• Skip to primary navigation
  • Skip to main content
  • Skip to primary sidebar

ThaiHiv365

Never leave someone behind.

  • หน้าแรก
  • จองคิวตรวจเอชไอวี
  • เอชไอวีและเอดส์
    • การรักษาเอชไอวี
    • การป้องกันเอชไอวี
    • การตรวจเอชไอวี
    • เอดส์ คืออะไร
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • โรคหนองในเทียม
    • โรคหนองใน ภัยร้ายใกล้ตัว รู้ก่อนรักษาได้
    • โรคหูดข้าวสุก
    • โรคหูดหงอนไก่
    • โรคเริม
    • แผลริมอ่อน
    • โรคซิฟิลิส
  • เพร็พ PrEP/ เป็ป PEP
    • เพร็พ PrEP
    • เป๊ป PEP
  • บทความ
  • ถาม-ตอบ
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา

Archives for September 2022

เป๊ป (PEP) ยาต้านไวรัส..ฉุกเฉิน

September 27, 2022 by 365team

ยาเป๊ป (PEP) ยาต้านฉุกเฉิน ย่อมาจากคำว่า Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ ใช้สำหรับผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย โดยแพทย์จะจ่ายยาต้านฉุกเฉิน PEP ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอชไอวีหรือเพิ่งสัมผัสเชื้อเอชไอวี โดยจะต้องทาน PEP ภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีความเสี่ยง ต้องทานยาอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง 28 วัน เพื่อประสิทธิภาพในการช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสเอชไอวีที่สมบูรณ์

ใครบ้างที่ควรได้รับยาเป๊ป (PEP)

  1. มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่อาจมีเชื้อเอชไอวีและไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย
  2. ถุงยางอนามัยหลุดหรือฉีกขาด (ถุงแตก)
  3. ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  4. ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  5. ผู้ที่มีความเสี่ยงจากการทำงาน เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ

ทานยาเป๊ป (PEP) ต้องเตรียมอะไรบ้าง

ก่อนเริ่มรับประทานยาเป๊ป (PEP) ต้องซักประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับยาเป๊ป (PEP) หรือไม่ โดยแพทย์จะสั่ง ตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี ตรวจไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไตก่อนรับยา (หากติดเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อนแล้วจะไม่สามารถใช้ยาเป๊ปได้) หลังรับประทานยาครบ 28 วัน ตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีซ้ำ 1 เดือนและ 3 เดือน ในช่วงนี้ควรงดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

ยาเป๊ป (PEP) ราคาเท่าไหร่

เป๊ป (PEP) เป็นยาที่มีราคาแพง ราคาเริ่มต้นที่ 1200- 20000 บาท แล้วแต่ชนิของยา และดุลพินิจของแพทย์ และมีหลายองค์กรใช้บริการฟรี ตามกลุ่มเสี่ยงและโครงการ

ยาเป๊ป (PEP) มีผลข้างเคียงไหม

ส่วนใหญ่ผู้ที่กินยาเป๊ป (PEP) มักจะไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายรุนแรง เนื่องจากยามีความปลอดภัยต่อร่างกายและเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ซึ่งในกรณีของผู้ที่มีภาวะข้างเคียงจะมีอาการดีขึ้นหลังกินยาผ่านประมาณ 1 สัปดาห์ โดยจะแสดงอาการที่เห็นได้ชัด เช่น 

  • คลื่นไส้ 
  • วิงเวียนศีรษะ 
  • อ่อนเพลีย
  • ท้องเสีย

ข้อแตกต่างระหว่าง PEP และ PrEP

PEP (Post-Exposure Prophylaxis)

  • ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี “หลัง” จากที่มีความเสี่ยงมาแล้ว
  • กินในกรณีฉุกเฉิน เช่น มีเพศสัมพันธ์แล้วถุงยางอนามัยแตก
  • กินให้เร็วที่สุด หรือภายในไม่เกิน 72 ชั่วโมง
  • ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70-80
  • กินให้ครบ 28 วัน หากกินไม่ครบประสิทธิภาพการป้องกันจะลดลง
  • มีสูตรยาหลายสูตรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis)

  • ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี “ก่อน” ที่จะมีความเสี่ยง
  • กินในกรณีที่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยง เช่น ไม่ใส่ถุงยางอนามัย มีคู่นอนหลายคน
  • กินทุกวัน วันละ 1 เม็ด หรือเลือกทานแบบ PrEP- On Demand 2-1-1
  • ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 90 หากกินยาอย่างสม่ำเสมอ
  • แพทย์จะนัดทุก 3 เดือน เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา
  • ถ้าไม่มีความเสี่ยงแล้ว สามารถหยุดได้หลังมีความเสี่ยงครั้งสุดท้าย 4 สัปดาห์

ขอบคุณข้อมูล : bumrungrad, Lovefoundation

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

  • ทำความรู้จักกับ โรคฝีดาษลิง
  • ผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี

Filed Under: PEP Tagged With: PEP, ยาต้านฉุกเฉิน, ยาเป๊ป, เป๊ป

โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata)

September 23, 2022 by thaihiv365 team

โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata)

หูดชนิดนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก คือ ติดต่อได้จากผิวหนังสู่ผิวหนัง สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยมักพบในผู้ป่วยวัยหนุ่มสาว และวัยผู้ใหญ่  จะขึ้นที่บริเวณอวัยะเพศ สามารถพบได้ทั้งในชายและหญิง แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata) คืออะไร

โรคหูดหงอนไก่ (Genital warts, Condyloma acuminata)  เกิดจากการเชื้อไวรัส ฮิวแมน แปปิโลมา (Human Papilloma Virus – HPV) โดยมีลักษณะเป็นตุ่มๆ หรือติ่งเนื้อสีชมพู หรือขาว ผิวขรุขระเป็นหยักคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ บริเวณที่พบส่วนมากจะเป็นบริเวณปากช่องคลอด รองลงมาคือที่แคมคลิตอริส รอบทวารหนัก ผนังช่องคลอด และปากมดลูก โดยจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่จะพบได้ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ทั้งหญิง และชาย แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้หญิงมากกว่า ในบางครั้งอาจเรียกโรคนี้ว่า หงอนไก่, หูดอวัยวะเพศ หรือ หูดกามโรค

ระยะฟักตัวของโรค

ตั้งแต่รับเชื้อมาจนเกิดอาการจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน – 2 ปี หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 เดือน

สาเหตุของโรคหูดหงอนไก่

โรคหูดหงอนไก่ เป็นหูดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ฮิวแมน แปปิโลมา (Human Papilloma Virus – HPV) ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีเชื้อชนิดนี้กว่า 200 สายพันธุ์ย่อย บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดที่ผิวหนัง บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ บางสายพันธุ์ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และทางเดินอุจจาระ 

สำหรับเชื้อที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่นั้น พบว่าประมาณ 90% เกิดจากสายพันธุ์ย่อย 6 และ 11 ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดโรคมะเร็งค่อนข้างต่ำ (ส่วนเชื้อชนิดที่เพิ่มโอกาสเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และทางเดินอุจจาระ คือ HPV สายพันธุ์ย่อย 16 และ 18 ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้คือ สายพันธุ์ 33, 35, 39, 40, 43, 45, 51-56, 58)

ส่วนใหญ่โรคนี้มักติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก มักพบได้ในกลุ่มวัยรุ่น และที่พบได้ในจำนวนน้อยมาก ๆ คือการติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกในระหว่างการคลอด ในกรณีที่เด็กคลอดผ่านช่องคลอดของแม่ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่

ผู้ที่สัมผัสเชื้อนี้อาจจะไม่ติดโรคทุกราย เพราะขึ้นอยู่กับภาวะภูมิคุ้มกันและจำนวนเชื้อที่ได้รับ โดยเมื่อผิวหนังได้รับเชื้อหรือติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ผ่านทางรอยถลอกที่ผิวหนัง ก็จะมีระยะฟักตัวของโรคที่ยังไม่แสดงอาการได้หลายเดือนหรือหลายปี เมื่อผ่านระยะฟักตัวไปแล้ว เชื้อไวรัสก็จะเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดการสร้างเซลล์ที่ผิดปกติในชั้นผิวหนัง โดยปกติแล้วร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้ออกได้เอง แต่มีส่วนน้อยที่เชื้อไวรัสจะไม่ถูกกำจัด และหากเป็นไวรัสสายพันธุ์รุนแรงก็จะมีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งในตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อได้

