• Skip to primary navigation
  • Skip to main content
  • Skip to primary sidebar

ThaiHiv365

Never leave someone behind.

  • หน้าแรก
  • จองคิวตรวจเอชไอวี
  • เอชไอวีและเอดส์
    • การรักษาเอชไอวี
    • การป้องกันเอชไอวี
    • การตรวจเอชไอวี
    • เอดส์ คืออะไร
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • โรคหนองในเทียม
    • โรคหนองใน ภัยร้ายใกล้ตัว รู้ก่อนรักษาได้
    • โรคหูดข้าวสุก
    • โรคหูดหงอนไก่
    • โรคเริม
    • แผลริมอ่อน
    • โรคซิฟิลิส
  • เพร็พ PrEP/ เป็ป PEP
    • เพร็พ PrEP
    • เป๊ป PEP
  • บทความ
  • ถาม-ตอบ
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา

ตรวจเอชไอวี

ระยะฟักตัวของเชื้อเอชไอวี (Window period) 

June 19, 2022 by thaihiv365 team

ระยะฟักตัวของเชื้อเอชไอวี

หลักการตรวจ HIV คือ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ HIV ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น เพื่อต่อสู้กับการเชื้อไวรัส HIV ดังนั้นการตรวจ HIV จะใช้หลักการตรวจหาภูมิคุ้มกันนี้ในเลือด ปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณนึงหลังการติดเชื้อ HIV จึงจะตรวจพบระดับภูมิคุ้มกันนี้ได้  โดยถ้าตรวจก่อนอาจจะตรวจไม่พบ ทำให้ผลเป็นลบ ทั้งที่มีการติดเชื้อแล้ว แต่เชื้ออยู่ในระยะฟักตัว ทำให้ผลตรวจมีการคลาดเคลื่อนได้

Window period คืออะไร

ระยะฟักตัว (Window period)  คือ ช่วงเวลาที่อาจได้รับการติดเชื้อ HIV แล้ว แต่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ยังไม่ขึ้นถึงระดับที่จะสามารถตรวจพบเชื้อได้ หรือยังตรวจไม่พบ ดังนั้นหากเข้ารับการตรวจ HIV ในช่วงระยะฟักตัว จะได้ผลเป็นลบ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว คุณอาจติดเชื้อ HIV แล้วก็ได้  ทำให้ ผลที่ออกมานี้จะทำให้เข้าใจผิดคิดว่า ตนเองไม่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งระยะที่ภูมิคุ้มกันของเราจะมีปฏิกิริยาต่อเชื้อเอชไอวีประมาณ 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป เราจึงจำเป็นต้องรอระยะเวลาก่อน  และในทางปฏิบัติหากมีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ก็ควรต้องมาตรวจซ้ำอีกครั้งหลัง 3 เดือนจากการตรวจครั้งแรก  ทั้งนี้ระยะ ฟักตัวของการตรวจแต่ละวิธีการตรวจเชื้อเอชไอวีก็ไม่เท่ากัน มีความแตกต่างกันออกไปด้วย 

ตรวจเอชไอวี มีกี่แบบ และรอระยะฟักตัวกี่วัน

การตรวจเอชไอวีในปัจจุบัน มีอยู่หลายวิธี โดยแบ่งออกเป็นวิธีต่าง ๆ ดังนี้

วิธีตรวจเอชไอวีระยะฟักตัว (วัน)รู้ผล
NAT5-75-7 วัน
HIV Gen 4th141-2 ชม.
Anti-HIV301-2 ชม.
  • การตรวจเอชไอวี แบบหาสารพันธุกรรมของเชื้อ (NAT)  ระยะฟักตัวตั้งแต่ 5-7 วันขึ้นไป วิธีนี้ถือเป็นการตรวจเอชไอวีที่รวดเร็ว และมีความแม่นยำสูง สามารถรู้ผลได้ 5-7 วันหลังจากทำการตรวจ ซึ่งการตรวจแบบนี้ แพทย์จะแนะนำให้กลับมาตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากนี้ 1-3 เดือน เพื่อยืนยันผล
  • การตรวจเอชไอวีแบบ HIV Ag/Ab (Gen 4th) ระยะฟักตัวตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป วิธีนี้เป็นการตรวจเอชไอวีด้วยการใช้น้ำยา Gen 4th ซึ่งเป็นการพัฒนาของการตรวจเอชไอวีแบบหาภูมิต้านทาน (Antibody) และการตรวจเอชไอวีแบบหาโปรตีนจำเพาะของเชื้อ (Antigen) รวมอยู่ในน้ํายาเดียวกัน สามารถรู้ผลได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง หลังจากทำการตรวจ
  • การตรวจเอชไอวีแบบหาภูมิต้านทาน (Anti-HIV) ระยะฟักตัวตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป และมักจะเป็นวิธีที่ใช้ตรวจซ้ำอีกครั้ง หลังจากเคยตรวจทั้งสองแบบแรกมาแล้ว สามารถรู้ผลได้ภายในวันเดียวเช่นกันกับการตรวจแบบน้ำยา Gen 4th

Window Period กี่วัน ถึงจะเชื่อถือได้

ช่วงระยะฟักตัว (Window period) จะใช้ระยะเวลา ประมาณ 1-3 เดือน เพื่อตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง โดยตรวจครั้งสุดท้ายที่หลัง 3 เดือน ก็เพียงพอที่จะมั่นใจได้แล้ว เพราะการตรวจเลือดหลังเสี่ยง 3 เดือน HIV ในระยะฟักตัวนี้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้

ด้วยวิธีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน สามารถลดระยะเวลาของ window period ให้สั้นลง จนสามารถทำการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี ได้เร็วที่สุดประมาณ 2 สัปดาห์ หลังการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม การตรวจเลือด เพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีนั้น ถ้าจะให้ผลตรวจที่ชัดเจน และเชื่อถือได้นั้น ต้องเป็นการตรวจห่างจากความเสี่ยง จากครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 1 เดือน และตรวจติดตามอีกครั้งหลัง 3 เดือน เพราะเป็นการตรวจเลือด หาเชื้อในช่วงเวลา ที่จะสามารถให้ผลตรวจ ที่มีความแม่นยำมาก

