โรคฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum : LGV) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis bacterium) แบคทีเรียนี้จะผ่านเข้าสู่ผิวหนังทำให้เกิดแผลที่อวัยวะเพศสืบพันธุ์หรือทวารหนัก ทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่ จะรู้สึกเจ็บปวดมากและเดินลำบาก โรคนี้ส่วนใหญ่มักพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พวกรักร่วมเพศระหว่างชายกับชาย การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย และการมีคู่นอนหลายคน
Table of Contents
การวินิจฉัยโรคฝีมะม่วง
การวินิจฉัยโรคฝีมะม่วง แพทย์จะตรวจร่างกาย รวมทั้งซักประวัติการรักษาและการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย การตรวจร่างกายจะช่วยวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ดังนี้
- ตรวจชื้นเนื้อ แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนัง เพื่อตัดและนำตัวอย่างชิ้นเนื้อของฝีมะม่วงสารคัดหลั่งจากแผล หรือเนื้อเยื่อของลำไส้ตรง ออกไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย
- ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วยไปตรวจ เพื่อวินิจฉัยชนิดของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝีมะม่วง
- ทำซีทีสแกน แพทย์จะทำซีทีสแกนผู้ป่วย เพื่อตรวจดูระดับของภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่เกิดขึ้น
- ส่องกล้องตรวจลำไส้ แพทย์จะส่องกล้อง เพื่อตรวจและวินิจฉัยความผิดปกติที่ส่งผลให้เกิดอาการป่วยที่ลำไส้
สาเหตุของโรคฝีมะม่วง
โรคฝีมะม่วง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลามีเดียทราโคมาติส ชนิด L1, L2, L3 (Chlamydia Tracho matis L1-L3) ติดต่อโดยการร่วมเพศหรือสัมผัสถูกหนองของฝีมะม่วงโดยตรง ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคฝีมะม่วง คือ การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย โดยไม่สวมถุงยางอนามัยในขณะร่วมเพศทั้งทางปาก ทวารหนัก และช่องคลอด รวมไปถึงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
ระยะฟักตัวของโรคฝีมะม่วง
โรคฝีมะม่วง มีระยะการฟักตัว ประมาณ 7-10 วัน หลังจากสัมผัสเชื้อ ส่วนการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองมักจะเกิดขึ้นประมาณ 10-30 วัน หลังจากสัมผัสเชื้อ
อาการของโรคฝีมะม่วง
อาการของโรคฝีมะม่วงแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1
- มีตุ่มนูนเล็ก ๆ ขึ้นมา หรือเป็นแผลตื้น ๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด
- มีแผลเปื่อยขึ้นมาและหายไปเองภายใน 2-3 วัน
- อาจเกิดอาการป่วยคล้ายโรคท่อปัสสาวะอักเสบ
- บริเวณต่อมน้ำเหลืองมีก้อนนุ่ม ๆ นูนขึ้นมา ทำให้เกิดอาการบวม
ระยะที่ 2
- เกิดฝีมะม่วงซึ่งเป็นก้อนนุ่มสีใสขนาดใหญ่ที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 2-6 สัปดาห์หลังจากต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างเริ่มมีอาการบวมและปวด
- อาจมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม และปวดตามข้อ
- เกิดผื่นแดงและมีไข้ รวมทั้งมีตุ่มแข็งขนาดใหญ่ขึ้นที่ผิวหนัง
- อาจประสบภาวะเยื่อตาอักเสบ ตับโต เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ ปอดบวม หรือข้ออักเสบ
ระยะที่ 3
- มักเกิดอาการอักเสบที่ลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- อาจรู้สึกคันทวารหนักและมีเลือดกับมูกปนหนองออกมา ทั้งนี้ อาจรู้สึกที่ก้น ปวดเบ่งที่ลำไส้ตรงเหมือนจะถ่ายหนักตลอดเวลา มีหนองไหลออกทางรูทวาร ท้องผูก และน้ำหนักลด
- การอักเสบเรื้อรังของโรคอาจทำให้เกิดฝี ท่อน้ำเหลืองอุดตัน ลำไส้ตรงผิดรูป และลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงติดเชื้อ
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อโรคฝีมะม่วง
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีสวมถุงยางอนามัย
- ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนอยู่เป็นประจำ
- ผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ (ชายรักชาย)
ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีมะม่วง
- เกิดฝีคัณฑสูตร (Fistula) ซึ่งทำให้ทวารหนักเกิดรูที่เชื่อมระหว่างลำไว้ตรงกับช่องคลอด
- องคชาตมีพังผืด หรือองคชาตมีลักษณะผิดรูป
- เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณอวัยวะเพศหรือเกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน จนนำไปสู่การมีบุตรยาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก
- ประสบภาวะสมองอักเสบ
- ประสบภาวะตับโต
- เกิดการอักเสบที่ข้อต่อ ดวงตา หัวใจ หรือตับ รวมทั้งป่วยเป็นปวดบวม
- อวัยวะสืบพันธุ์บวมและเกิดการอักเสบเรื้อรัง
- ลำไส้ตรงเกิดแผลและตีบเข้า ส่งผลให้ลำไส้อุดตัน
การป้องกันโรคฝีมะม่วง
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรค
- เลี่ยงการสัมผัสผิวหนัง แผล หรือสารคัดหลั่งที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
- สวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
การรักษาโรคฝีมะม่วง
การรักษาด้วยยา แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วง เพื่อใช้รักษาการติดเชื้อและป้องกันเชื้อแบคทีเรียทำลายเนื้อเยื่อส่วนอื่น โดยยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคฝีมะม่วง ประกอบด้วย
- ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ผู้ป่วยมักได้รับการรักษาด้วยยานี้เป็นอันดับแรก โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาดอกซีไซคลินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 100 มิลลิกรัม เป็นเวลา 21 วัน
- อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยานี้เป็นยารักษาโรคฝีมะม่วงอีกชนิดที่แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วย โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้ยาอะซิโธรมัยซินปริมาณ 2 กรัม เป็นเวลา 20 วัน
การผ่าตัด ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วงที่เกิดก้อนฝีหรือต่อมน้ำเหลืองบวมโต อาจต้องเจาะผิวเอาของเหลวในฝีออกมา เพื่อบรรเทาอาการของโรคให้ทุเลาลง ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายที่ลำไส้ตรงตีบหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด
ขอบคุณข้อมูล : Pobpad