ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virsu : HBV) เกิดจากการอักเสบของเซลล์ตับ และทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย หากติดเชื้อเป็นเวลานานกว่า 6 เดือน จะเรียกว่าภาวะตับอักเสบเรื้อรัง และการอักเสบเรื้อรังดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดพังผืดที่ตับ จากนั้นก็จะทำให้ตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับได้
Table of Contents
ไวรัสตับอักเสบบี มีกี่ระยะ ?
ไวรัสตับอักเสบบี แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ
- ระยะเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายใน 1-4 เดือนหลังติดเชื้อ ซึ่งจะมีอาการดังนี้อาการไข้ ตัวเหลืองตาเหลือง ปวดท้องใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสียและอาเจียน อ่อนเพลีย ผื่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง เกิดจากการที่เซลล์ตับถูกทำลายเป็นจำนวนมาก ในกรณีนี้อาจทำให้เกิดภาวะตับวายได้อาการตับอักเสบระยะเฉียบพลันจะดีขึ้นใน 1-4 สัปดาห์ และจะหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ ซึ่งมักใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน แต่ผู้ป่วยส่วนน้อย (5-10%) ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้หมด ทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
- ระยะเรื้อรัง แบ่งผู้ป่วยได้เป็น 2 กลุ่มคือ
- พาหะ คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ผลการตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ตับอักเสบเรื้อรัง คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย และตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ
ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อได้อย่างไร ?
- ไม่สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีโดยไม่ได้ป้องกัน
- ใช้เข็มฉีดยา เข็มสัก เข็มเจาะหู ร่วมกับผู้อื่น
- ใช้แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บร่วมกับผู้อื่น
- ติดเชื้อขณะคลอดจากแม่ที่มีเชื้อ
- สัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่ง โดยผ่านเข้าทางบาดแผล
ไวรัสตับอักเสบบี มีอาการอย่างไร?
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ได้รับเชื้อจะไม่รู้ตัว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่สังเกตได้ ดังนี้
- มีไข้ต่ำๆ
- อ่อนเพลีย
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ตาเหลือง และตัวเหลือง
- จุกแน่นใต้ชายโครงขวาเนื่องจากตับโต
การรักษา ไวรัสตับอักเสบบี
การรักษาไวรัสตับอักเสบบี ระยะเฉียบพลัน ผู้ป่วยสามารถหายจากโรคนี้ได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการดูแลตนเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโภชนาการสูง และดื่มน้ำในปริมาณมาก ๆ เพราะร่างกายกำลังต่อสู้ในการกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ อาศัยอยู่ในพื้นที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
การรักษาไวรัสตับอักเสบบี ระยะเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคตับที่รุนแรง และป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วย ใช้การรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัส ตามคำแนะนำจากแพทย์
ไวรัสตับอักเสบบี ป้องกันได้อย่างไร ?
- งดดื่มแอลกอฮอล์
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรค
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
- ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรตรวจเช็คตับปีละ 1 ครั้ง
ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ?
- ทารกแรกเกิด เด็ก
- วัยรุ่นที่ไม่ได้รับวัคซีนเมื่อแรกเกิด
- ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี
- บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาล
- ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง
- ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต
- ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดบ่อย ๆ
- ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
- ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทางพฤติกรรมทางเพศ เช่น รักร่วมเพศ มีคู่นอนหลายคน
ขอบคุณข้อมูล : sikarin princsuvarnabhumi