ตรวจเอชไอวีเพียง 2 ครั้ง

แนะนำการตรวจเอชไอวีฉบับสายคิดมาก สายเซฟสุด

สำหรับผู้ที่ผลเลือดเป็นลบ (negative หรือ Non-Reactive)

• ตรวจครั้งแรก: พิจารณา ระยะเวลาเสี่ยงที่ได้รับ หากกังวลใจมาก แนะนำตรวจ NAT ซึ่งมีความแม่นยำมาก ตรวจได้ที่ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ราคาค่อนข้างสูง  แนะนำว่ารอให้เกิน 21 วัน หรือ 1 เดือน จะเหมาะสม เพราะหากคุณตรวจแบบ p24 antigen testing และ Antibody ในชุดตรวจเดียวกันเลย ก็จำเป็นจะต้อง ตรวจอีกครั้ง เพื่อติดตามผลแอนติบอดี ที่ระยะเวลา 21 วัน หรือ 1 เดือน อีกทั้งการตรวจที่ 21 วัน หรือ 1 เดือน จะแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากปริมาณ Antigen มีมากขึ้น และร่างกายสร้างแอนติบอดีแล้ว ผลที่ได้ก็จะมีความแม่นยำมาก

• ตรวจซ้ำเพื่อเช็ค: สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ

– หากตรวจครั้งแรกแบบ NAT หรือ แบบ p24 antigen testing และ Antibody ในชุดตรวจเดียวกัน แนะนำให้ตรวจอีกครั้งที่เกิน 21 วัน หรือ 1 เดือน และอาจจะต้องตรวจอีกครั้ง ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน

– หากตรวจครั้งแรกแบบ ตรวจหาภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อไวรัส (Antibody) แนะนำให้ตรวจอีกครั้ง หลังจากเสี่ยงเกิน 1 เดือน ไปแล้ว โดยอาจะตรวจ เมื่อไหร่ก็ได้ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน

• ตรวจซ้ำเพื่อความสบายใจ: ตรวจเลือดหลังเสี่ยง 3 เดือน ในตอนนี้ก็สามารถสบายใจได้แล้ว เนื่องจากการตรวจครั้งนี้สามารถมั่นใจได้เกือบ 100% เพราะหากติดเชื้อเอชไอวีจริงในระยะเท่านี้จะต้องตรวจพบแอนติบอดี

โดยปกติทั่วไป ผู้ที่ได้รับความเสี่ยง บางรายอาจจะเลือก ตรวจเพียง 2 ครั้ง คือ ที่ 30 วัน และตรวจเช็คอีกครั้งที่ 3 เดือนหลังเสี่ยง เพียงเท่านี้ก็สามารถสบายใจได้ และเป็นการประหยัดเงินอีกด้วย

ตรวจเลือดหลังเสี่ยง 3 เดือน มั่นใจได้หรือยัง?

การตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีนั้น ถ้าจะให้ผลตรวจที่ชัดเจน และเชื่อถือได้นั้น ต้องเป็นการตรวจ ห่างจากความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 1 เดือน  ผลตรวจมีความน่าเชื่อถือได้จะอยู่ที่ประมาณ 95%  และตรวจซ้ำอีกครั้งที่ 3 เดือน หลังจากที่ได้รับความเสี่ยงในครั้งสุดท้ายได้  เพราะเป็นการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีในช่วงเวลานี้จะสามารถให้ผลตรวจ ที่มีความแม่นยำมากถึง 99.9% ทั้งนี้ หลังจากตรวจเช็คที่ 3 เดือนหลังเสี่ยงแล้ว ยังพบว่ามีหลายๆ ท่าน ที่ยังคงตรวจเช็คโรคนี้อยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะเป็นการช่วยให้ตนเองทราบผล และเป็นความสบายใจส่วนบุคคลมากขึ้น แต่โดยทั่วไป หากตรวจหลังเสี่ยง 3 เดือน แล้วไม่พบเชื้อ คุณหมอจะให้ปิดเคสได้แล้ว

หากผลตรวจ ออกมาเป็นบวก หรือลบ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ให้ทำการตรวจซ้ำ อีกครั้ง หลังจากที่ตรวจครั้งแรก เพื่อยืนยัน ผลการตรวจที่แน่ชัด

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

U=U คืออะไร

ข้อดีของการตรวจ HIV ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจ

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ตรวจเอชไอวีเมื่อไหร่ดีล่ะ? https://ตรวจเอชไอวี.com/ตรวจเอชไอวีเมื่อไหร่/
  • ตรวจเลือดหลังเสี่ยง 3 เดือน มั่นใจได้หรือยัง? http://www.thaihivhometest.com/ตรวจเลือดหลัง3เดือน/

Filed Under: ตรวจเอชไอวี, เอชไอวี HIV Tagged With: Window period, ตรวจเลือดเอชไอวี, ตรวจเอชไอวี, ระยะฟักตัว

SEXUAL HEADACHE อาการปวดหัวระหว่างมีเพศสัมพันธ์

May 1, 2022 by thaihiv365 team

SEXUAL HEADACHE

อาการปวดศีรษะสามารถเกิดขึ้นก่อน และระหว่างมีกิจกรรมทางเพศได้ หรือตอนที่ถึงจุดสุดยอด หรือหลังจากมีเซ็กส์ไปแล้วหลายชั่วโมงก็ยังปวดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยตัวเอง หรือตอน Oral Sex อาการอาจจะดูไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรที่จะปล่อยไว้ เพื่อเป็นปัญหาทำลายความสุขในชีวิตรักได้

การปวดศีรษะจากการมีเพศสัมพันธ์ (Sexual Headache)  คือ

อาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์นั้น เป็นอาการปวดหัวที่หาได้ยาก สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งระหว่างการมีเซ็กส์และหลังจากการมีเซ็กส์ แต่โดยปกติแล้วมักจะเกิดขึ้นหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการสำเร็จความใคร่ โดยที่อาการปวดหัวนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรค หรือความผิดปกติของร่างกายอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว คุณอาจจะรู้สึกว่ามีอาการปวดตุบๆที่บริเวณศีรษะและลำคอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างที่กำลังทำกิจกรรมทางเพศ หรืออาจจะมีอาการปวดหัวจี๊ดขึ้นมาอย่างรุนแรงขณะสำเร็จความใคร่

