Table of Contents
หูดหงอนไก่คืออะไร?
หูดหงอนไก่ เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เอชพีวี (HPV) ที่สามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โรคนี้ติดต่อได้แม้กระทั่งบุคคลนั้นไม่มีอาการให้เห็นเด่นชัดก็ตาม และการรักษาค่อนข้างทำได้ยาก เพราะมีโอกาสกลับมาเป็นโรคซ้ำได้อีกสูง ทั้งผู้ชาย และผู้หญิงสามารถเป็นหูดหงอนไก่นี้ได้ทั้งหมด และมีอาการคล้ายคลึงกัน แต่บริเวณที่เกิดอาการอาจไม่เหมือนกัน
ปัจจุบันการป้องกันโรคหูดหงอนไก่ ทำได้โดยการฉีดวัคซีนเอชพีวี วัคซีนตัวนี้สามารถฉีดได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยในผู้ชายจะลดอัตราการเกิดโรคหูดหงอนไก่ โรคมะเร็งอัณฑะ และโรคมะเร็งทวารหนักได้ ส่วนในผู้หญิงจะสามารถลดการเกิดโรคหูดหงอนไก่ และอัตราการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ วัคซีนเอชพีวี สามารถฉีดได้ในช่วงอายุตั้งแต่ 9-26 ปี แต่หากฉีดหลังจาก 26 ปี จะทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง จึงแนะนำให้ฉีดในช่วงอายุที่เหมาะสมดีกว่า
เชื้อเอชพีวีจริง ๆ แล้วมีหลายตัวมาก แต่ส่วนมากจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะมีแค่บางตัวเท่านั้นที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่ และเพิ่มอัตราการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก หรือโรคมะเร็งอัณฑะ แต่วัคซีนดังกล่าวจะสามารถป้องกันเชื้อตัวหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการได้ เพราะฉะนั้นหากใครที่ยังอยู่ในช่วงอายุที่เหมาะสม จึงแนะนำให้เข้าฉีดวัคซีนให้มีภูมิคุ้มกันจะดีกว่า
อาการของหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่ จะมีลักษณะเป็นติ่งของผิวที่งอกออกมา คล้าย ๆ ดอกกะหล่ำ โดยจะสามารถขึ้นเป็นจุด ๆ เดียวหรือขึ้นเป็นกลุ่มก็ได้ ตำแหน่งที่พบหูดหงอนไก่ขึ้นจะเป็นบริเวณต่าง ๆ ได้แก่
- อวัยวะเพศ
- ทวารหนัก
- ปาก
- ลิ้น
- หัวนม
สิ่งที่น่ากลัว คือ โรคนี้สามารถติดได้เพียงแค่การสัมผัสบริเวณที่มีอาการเท่านั้น จึงทำให้ติดกันได้ง่าย และมีลักษณะที่ไม่พึงประสงค์มากนัก
การตรวจหูดหงอนไก่
การตรวจเอชพีวี สามารถทำได้ในผู้หญิงเท่านั้น เพราะต้องทำผ่านการตรวจภายใน จากนั้นเมื่อพบแนวโน้มการติดเชื้อ จึงทำการตรวจเพิ่มเติม แต่สำหรับผู้ชายจะไม่สามารถตรวจแบบเดียวกันได้ เว้นแต่จะมีอาการอยู่แล้ว จากนั้นค่อยเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ ส่วนการวินิจฉัยของแพทย์ส่วนมาก จะใช้วิธีการตรวจพินิจเฉย ๆ และอาจจะไม่มีการเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ เพราะไม่มีความจำเป็นมากนัก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคหูดข้าวสุก
- โรคซิฟิลิส
การรักษาหูดหงอนไก่
โรคนี้สามารถรักษาหายได้โดยการใช้ยารักษาหูดหงอนไก่ หรือใช้การจี้ออกด้วยความเย็น แต่หากไม่รักษาตัวหูดอาจลดขนาดลงไปเอง หรือโตขึ้นก็ได้ ยาที่ทาจะเป็นยาที่แรงพอสมควร ทำให้คนไข้บางรายอาจมีอาการแพ้ได้ เพราะฉะนั้นจึงควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ควรไปแตะต้อง หรือแกะเกาบริเวณที่มีอาการ เพราะจะทำให้เชื้อติดมาที่มือเราและสิ่งต่าง ๆ เวลาเราหยิบจับสิ่งของได้ และควรรักษาความสะอาดเพื่อให้อาการของหูดลดลงโดยเร็วที่สุด
ปกติการรักษาหูด จะต้องใช้เวลานาน เพราะกว่าจะพบจุดที่เชื้อหลบซ่อนอยู่ทั้งหมด ก็อาจใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือน หรือเป็นปี ๆ เพราะบางทีเราคิดว่ารักษาหมดแล้ว แต่อาจยังมีเชื้อซ่อนอยู่ใต้ผิวหนังที่ไม่มีอาการออกมาก็ได้ เพราะฉะนั้นหากแพทย์นัดติดตามอาการ ก็ควรให้ความร่วมมือไปตามนัดทุกครั้ง