สาเหตุของการเกิดซ้ำ

โรคหูดหงอนไก่ สามารถเกิดซ้ำได้ถึงร้อยละ 30-70 ในระยะเวลา 6 เดือนหลังสิ้นสุดการรักษา สาเหตุเป็นได้ตั้งแต่ยาไม่มีประสิทธิภาพ การติดเชื้อซ้ำจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการเกิดรอยโรคจากเชื้อในร่างกายตนเอง 

อาการของโรคหูดหงอนไก่

  • คนส่วนใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันดี หลังจากได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วมักจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา เชื้อเหล่านี้ก็จะถูกกำจัดออกไปได้เองภายใน 2 ปี (ยกเว้นในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ) แต่ก็ยังมีผู้ติดเชื้อบางส่วนที่อาจแสดงอาการออกมาให้เห็นหลังรับเชื้อเข้าไปแล้วหลายเดือนหรือหลายปี
  • มีอาการคัน หรือไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้ แต่ถ้าเป็นมากก้อนเนื้อหูดก็จะใหญ่ขึ้นและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในผู้ชายอาจมีปัญหาเรื่องปัสสาวะไม่ออก ส่วนในผู้หญิงอาจตามมาด้วยอาการมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ 
  • นอกจากนี้ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีอาการตกขาว หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น เป็นผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด หูดหงอนไก่จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมากกว่าปกติ (ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการของโรคมากกว่าคนทั่วไป ส่วนในผู้ป่วยเอดส์จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ซึ่งมักจะขึ้นหลายแห่งและเป็นแบบเรื้อรัง)
ควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

การวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการดูลักษณะของรอยโรคเฉพาะที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า หรืออาจตรวจยืนยันได้จากการตรวจทางพยาธิวิทยาจากชิ้นเนื้อตรงรอยโรค เนื่องจากรอยโรคที่มีหลากหลายของหูดหงอนไก่อาจทำให้เกิดความสับสนกับโรคอื่น ๆ ได้ เช่น หูดข้าวสุก ไฝ โรคผิวหนังบางชนิด ผื่นของโรคซิฟิลิสระยะที่ 2 ไปจนถึงลักษณะที่ผิดปกติของอวัยวะเพศของบางคนที่มีติ่งยื่นออกมาคล้ายหูดหงอนไก่

โดยดูลักษณะหูดที่เกิดขึ้น ดังนี้คือ

  • ถ้าเป็นติ่งเนื้อสีชมพูงอกบานออกทางด้านนอกคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ สำหรับผู้ชายมักเป็นที่ด้านในของหนังหุ้มปลายองคชาติ ผู้ชายรักเพศเดียวกันพบรอบทวารหนัก ผู้หญิงพบที่ปากช่องคลอด
  • หูดชนิดแบนราบพบที่ปากมดลูก ลักษณะแบนราบ ส่วนใหญ่เกิดจาก HPV 16 เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก
  • หูดชนิดกลุ่มลักษณะเป็นตุ่มขนาด 3–4 มิลลิเมตร สีน้ำตาลแดง ม่วง หรือดำ ผิวเรียบ หรือขรุขระเล็กน้อย
  • หูดก้อนใหญ่ลักษณะเป็นหูดขนาดใหญ่ที่โตเร็วมาก จนกลายเป็นก้อนใหญ่ปกคลุมอวัยวะเพศทั้งหมด
  • ในกรณีที่แพทย์ยืนยันว่าเป็นหูดหงอนไก่จริง ผู้ป่วยควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วยเสมอ เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ หนองใน พยาธิในช่องคลอด ฯลฯ เพราะมักพบเกิดร่วมกันได้ (การติดเชื้อเหล่านี้ร่วมด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะแสบ มีตกขาว คัน หรือมีแผลที่อวัยวะเพศเพิ่มขึ้น) 
  • นอกจากนี้แพทย์ยังอาจมีการตรวจเพิ่มเติมหรือตรวจสืบค้นด้วยวิธีอื่น ๆ ตามแต่กรณีหากสงสัยว่ามีหูดหงอนไก่ในบริเวณที่พบได้บ่อย เช่น การใช้กล้องส่องตรวจดูช่องคอหรือที่ทวารหนัก เป็นต้น ส่วนในกรณีที่ยังไม่มีรอยโรคหรือยังไม่เห็นเป็นก้อนหูด แพทย์จะยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้