อาการปวดมักจะมีอาการปวดหัวอย่างหนักนานไม่เกิน 1 วัน และอาการปวดเบาๆ อีกไม่เกิน 3 วัน อาการปวดนี้จะคล้ายกันอาการคล้ายกับอาการปวดหัวไมเกรน สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุ และพบได้มากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

อาการSEXUAL HEADACHE

เช็คอาการผิดปกติ

หากมีอาการปวดศีรษะ ปวดตื้อๆ บริเวณศีรษะ และลำคอ มักเกิดเมื่อมีความตื่นเต้น และแรงกระตุ้นทางเพศที่สูงขึ้นในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดตั้งแต่เริ่มเกิดขึ้นก่อน ระหว่างทำกิจกรรมทางเพศ หรือเสร็จการทำกิจกรรทางเพศแล้วนั้น โดยอาจปวดเพียงครู่เดียว หรือต่อเนื่องกันหลายนาที หลายชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน 

ผู้ที่มีความเสี่ยงอาการปวดหัวตอนมีเพศสัมพันธ์

  1. อายุมากกว่า 40 ปี
  2. เพศหญิง
  3. ผู้ที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนหรือมีคนในครอบครัวเป็น
  4. ปวดมากกว่า 24 ชั่วโมง
  5. มีอาการทางระบประสาทอื่น ๆ ร่วมด้วย

ทำไมมีเซ็กส์แล้วถึงปวดหัว

สาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละคน แต่สาเหตุที่พบกันบ่อยๆ ก็จะมีประมาณนี้

  • การหดตัวของหลอดเลือด ก็เหมือนกับการเป็นไมเกรน ประมาณครึ่งหนึ่งของคนมี sex headache เป็นไมเกรนอยู่ก่อน เซ็กส์จึงเป็นเพียงตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของไมเกรนเท่านั้นเอง
  • การเกร็งตัวอย่างสุดขีดของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อท้ายทอย มักจะทำให้ปวดแบบตื้อ มากกว่าแบบแปล๊บ
  • ผลจากยา โดยเฉพาะยาช่วยให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวอย่าง sildenafil (Viagra)
  • มีความดันเลือดสูงอยู่แต่ไม่รู้ตัว พอออร์กัสซั่มปุ๊ปความดันจะยิ่งพุ่งขึ้นไปอยู่แล้ว อย่างน้อยก็จะขึ้นไปถึง 240 มม. ดังนั้นถ้าใครมีความดันเลือดสูงเป็นพื้นอยู่แล้ว ก็ไม่แปลกที่อาจจะมีอาการปวดหัวได้
  • การปริแตกของหลอดเลือดที่โป่งพองอยู่แล้วในสมอง คือวัยรุ่นจำนวนหนึ่งมีจุดที่หลอดเลือดดำ และหลอดเลือดแดงมาต่อกันแบบลุ่นๆแทนที่จะต่อผ่านหลอดเลือดฝอย เรียกว่ามี AVM ย่อมาจาก ateriovenous malformation เวลามันปริหรือแตกก็จะปวดหัวแบบสายฟ้าฟาด (thunderclap headache) และเวลาเกิดออร์แกสซั่มก็เป็นเวลาเหมาะที่จะปริ เพราะเป็นจังหวะที่ความดันจู๊ดขึ้นได้ที่พอดี
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ พอหัวใจขาดเลือดจากความดันขึ้น และหลอดเลือดหดตัว แทนที่จะเจ็บที่หน้าอกแบบปกติ ก็อาจจะมีบางคนที่ขึ้นไปเจ็บที่กราม ท้ายทอย หรือในหัวแทนถึงไม่ร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรเพิกเฉย

ทำไมปวดหัวตอนช่วยตัวเอง

อาการปวดศีรษะ ปวดท้ายทอย เวลาที่ช่วยตัวเอง จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ระยะเวลาปวดศีรษะนานประมาณ 15-20 นาที ปวดบริเวณท้ายทอย ต้นคอ หลังเบ้าตา และอาจกระจายไปทั่วทั้งศีรษะได้ เหตุเกิดจากการเพิ่มขึ้นของความดันโลหิตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วขณะถึงจุดสุดยอด

หากมีอาการบ่อย ปวดศีรษะ ปวดต้นคอมากขึ้น ควรไปตรวจพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องค่ะ

ลักษณะอาการที่เกิดขึ้น

อาการปวดศีรษะที่อาจเกิดขึ้นขณะทำกิจกรรมทางเพศแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ปวดศีรษะขณะใกล้ถึงจุดสุดยอดจะมีอาการปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ ที่บริเวณท้ายทอย อาการปวดศีรษะมักจะไม่รุนแรง แต่ถ้ามีเพศสัมพันธ์รุนแรงมากขึ้น จะทำให้อาการปวดศีรษะเป็นเพิ่มขึ้นได้
  2. ปวดศีรษะขณะถึงจุดสุดยอดมักจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน แล้วตามด้วยอาการปวดตึบ ๆ บริเวณต้นคอ ท้ายทอย ปวดบริเวณด้านหน้า เบ้าตา แล้วกระจายไปทั่ว บางคนเป็นเพียง  1 นาที บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะได้เป็นวัน

บางคนอาจจะมีอาการทั้งสองแบบนี้พร้อมกัน อาการปวดหัวนั้นสามารถอยู่ได้นานตั้งแต่ไม่กี่นาทีไปจนถึงหลายวัน ผู้ที่เคยมีอาการปวดหัวกว่า 75% รายงานว่ารู้สึกถึงอาการปวดที่ศีรษะทั้งสองข้าง และหากยิ่งขยับก็จะยิ่งมีอาการปวดมากยิ่งขึ้น

ควรไปพบแพทย์

จะทำอย่างไรดีถ้าเป็น Sexual Headache

1. ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและประเมินดังนี้ 

  • ประเมินความดันเลือด
  • ประเมินยาที่กินอยู่ 
  • ประเมินหลอดเลือดหัวใจ
  • ประเมินการมีอยู่ของ AVM ในสมองด้วยการตรวจ MRI ของสมองด้วย เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

2. ถ้าพบแพทย์แล้วไม่มีอะไรที่น่ากังวล ก็เป็นเรื่องง่ายแล้ว คือ sexual headache ส่วนใหญ่หายเอง 

  • ถอยห่างจากเซ็กส์ไปตั้งหลักสักพัก
  • กลับมามีเซ็กส์ใหม่ก็หัดค่อยๆ ไปแบบช้าๆ  ไม่ใช่เร่งรีบ
  • อย่าไปเกร็งตั้งคอไว้นาน เปลี่ยนท่าให้กล้ามเนื้อคอได้ผ่อนคลายบ้าง เทคนิคนี้จะช่วยได้มากกับพวกที่มีสาเหตุจากการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
  • วันไหนที่เครียดมากทำท่าจะปวดหัวอยู่แล้ว ก็อย่ามีเซ็กส์ เก็บเซ็กส์ไว้เป็นกิจกรรมเมื่อเรารู้สึกผ่อนคลาย
  • ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพทั่วไปดี ปัญหา sexual headache มักเป็นกับคนที่สุขภาพแย่ เช่นอ้วน ความดันสูง เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Sexual Headache

โดยปกติแล้วอาการปวดศีรษะจากเพศสัมพันธ์นั้นไม่เป็นอันตราย แต่หากเกิดอาการเกี่ยวข้องกับระบบประสาท เช่น อาการคอแข็ง อาเจียน หมดสติ หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงต่อเนื่องกันเกิน 1 วัน เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

วิธีการรักษาอาการปวดหัวตอนมีเพศสัมพันธ์

โดยปกติแล้ว อาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์มักจะหายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา บางคนอาจจะมีอาการเพียงแค่ครั้งเดียว แต่ก็มีบ้างที่อาจจะมีอาการปวดหัวอย่างเรื้อรังเป็นเวลานาน และจำเป็นต้องรับการรักษา

วิธีการรักษาอาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์นั้น จะขึ้นอยู่สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัว เนื่องจากอาการปวดหัวเนื่องจากเซ็กส์นั้น มักจะไม่เกี่ยวข้องกับโรคอื่น ๆ ดังนั้นการรับประทานยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้เอง เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin) ก็อาจจะเพียงพอที่จะรักษาอาการปวดหัวนี้ได้

ในบางกรณีแพทย์อาจจะสั่งยา เช่น ยาในกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-blockers)ให้รับประทานเป็นประจำ เพื่อป้องกันอาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์เพิ่มเติมอีกด้วยแต่ในบางครั้ง อาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์อาจจะเป็นผลมาจากสภาวะหรือโรคอื่นๆ ที่แอบแฝงอยู่ก็เป็นได้

ดังนั้นทางที่ดีจึงควรรับการตรวจจากแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคและหาสาเหตุของอาการปวดหัวที่แท้จริง เพื่อที่จะได้ทำการรักษาและป้องกันอาการปวดหัวได้อย่างถูกวิธี

  • ปวดศีรษะไม่รุนแรงจากการมีเพศสัมพันธ์ และเป็นไม่บ่อย สามารถรักษาโดยการทานยาแก้การอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ก่อนมีเพศสัมพันธ์
  • ปวดศีรษะรุนแรงจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นครั้งแรก แนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอันตราย อาทิเช่น เส้นเลือดสมองแตก, เส้นเลือดสมองหดตัวชั่วคราว, ผนังเส้นเลือดฉีกขาด

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับถุงยางอนามัย

ความก้าวหน้าของการรักษาเอชไอวีในปัจจุบัน

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ปวดหัวหลังมีเซ็กส์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์ที่คุณควรรู้ https://www.sanook.com/women/153489/
  • เรื่องน่าห่วงปวดหัวเมื่อมี SEX https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/diseases-and-treatments/sexual-headache
  • ปวดหัวตอนมี sex อาจเป็น Sexual Headache ได้นะ https://today.line.me/th/v2/article/GoK1DQ
  • ปวดหัวหลังมีเซ็กส์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์ที่คุณควรรู้
    https://hellokhunmor.com/สุขภาพทางเพศ/เคล็ดลับเรื่องบนเตียง/ปวดหัวหลังมีเซ็กส์/

Filed Under: ตรวจเอชไอวี, ถุงยางอนามัย, เอชไอวี HIV Tagged With: Oral Sex, Sexual Headache, การช่วยตัวเอง, ทำไมปวดหัวตอนช่วยตัวเอง, ปวดศีรษะจากการมีเพศสัมพันธ์, อาการปวดศีรษะ

โรคติดเชื้อฉวยโอกาส ที่มักพบในผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยโรคเอดส์

April 14, 2022 by thaihiv365 team

โรคติดเชื้อฉวยโอกาส ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี

การติดเชื้อโรคฉวยโอกาส หรือภาวะแทรกซ้อน ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับคนปกติทั่วไป แต่จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยโรคเอดส์ อาจป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ได้พร้อมกันมากกว่า 1 โรค

โรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรือภาวะแทรกซ้อน คือ

ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยโรคเอดส์ จะมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรืออาการภาวะแทรกซ้อนระยะเริ่มต้น คือ ผิวหนังเป็นเริม งูสวัสดิ์ ฝี เชื้อรา ผื่น กลากเกลื้อน แผลเรื้อรัง ลิ้นเป็นฝ้าขาว แบบโรคเชื้อรา เป็นไข้ และไอเรื้อรัง แบบวัณโรคปอด เป็นไข้ ไอ หอบ แบบปอดอักเสบ เป็นไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง ก้มไม่ได้ (ก้มยาก) แบบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แขน ขา ชา อ่อนแรง แบบไขสันหลังอักเสบ ซีด มีจุดแดง จ้ำเขียว หรือเลือดออก แบบโรคเลือด ท้องเดินเรื้อรัง แบบมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรือภาวะแทรกซ้อน ที่อาจพบได้ และค่อนข้างเป็นอันตราย ได้แก่

  • วัณโรค (Tuberculosis-TB) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำลายปอดและทำให้ให้เยื่อหุ้มอักเสบ วัณโรคเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตผู้ป่วยโรคเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก
  • เริม โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้มีการอักเสบบริเวณปากหรืออวัยวะเพศจากการติดเชื้อไวรัส อาจเกิดแผลอักเสบรุนแรงขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันที่บกพร่องในภาวะเอดส์
งูสวัด
  • งูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัส มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำขนาดเล็กกระจายตามแนวเส้นประสาทซีกหนึ่งของร่างกาย  จะปวดแสบปวดร้อนหรือคัน ต่อมาตุ่มน้ำจะแตก กลายเป็นสะเก็ดและหลุดไป
  • ตุ่มพีพีอี อาจเกิดจากการแพ้ยา ผื่นมักจะแดง นูน กระจายทั่วตัว และคันมาก หรือเกิดจากการแพ้สารเคมีต่างๆ หรือแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ยุงกัด จะมีตุ่มคันรุนแรงกว่าคนปกติ
  • ปอดอักเสบพีซีพี เกิดจากเชื้อรานิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ หรือ พีซีพี ทำให้เป็นโรคปอดบวม
  • เชื้อราเยื่อหุ้มสมอง เป็นโรคที่เกิดการติดเชื้อที่อาจเกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราบริเวณเยื่อหุ้มที่หุ้มรอบสมองและไขสันหลังจนทำให้บริเวณดังกล่าวอักเสบบวม 
  • ฝีที่สมอง เกิดขึ้นจากเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดอาการอักเสบที่สมองมีลักษณะการก่อตัวของเชื้อเป็นฝี หนอง ในเนื้อสมองที่สามารถส่งผลต่ออาการผิดปกติของระบบประสาท และสามารถอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้หากเกิดการแตกของฝีในสมอง
  • โรคคริปโตค็อกคัสในระบบประสาท  เกิดจากเชื้อราคริปโตค็อกคัส ที่อยู่ในน้ำไขสันหลัง ผู้ป่วยจะค่อย ๆ เกิดอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ภาวะปอดอักเสบจากเชื้อรา   ปอดอักเสบจากเชื้อรามักจะพบเชื้อราที่ก่อให้เกิดภาวะปอดอักเสบ
  • การติดเชื้อรา และเกิดแผลอักเสบที่บริเวณปาก ภายในลำคอ หรือในช่องคลอด
อุจจาระร่วงจากโปรโตซัว
  • อุจจาระร่วงจากโปรโตซัว   เกิดจากโปรโตซัวเป็นปรสิตเซลล์เดียวที่รบกวนระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงได้
  • การติดเชื้อฉวยโอกาสจากแบคทีเรีย ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ มีปัญหาในระบบย่อยอาหาร และน้ำหนักตัวลด
  • การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส   ทำให้มีอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับดวงตาจนอาจนำไปสู่การตาบอด เกิดแผลเป็นหนองอักเสบ และอาการท้องร่วงรุนแรงได้ด้วย
  • โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อเอชไอวี จนเกิดเป็นเซลล์มะเร็งลามไปทั่วต่อมน้ำเหลือง ทั้งบริเวณลำคอ รักแร้ หรือตามข้อพับต่าง ๆ นอกจากนี้ ในบางรายอาจเป็นมะเร็งหลอดเลือดคาโปซี ที่เกิดเซลล์เนื้อร้ายก่อตัวขึ้นในเนื้อเยื่อผนังหลอดเลือด เกิดเป็นบาดแผลสีแดง หรือสีม่วงตามผิวหนัง

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

ทำไมถึงควรตรวจเอชไอวีเป็นประจำ?

การติดเชื้อฉวยโอกาส

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • โรคฉวยโอกาสที่แฝงมากับเอดส์ https://www.facebook.com/livtoyou/posts/1686095878097416/
  • ภาวะแทรกซ้อนของ เอดส์ https://www.pobpad.com/เอดส์/ภาวะแทรกซ้อนของเอดส์


Filed Under: ตรวจเอชไอวี, เอชไอวี HIV, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Tagged With: AIDS, HIV, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, ผู้ป่วยโรคเอดส์, โรคติดเชื้อฉวยโอกาส

U=U คืออะไร

January 24, 2022 by thaihiv365 team

U=U คืออะไร

เมื่อเชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าไปสู่ร่างกาย จะเข้าทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้ามาสู่ร่างกาย จึงทำให้ผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงจนในที่สุด ร่างกายของผู้ป่วย ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าไปสู่ร่างกายได้ และอาจเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ เช่น วัณโรค เชื้อรา ปอดบวม เป็นต้น โดยส่วนมากผู้ป่วยจะมีปริมาณของไวรัส ในเลือดมากกว่า 200-1,000 ตัว ต่อซีซีของเลือด แต่ะเมื่อได้เข้ารับการรักษา ทำให้มีปริมาณของเชื้อไวรัส ในเลือดต่ำกว่า 50 ตัวต่อซีซีของเลือด โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว เราจะเรียกกันว่า ตรวจไม่เจอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เชื้อที่อยู่ภายในร่างกายได้หมดไปแล้ว เพียงแต่ จะมีปริมาณที่เหลือน้อยมาก ๆ จนทำให้ตรวจไม่เจอ

U = U หรือ Undetectable = Untransmittable  หรือ ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่

U ตัวแรกคือ Undetectable หมายถึง ตรวจไม่เจอเชื้อ และ U ตัวที่สองก็คือ Untransmittable หมายถึง ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ 

หมายถึง ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี แล้วกินยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว และทานยาตรงเวลาอย่างต่อเนื่อง จนกดปริมาณไวรัสให้มีจำนวนลดลงจนถึงระดับที่ไม่สามารถตรวจหาไวรัสในเลือดพบ คือ ผลการตรวดวัดเชื้อเอชไอวีในเลือดของผู้ติดเชื้อมีค่าน้อยกว่า 50 copies/mm3 (อาจมีค่าน้อยกว่า 40 หรือ 20 copies/mm3 ขึ้นกับความสามารถของชุดตรวจ)  และมีหลักฐานชัดเจนว่า คนเหล่านี้จะไม่แพร่เชื้อไปสู่คู่นอนของตัวเอง แม้จะไม่ได้หายขาดจากโรคเอดส์ หรือทางเพศสัมพันธ์แม้จะไม่ใส่ถุงยางอนามัย

