หูดข้าวสุก ถือเป็นการติดเชื้อไวรัสบริเวณผิวหนัง และเกิดขึ้นได้บนผิวหนังทุกส่วนในร่างกาย ทำให้บางครั้งสามารถติดต่อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้ และเนื่องจากโรคนี้เกิดขึ้นได้ทุกส่วนบนร่างกาย ทำให้ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ โดยส่วนมากแล้ว หูดข้าวสุก จะพบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กอายุยังน้อย ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายยังไม่สมบูรณ์ รวมถึงเด็กจะมีการเล่นกีฬาที่ต้องสัมผัสตัวผู้อื่นหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นบ่อย ๆ ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่า
อาการของหูดข้าวสุก
หูดข้าวสุก จะมีลักษณะคล้ายอีสุกอีใส คือ จะเป็นตุ่มใส ๆ ที่ไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจมีอาการบวมหรือมีอาการคันได้ แต่ถึงไม่ได้รักษาเลย หูดข้าวสุกก็สามารถหายได้เองภายใน 2 เดือนถึงประมาณ 4 ปี
หูดข้าวสุก คืออีกโรคหนึ่งที่ติดต่อได้ง่ายเพียงแค่สัมผัสบริเวณที่มีอาการ หรือการไปแกะ เกาตรงที่มีอาการก็อาจทำให้ตุ่มเกิดแตกขึ้นมาแล้วไปติดตามเสื้อผ้า หรือไปติดข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ได้ เพราะฉะนั้นการรักษาความสะอาดถือเป็นสิ่งสำคัญ หากใครที่มีอาการ อาจนำผ้าหรือพลาสเตอร์แปะแผลมาติดไว้ก็ได้ เพื่อไม่ให้หูดข้าวสุกไปสัมผัสกับอย่างอื่นโดยไม่รู้ตัว
โดยรวมแล้วโรคนี้ ถือเป็นการติดเชื้อที่บริเวณผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น และจะไม่ส่งผลใด ๆ ร้ายแรงต่อสุขภาพ หากมีอาการ ก็สามารถปล่อยให้หายไปเอง หรือรักษาก็ได้ จึงไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่ก็จะมีอาการข้างเคียงได้ เช่น
- อาจมีอาการผื่นแดงขึ้น บริเวณเดียวกับที่มีอาการหูดข้าวสุก และอาจมีอาการคันตรงผื่น
- หูดข้าวสุกอาจขึ้นที่บริเวณเปลือกตา และอาจทำให้มีอาการเยื่อตาอักเสบได้
- หากมีการแกะหรือเกาบริเวณที่มีหูดข้าวสุก อาจทำให้เกิดการติดแบคทีเรียอื่น ๆ จนทำให้เกิดอาการอักเสบและเป็นแผลได้
การรักษาหูดข้าวสุก
การรักษาสามารถทำได้โดยการศัลยกรรม หรือใช้เลเซอร์ แต่เพราะโรคนี้สามารถหายได้ตามปกติจึงไม่มีความจำเป็นต้องทำการรักษา หากใครที่ไม่เคยเป็น ก็มีวิธีป้องกันง่าย ๆ คือ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวคนที่มีอาการอยู่ รวมถึงการล้างมือบ่อย ๆ ก็สามารถช่วยป้องกันการติดโรคนี้ได้ด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง