทำให้มุมมองต่อการมองชุดตรวจเอชไอวีเปลี่ยนไปในทางที่ดีด้วย
จากที่กล่าวมาข้างต้นเชื่อว่าหลายคนคงพอทราบแล้วว่า “การตรวจเอชไอวี” มีความสำคัญต่อการป้องกันรวมไปถึงสิ่งสำคัญที่สุดคือการรู้ทันโรคอย่างทันท่วงที เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถรับมือกับสถานะเลือดได้เหมาะสม เป็นที่มาของการคิดค้นและพัฒนาแนวทางการตรวจที่เข้าถึงได้ง่าย โดยใช้การตรวจเบื้องต้นด้วยตนเองง่าย ๆ หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศว่า ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV Self-Test) ซึ่งในบทความนี้ได้รวบรวมข้อเท็จจริงจากหลากหลายแหล่งให้ได้ทำความเข้าเกี่ยวกับชุดตรวจเอชไอวีกันมากขึ้น
ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองเกิดขึ้นได้อย่างไร?
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับผลการทดสอบและประสิทธิภาพของ ชุดตรวจเอชไอวี เป็นครั้งแรกในโลก เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา พร้อมกับการกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี นับว่าเป็นการอัปเดตให้ผู้คนทั่วโลกได้ทำความเข้าใจในพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งมีผลต่อการเข้าถึงการตรวจเอชไอวีได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น โดยจากการวิจัยเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วพบว่าชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย การออกแบบให้ทิ้งได้อย่างปลอดภัยต่อคนรอบข้างตลอดจนผู้ตรวจ พร้อมกันนั้นชุดตรวจเอชไอวีที่มีคุณภาพ จะต้องได้รับการรับรองจากองค์กรด้านอนามัยและสาธารณสุขของประเทศนั้น ๆ ด้วย จุดประสงค์ในการค้นคว้าชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองคือการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองเอชไอวีเบื้องต้นได้ง่ายยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการลดอัตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีรวมไปถึงทราบผลได้อย่างทันท่วงที เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากเอชไอวีได้อย่างดี
ความน่าเชื่อถือของชุดตรวจเอชไอวีในปัจจุบัน
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเกี่ยวกับประเด็นที่ส่งผลให้ ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ภายในประเทศไทยยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากยังขาดความรู้ความเข้าใจทั้งในเรื่องของข้อเท็จจริงของเชื้อไวรัสเอชไอวี แนวทางการรักษาที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และความรู้ในการตรวจเบื้องต้น เป็นต้น ทั้งนี้ในด้านของทัศนคติต่อการติดเชื้อเอชไอวียังคงมีแง่ลบในสังคมอยู่พอสมควร ถึงแม้ว่าหลากหลายหน่วยงานได้รณรงค์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องก็ตาม หลายปัจจัยส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้มุมมองต่อการตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ยังคงมองว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันมาตรฐานของการผลิตและการใช้งานของชุดตรวจถือว่ามีความแม่นยำมากกว่า 99% เมื่อเทียบกับการตรวจภายในสถานพยาบาล ด้วยการออกแบบให้ขั้นตอนการตรวจมีความสะดวก ทำได้เองง่าย ๆ โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยแม้แต่นิดเดียว แนะนำให้ตรวจสอบสัญลักษณ์การรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อดังต่อไปนี้
- กระทรวงสาธารณสุข
- คณะกรรมการอาหารและยา
- มาตรฐานสากล WHO Pre-Qualified จากองค์กรอนามัยโลก
- ตัวแทนจำหน่ายได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง
- ช่องทางการจำหน่ายมีความเชื่อถือ
- ระบุแหล่งที่ผลิตและรายละเอียดต่าง ๆ ของตัวแทนจำหน่ายอย่างชัดเจน
ข้อสรุปของชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองทำได้จริงไหม?
การเลือกใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองนับว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ลดอัตราผู้ติดเชื้อได้ รวมไปถึงสามารถคัดกรองการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วในผู้ที่ไม่สะดวกเข้ารับการตรวจในสถานพยาบาล ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ก็ตาม ผู้ตรวจจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำที่แนบมาภายในชุดตรวจอย่างละเอียด และไม่ละเลยขั้นตอน ข้อแนะนำ หรือข้อห้าม ที่ได้ระบุไว้เด็ดขาด เพื่อให้ผลการตรวจเอชไอวีที่ได้รับมีความแม่นยำมากที่สุดนั่นเอง
สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นแน่นอนว่าเป็นระยะที่เหมาะสมต่อการใช้งานชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ซึ่งเป็นข้อควรปฏิบัติเช่นเดียวกับการตรวจในสถานพยาบาล ดังนั้นผู้ตรวจต้องตระหนักเสมอว่าการตรวจด้วยชุดตรวจเป็นเพียงการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น หากได้ผลลัพธ์ว่าตนไม่มีเชื้อเอชไอวีควรดูแลตัวเองและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากได้ผลลัพธ์ว่าตนมีเชื้อเอชไอวีควรทำความเข้าใจพื้นฐานของโรครวมทั้งหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่คู่นอนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ควรตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจาก 3 เดือนให้มั่นใจมากยิ่งขึ้น