ตรวจเอชไอวีไม่เจอ

ตรวจเอชไอวี ไม่เจอ เป็นเพราะอะไร

การที่จะสามารถแพร่เชื้อเอชไอวีได้นั้น จะต้องมีปริมาณของเชื้อไวรัสมากพอสมควร คือ ต้องมีปริมาณไวรัสในเลือดตั้งแต่ 200 – 1,000 copies/ซีซีของเลือด จึงจะสามารถแพร่เชื้อได้  กรณีที่จะตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวี มีดังนี้

กรณีตรวจเอชไอวี ไม่พบเชื้อ เพราะตรวจเร็วเกินไป

ผู้ที่ได้รับความเสี่ยงมา บางบุคคลอาจจะใจร้อน รีบตรวจเกินไป ซึ่งการตรวจเอชไอวีที่ดีนั้น จะมีระยะเวลา และวิธีที่เหมาะสม และเวลาที่ได้รับความเสี่ยงมา โดยประมาณ 1 เดือนหลังจากได้รับความเสี่ยง ถึงจะค่อนข้างน่าเชื่อถือ สำหรับการตรวจรอบแรก การตรวจเอชไอวีรอบแรกหากตรวจไม่พบ ก็ควรจะตรวจซ้ำอีกครั้งที่ทุกๆ 30 วัน เป็นเวลา 3 เดือน หากไม่พบเชื้อถึงจะสามารถปิดเคสได้

กรณีตรวจเอชไอวี ไม่พบเชื้อ เนื่องจากรับประทานยาต้านไวรัส

ผู้ที่รับประทานยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ในทุกๆ วัน มานานกว่า 6 เดือนขึ้นไป อาจจะตรวจไม่เจอเชื้อ (undetectable) เพราะปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีในเลือดต่ำกว่า 50 coppies / ซีซีของเลือด ซึ่งมีปริมาณน้อยจนตรวจไม่พบ และไม่แพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้

การมีเพศสัมพันธ์แบบหลายคู่นอนของกลุ่มคน U = U มีความเสี่ยงหรือไม่อย่างไร

ความเสี่ยงยังมีอยู่ เพราะหากมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่ม U = U อาจจะป้องกันความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่ยังมีความเสียงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หรือการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ที่ไม่สามารถป้องกันได้หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช่ถุงยางอนามัย

การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยในกลุ่มคน U = U

ถ้าจะไม่ใส่ถุงยางอนามัยกับคู่ของตนเอง เพราะเหตุจำเป็น เช่น ไม่มีถุงยาง ถุงยางแตก หรืออยากมีบุตรตามธรรมชาติ ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องเป็นกังวลหรือโทษตัวเอง และเป็นการทำให้ผู้ติดเชื้อมีความมั่นใจและชีวิตครอบครัวมีความสุขมากขึ้น ส่วนการตัดสินใจว่าจะใส่หรือไม่ใส่ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์แต่ละครั้งนั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม และการยินยอมพร้อมใจกันของคนทั้ง 2 คน ว่าต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร เป็นกังวลเรื่องอะไร เช่น เป็นกังวลเรื่องตั้งครรภ์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพราะ การอยู่ในสถานะตรวจไม่เจอเชื้อ ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ ถ้าไม่ใส่ถุงยางอนามัย  เช่น ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม ไวรัสตับอักเสบ บี และซี ได้

การติดเชื้อเอชไอวีซ้ำซ้อนในกลุ่มคน U=U

ตั้งแต่มีการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสอย่างแพร่หลายในปจจุบัน พบว่ายังไม่มีรายงานการติดเชื้อเอชไอวีซ้ำซ้อน หรือติดเชื้อดื้อยา จากคนอื่นในผู้ที่กินยาต้านไวรัสจนตรวจไม่พอเชื้อแล้วเลย

U=U เหมาะกับใคร

– เหมาะกับคนที่ติดเชื้อเอชไอวีที่กินยาอย่างถูกต้อง ที่จะมั่นใจได้ว่าจะไม่ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีให้ใครได้อย่างแน่นอน

– เหมาะกับคู่ของคนที่ติดเชื้อเอชไอวี U=U แล้ว เพราะ มั่นใจได้ว่าเป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ดีที่สุด

ประโยชน์ของ U = U

สำหรับผู้ติดเชื้อ

มีแรงจูงใจในการกินยาต่อเนื่อง หมั่นไปตรวจหาปริมาณไวรัสในเลือดทุกปีตามสิทธิ์ และทำให้รับรู้สถานะของตนว่า ตรวจไม่เจอจริงหรือไม่ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น มีครอบครัวได้ สุขภาพจิตดีขึ้น มีความมั่นใจตนเองมากขึ้น กล้าตัดสินใจเปิดเผยผลเลือดของตนให้คู่นอนทราบ กล้าชวนคู่ไปตรวจเอชไอวี กล้าตัดสินใจตั้งครรภ์ และเลิกโทษตัวเองว่าอาจเป็นเหตุทำให้คู่ของตนติดเชื้อ เพราะไม่สามารถใส่ถุงยางอนามัยได้ทุกครั้ง รวมถึงลดความกลัวในการคุยกับหมอ เช่น หากหมอถามว่าใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งหรือเปล่า ก็ตอบว่าใส่ทุกครั้งเพราะเกรงใจหมอ ทั้ง ๆ ที่ในชีวิตจริงทำไม่ได้ทุกครั้ง

สำหรับคนทั่วไป

ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือผู้ที่ไม่เคยไปตรวจเลือดเลย กล้าที่จะไปตรวจและเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาในทันทีหากตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี นำไปสู่รักษาจนตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวี นอกจากจะไม่ป่วยแล้ว ยังสามารถมีครอบครัวได้เหมือนคนปกติทั่วไป