การรักษาโรคหูดหงอนไก่

  1. ทาด้วยยาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) ชนิด 25% แต่ต้องระวังไม่ให้ถูกเนื้อดี โดยให้ใช้วาสลีนทาปิดเนื้อดีโดยรอบเอาไว้ก่อน หลังจากทายาประมาณ 4-6 ชั่วโมงแล้วให้ล้างออก และต้องทาซ้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งจนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งมักจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค
  2. ทาด้วยกรดไตรคลอโรอะซิติก หรือ ทีซีเอ (Trichloroacetic Acid – TCA) ชนิด 50-70% โดยไม่ต้องล้างออก และระวังอย่าให้ถูกผิวหนังที่ดี หลังจากทายาประมาณ 1 ชั่วโมงไม่ควรให้บริเวณที่ทายาโดนน้ำ และต้องรักษาซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหมดไป ตัวยานี้จะมีฤทธิ์ทำให้โปรตีนในเซลล์เสื่อมสภาพเป็นเซลล์ตาย ทำให้หูดที่มีก้านหลุดออกไปภายใน 2-3 วัน 
  3. ทาด้วยครีมอิมิควิโมด (Imiquimod cream) ชนิด 5% เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้กำจัดเชื้อเอชพีวี (HPV) ออกไป โดยให้ทายานี้วันเว้นวันในช่วงก่อนเข้านอน ติดต่อกันเป็นเวลา 16 สัปดาห์ เป็นวิธีรักษาในหูดหงอนไก่ชนิดราบที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณเยื่อเมือก ยาทานี้มีราคาแพง แต่ผู้ป่วยสามารถนำกลับมาทาเองที่บ้านได้ 
  4. ทาด้วยยาโพโดฟิลอกซ์ (Podofilox) ชนิด 0.5% มีทั้งรูปแบบเจลและครีม ผู้ป่วยสามารถนำมาใช้ทาเองได้ที่บ้าน โดยวิธีการใช้ให้ทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน แล้วเว้น 4 วัน แต่ไม่เกิน 4 รอบ 
  5. รักษาด้วยการจี้ไฟฟ้า (Electrocauterization) หรือจี้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (Laser ablation) เพื่อตัดรอยโรคออก ใช้วิธีลดความเจ็บปวดในการรักษาด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ แพทย์มักใช้รักษาหูดขนาดใหญ่ที่รักษาด้วยวิธีอื่นมาแล้วแต่ไม่ได้ผล
  6. รักษาด้วยการจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นการใช้ไม้พันสำลีชุบด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) แล้วนำมาป้ายหรือพ่นเป็นสเปรย์ลงที่รอยโรค เพื่อให้ความเย็นสัมผัสรอยโรคเป็นเวลานานประมาณ 10-15 วินาที และต้องระวังอย่าให้ถูกผิวหนังที่ดี ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบ้างในขณะทำการรักษา แต่เป็นระดับที่สามารถทนได้โดยไม่ต้องใช้ยาชา และภายหลังการรักษาอาจทำให้มีรอยดำได้ การรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องทำซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของรอยโรค
  7. รักษาด้วยวิธีการตัดหูดหงอนไก่ออกด้วยมีดผ่าตัด (Surgical excision) โดยจะอาศัยการฉีดยาชาเฉพาะที่ วิธีการรักษานี้เป็นวิธีที่ช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของหูดหงอนไก่ได้มากที่สุด มักใช้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หรือในรายที่เป็นหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์
  8. รักษาด้วยการขูดเอาเนื้องอกออก (Curettage)
วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV

การป้องกันโรคหูดหงอนไก่

1.มีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคู่นอนของตน และไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพราะจะยิ่งมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้น
2.หากต้องมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) แม้การใช้ถุงยางอนามัยอาจไม่สามารถป้องกันหูดหงอนไก่ได้ 100% แต่ก็เป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี 
3.เมื่อพบรอยโรคต้องสงสัยหรือความผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นหูดหงอนไก่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาให้หายก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคไปสู่บริเวณเนื้อเยื่อเมือกอื่น ๆ หรือการติดต่อสู่ผู้อื่น
4.ในปัจจุบันได้มีการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV 4 สายพันธุ์สำคัญออกมาในเข็มเดียวกัน คือ 

  • HPV 6, 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ 
  • HPV 16,18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด และมะเร็งทวารหนัก  

ซึ่งวัคซีนนี้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ย่อย 6, 11, 16, 18 หากฉีดก่อนการติดเชื้อ ดังนั้นควรแนะนำให้มีการฉีดทั้งในเด็กหญิงและเด็กชายที่มีอายุระหว่าง 11-12 ปี สำหรับการป้องกันหูดหงอนไก่ หลังจากฉีดวัคซีนแล้วก็ยังแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยต่อไปและมีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคู่นอนของตน

การดูแลรักษาตัวเองระหว่างเป็นโรคหูดหงอนไก่

  1. ติดตามการรักษาโดยการมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  2. หมั่นตรวจอวัยวะเพศของตัวเองเพื่อหารอยโรคอยู่เสมอ
  3. งดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา แต่หากมีความจำเป็นก็ควรใช้ถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
  4. ควรล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เป็นประจำ และหากสัมผัสรอยโรคให้ล้างบริเวณที่สัมผัสและล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์
  5. รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ครบถ้วน เช่น การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด, ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ, รับประทานอาหารที่สุกสะอาด
  6. ในรายที่มีหูดหงอนไก่ขึ้นหลายแห่ง หรือเป็น ๆ หาย ๆ อยู่บ่อย ๆ ควรไปตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือไม่
  7. ในผู้หญิงที่เป็นหูดหงอนไก่บริเวณปากมดลูก อาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคเอดส์หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น สูบบุหรี่หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ฯลฯ ดังนั้น จึงควรหาทางหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ และควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกในระยะแรกเริ่มอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  8. ในระหว่างการรักษาหูดหงอนไก่ หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ผิวหนังบริเวณที่ทำการรักษามีอาการเจ็บ แดง ระคายเคืองเป็นบริเวณกว้าง หรือผู้ป่วยมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเสมอ
  9. งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ใช้สารเสพติด
  10. งดสำส่อนทางเพศ
  11. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส เป็นต้น
  12. ระหว่างรักษาหูดหงอนไก่ หากมีอาการผิดปกติ หรือกังวลใจในอาการที่เป็นอยู่ ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด

บทความอื่นๆเพิ่มเติม

โรคเริม (Herpes) – โรคติดต่อที่พบบ่อย

กามโรคคืออะไร?

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • โรคหูดหงอนไก่ https://www.mplusthailand.com/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ/หูดหงอนไก่/
  • หูดหงอนไก่ (CONDYLOMA ACUMINATUM) https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/บทความ-สุขภาพผู้หญิง/หูดหงอนไก่-(Condyloma-acuminatum)
  • หูดหงอนไก่ คืออะไร? https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/933
  • หูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata) https://sites.google.com/site/napassnt/home/12
  • หูดหงอนไก่ https://www.pobpad.com/หูดหงอนไก่
  • หูดหงอนไก่ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหูดหงอนไก่ 10 วิธี !! https://medthai.com//หูดหงอนไก่/

Filed Under: โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Tagged With: Condyloma Acuminata, Genital warts, สาเหตุของโรคหูดหงอนไก่, โรคหูดหงอนไก่, ไวรัส ฮิวแมน แปปิโลมา