สำหรับสังคม

เมื่อสังคมมีความเข้าใจเรื่อง U = U แล้ว อาจทำให้การรังเกียจ และกีดกันผู้ติดลดลง สนับสนุนให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษา ไม่มีเหตุผลในการห้ามไม่ให้เข้าทำงาน เพราะผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาแล้ว ไม่เป็นอันตรายต่อคู่นอนของเขาแม้จะไม่ใส่ถุงยางอนามัยก็ตาม และไม่เป็นอันตรายต่อคนในที่ทำงาน อีกทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัส จะมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุขัยเท่าคนอื่น ๆ ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี สามารถทำประโยชน์ให้กับองค์กรได้ไม่แตกต่างจากคนที่ไม่ติดเชื้อ และไม่เพิ่มภาระค่ารักษาพยาบาลให้กับองค์กร เพราะรัฐรับภาระการรักษาพยาบาลให้ผู้ติดเชื้อทุกคน

กินยาต้านไวรัสจนตรวจไม่เจอ

การทำความเข้าใจกับผู้ติดเชื้อHIV ที่เป็นกลุ่ม U=U

คือ ผู้ติดเชื้อต้องกินยาต้านไวรัสเป็นอย่างดีต่อเนื่องตรงเวลาจนตรวจไม่เจอเชื้อไวรัสในเลือดแล้ว จึงจะไม่แพร่เชื้อให้กับใครได้ แต่ความเป็นจริงเชื้อยังคงอยู่ในเลือดอยู่ และผู้ติดเชื้อยังต้องกินยาต้านไปตลอดชีวิต ดังนั้นการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด แต่การทานยาต้านก็เป็นเพียงการรักษา และป้องกันเอชไอวีเท่านั้น 

แต่อีกสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ เมื่อไม่มีการใช้ถุงยางอนามัย ก็มีความเสี่ยงในเรื่องการตั้งครรภ์ เพราะ กรณีแม่ที่ติดเชื้อแม้ผลเลือดจะเป็นตรวจไม่เจอเชื้อ ก็ยังคงต้องกินยา ลูกที่คลอดออกมาก็ต้องกินยาป้องกันเหมือนเดิม รวมไปถึงการที่แม่ผู้ติดเชื้อไม่สามารถให้นมบุตรได้ เพราะเชื้อเอชไอวียังถูกส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูกได้อยู่ถึงแม้ว่าผลเลือดของแม่จะเป็นตรวจไม่เจอเชื้อ ก็ตาม  และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส หนองใน ฯลฯ

เพราะฉะนั้นการไปตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีเร็วจึงมีประโยชน์ ทำให้ทราบสถานะผลเลือดโดยเร็ว เมื่อผลเลือดบวกก็เข้าสู่การรักษาโดยเร็ว ทำให้มีสุขภาพที่ดี ใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนที่ไม่มีเชื้อ และต้องเน้นย้ำกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี คือ ผลเลือดตรวจไม่เจอเชื้อ แต่ในร่างกายยังคงมีเชื้อเอชไอวี หากยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงอยู่ การใช้ยา PrEP / PEP ก็ไม่สามารถให้ผลป้องกันได้ 100% และการใช้ถุงยางอนามัยยัง ก็ยังคงมีความสำคัญในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ที่ถึงแม้จะรักษาให้หายขาดไม่ได้

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

ทำไมถึงควรตรวจเอชไอวีเป็นประจำ?

ความก้าวหน้าของการรักษาเอชไอวีในปัจจุบัน

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ข้อเท็จจริง : เรื่อง U = U https://www.redcross.or.th/news/information/9847/
  • รู้ทันเอชไอวี U=U คืออะไร https://th.trcarc.org/uu-คืออะไร/
  • ตรวจเอดส์ ไม่เจอ เกิดขึ้นจากอะไร https://www.thaihivtest.com/ตรวจเอดส์-ไม่เจอ/
  • U=U คืออะไร และการทำความเข้าใจกับผู้ติดเชื้อ HIV https://mobile.swiperxapp.com/pmt-article-uu-hiv/

Filed Under: ตรวจเอชไอวี, ยาต้านไวรัส, เอชไอวี HIV Tagged With: U=U, การมีเพศสัมพันธ์, ตรวจไม่เจอเชื้อ, เชื้อเอชไอวี, ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้

ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง สามารถทำได้จริงไหม?

September 28, 2021 by 365team

ข้อสงสัยนี้มักเกิดขึ้นกับใครหลาย ๆ คน ที่ยังคงไม่มั่นใจในชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง เนื่องด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่ยังคงเป็นไปในทางลบแม้ว่าจะเริ่มเปิดกว้างต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่หลายคนคุ้นเคยดีในชื่อ “เอดส์ (AIDS)” ซึ่งเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสเอชไอวี HIV : Human Immunodeficiency Virus และภาวะแทรกซ้อนมากมายที่เกิดขึ้นได้ในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี จากความเข้าใจเมื่อครั้งอดีตที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต จนกลายเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อมุมมองประเด็นต่าง ๆ จากสังคมในแง่ลบ การหาแนวทางเพื่อการตรวจ การวินิจฉัย ตลอดจนการเข้ารับการรักษาจึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก 

ปัจจุบันนับว่าแง่มุมต่อผู้ป่วยเอชไอวีเริ่มลดลงจากในอดีตมากพอสมควร ด้วยสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการรณรงค์ การให้ความรู้ความเข้าใจที่มากขึ้น อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมายในการลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การเปิดใจต่อการป้องกันความเสี่ยงมีมากยิ่งขึ้นตามลำดับด้วยเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างมากต่อการสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน คือการทำความเข้าใจสาเหตุของโรคไปจนถึงการรักษาที่ถูกต้องตามหลักการทางการแพทย์ แน่นอนว่าหากเข้าใจพื้นฐานต่าง ๆ เหล่านี้มากเท่าไหร่ จะทำให้มุมมองต่อการมองชุดตรวจเอชไอวีเปลี่ยนไปในทางที่ดีด้วย

จากที่กล่าวมาข้างต้นเชื่อว่าหลายคนคงพอทราบแล้วว่า “การตรวจเอชไอวี” มีความสำคัญต่อการป้องกันรวมไปถึงสิ่งสำคัญที่สุดคือการรู้ทันโรคอย่างทันท่วงที เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถรับมือกับสถานะเลือดได้เหมาะสม เป็นที่มาของการคิดค้นและพัฒนาแนวทางการตรวจที่เข้าถึงได้ง่าย โดยใช้การตรวจเบื้องต้นด้วยตนเองง่าย ๆ หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศว่า ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV Self-Test)  ซึ่งในบทความนี้ได้รวบรวมข้อเท็จจริงจากหลากหลายแหล่งให้ได้ทำความเข้าเกี่ยวกับชุดตรวจเอชไอวีกันมากขึ้น

ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองเกิดขึ้นได้อย่างไร?

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับผลการทดสอบและประสิทธิภาพของ ชุดตรวจเอชไอวี เป็นครั้งแรกในโลก เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา พร้อมกับการกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี นับว่าเป็นการอัปเดตให้ผู้คนทั่วโลกได้ทำความเข้าใจในพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งมีผลต่อการเข้าถึงการตรวจเอชไอวีได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น โดยจากการวิจัยเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วพบว่าชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย การออกแบบให้ทิ้งได้อย่างปลอดภัยต่อคนรอบข้างตลอดจนผู้ตรวจ พร้อมกันนั้นชุดตรวจเอชไอวีที่มีคุณภาพ จะต้องได้รับการรับรองจากองค์กรด้านอนามัยและสาธารณสุขของประเทศนั้น ๆ ด้วย จุดประสงค์ในการค้นคว้าชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองคือการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองเอชไอวีเบื้องต้นได้ง่ายยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการลดอัตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีรวมไปถึงทราบผลได้อย่างทันท่วงที เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากเอชไอวีได้อย่างดี

ความน่าเชื่อถือของชุดตรวจเอชไอวีในปัจจุบัน 

อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเกี่ยวกับประเด็นที่ส่งผลให้ ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ภายในประเทศไทยยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากยังขาดความรู้ความเข้าใจทั้งในเรื่องของข้อเท็จจริงของเชื้อไวรัสเอชไอวี แนวทางการรักษาที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และความรู้ในการตรวจเบื้องต้น เป็นต้น ทั้งนี้ในด้านของทัศนคติต่อการติดเชื้อเอชไอวียังคงมีแง่ลบในสังคมอยู่พอสมควร ถึงแม้ว่าหลากหลายหน่วยงานได้รณรงค์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องก็ตาม หลายปัจจัยส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้มุมมองต่อการตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ยังคงมองว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันมาตรฐานของการผลิตและการใช้งานของชุดตรวจถือว่ามีความแม่นยำมากกว่า 99% เมื่อเทียบกับการตรวจภายในสถานพยาบาล ด้วยการออกแบบให้ขั้นตอนการตรวจมีความสะดวก ทำได้เองง่าย ๆ โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยแม้แต่นิดเดียว แนะนำให้ตรวจสอบสัญลักษณ์การรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อดังต่อไปนี้

  • กระทรวงสาธารณสุข
  • คณะกรรมการอาหารและยา
  • มาตรฐานสากล WHO Pre-Qualified จากองค์กรอนามัยโลก
  • ตัวแทนจำหน่ายได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง
  • ช่องทางการจำหน่ายมีความเชื่อถือ
  • ระบุแหล่งที่ผลิตและรายละเอียดต่าง ๆ ของตัวแทนจำหน่ายอย่างชัดเจน

ข้อสรุปของชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองทำได้จริงไหม?

การเลือกใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองนับว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ลดอัตราผู้ติดเชื้อได้ รวมไปถึงสามารถคัดกรองการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วในผู้ที่ไม่สะดวกเข้ารับการตรวจในสถานพยาบาล ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ก็ตาม ผู้ตรวจจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำที่แนบมาภายในชุดตรวจอย่างละเอียด และไม่ละเลยขั้นตอน ข้อแนะนำ หรือข้อห้าม ที่ได้ระบุไว้เด็ดขาด เพื่อให้ผลการตรวจเอชไอวีที่ได้รับมีความแม่นยำมากที่สุดนั่นเอง 

สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นแน่นอนว่าเป็นระยะที่เหมาะสมต่อการใช้งานชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ซึ่งเป็นข้อควรปฏิบัติเช่นเดียวกับการตรวจในสถานพยาบาล ดังนั้นผู้ตรวจต้องตระหนักเสมอว่าการตรวจด้วยชุดตรวจเป็นเพียงการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น หากได้ผลลัพธ์ว่าตนไม่มีเชื้อเอชไอวีควรดูแลตัวเองและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากได้ผลลัพธ์ว่าตนมีเชื้อเอชไอวีควรทำความเข้าใจพื้นฐานของโรครวมทั้งหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่คู่นอนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ควรตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจาก 3 เดือนให้มั่นใจมากยิ่งขึ้น

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

  • ทำไมถึงควรตรวจเอชไอวีเป็นประจำ?
  • ความก้าวหน้าของการรักษาเอชไอวีในปัจจุบัน

Filed Under: ตรวจเอชไอวี Tagged With: ชุดตรวจเอชไอวี, ตรวจเลือด, ตรวจเอชไอวี, เอชไอวี, เอดส์

Primary Sidebar

Recent Posts

  • ผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี
  • โรคหูด สาเหตุ, อาการ, การรักษา
  • การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัยเป็นไปได้หรือไม่
  • เพร็พ PrEP ป้องกันเชื้อเอชไอวี
  • ทำความรู้จักกับ โรคฝีดาษลิง

Archives

  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • November 2021
  • September 2021
  • April 2021
  • November 2020
  • September 2020
  • May 2020
  • April 2020

Categories

  • PEP
  • PrEP
  • Uncategorized
  • ตรวจเอชไอวี
  • ถุงยางอนามัย
  • ยาต้านไวรัส
  • เอชไอวี HIV
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โรคฝีดาษลิง

Copyright © 2022 · Genesis Sample on Genesis Framework · WordPress · Log in