การรักษาตุ่ม PPE ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี

September 16, 2022 by thaihiv365 team

การรักษาตุ่ม PPE

โรคตุ่มคันในคนที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี จะมีอาการแสดงหลายระดับขึ้นอยู่กับระยะติดใหม่ๆ ถ้ามีการดูแลร่างกายดี ภูมิคุ้มกันยังดีอยู่ ก็จะไม่มีอาการอะไรเหมือนคนปกติทั่วไป ถ้าไม่มีการตรวจเลือดก็จะไม่ทราบว่าผู้นั้นมีเชื้อเอชไอวี อยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป หากไม่กินยาต้านไวรัส หรือปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์แนะนำ ภูมิคุ้มกันก็จะลดลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่างๆทำให้เจ็บป่วยได้ 

PPE คืออะไร?

PPE ย่อมาจาก Pruritic Papular Eruption in HIV ซึ่ง PPE นั้น มักพบในผู้ป่วยเอชไอวี ที่มีอาการมากแล้ว โดยรอยโรค PPE อาจเป็นตัวสะท้อนบอกสถานะของภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยได้ คือการมี PPE อาจหมายถึงภาวะภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยต่ำแล้ว

PPE เกิดจากอะไร?

ยังไม่ทราบกลไกการเกิดและสาเหตุ ของการเกิด ตุ่ม PPE อย่างชัดเจน เชื่อว่าเป็นปฏิกิริยาการแพ้ของผิวหนังของผู้ป่วยต่อแมลงกัดต่อยเช่นมด ยุง ดังจะเห็นได้ว่า PPE พบได้มากกว่าที่บริเวณนอกร่มผ้า

PPE ติดต่อมั้ย 

PPE ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ เชื้อเอชไอวี เป็นโรคติดต่อ ควรระวัง โดยการไม่สัมผัสเลือดหนองจากแผล เพราะ เชื้อ เอชไอวีสามารถติดต่อทางสารคัดหลั่งต่างๆจากร่างกาย เข้าทางผิวหนังที่มีแผลของเราได้

ลักษณะตุ่ม PPE

  • ลักษณะเป็นตุ่มคัน คล้ายยุงแมลงกัด มีรอยแดงอักเสบ รอยดำหลังการอักเสบ อาจมีหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่มาจากการเกา
  • พบได้ทั้งในและนอกร่มผ้า โดยพบที่บริเวณนอกร่มผ้าได้บ่อยกว่า
  • พบในระยะที่ภูมิคุ้มกันต่ำ คือ อาการของโรคเอดส์ เป็นค่อนข้างมากแล้ว
  • มีอาการเรื้อรัง
  • มีอาการคันมากจึงพบมีรอยเกาและมีรอยดำ รอยแผลเป็นหลังเกาอยู่
  • มักเป็นที่แขนขา มากกว่าที่ใบหน้าค่ะ

อาการของการเกิดตุ่ม PPE

หากตุ่มที่เกิดขึ้นนั้น ยุบลงภายใน 5 วัน ก็ไม่น่าใช่ตุ่ม PPE อีกทั้ง หากไม่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อก็ไม่น่าจะเป็นผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี เพราะว่าตุ่ม PPE นั้น มักพบในผู้ป่วยที่เป็นติดเชื้อแล้ว และอาจจะมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด เหงื่อออกตอนกลางคืน ท้องเสียเรื้อรัง เป็นต้น 

กินยาแก้แพ้ Antihistamine

การรักษาตุ่ม PPE

โดยทั่วไปจะเป็นการรักษาตามอาการ คือ ห้ามเกา ดูแลผิวไม่ให้แห้ง กินยาแก้แพ้แก้คัน ทายาแก้คัน แต่การทายา จริงๆแล้วก็ช่วยให้หายคันชั่วคราว ถ้าจะรักษาให้ตุ่มหายและไม่คัน ควรเพิ่มภูมิคุ้มกันจะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ เพราะตุ่มนี้มาจากเมื่อภูมิคุ้มกันลดลงร่างกายติดเชื้อต่างๆแทรกซ้อนได้ง่าย จึงติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังได้ ทำให้เกิดเป็นตุ่มคัน และอาจมีหนอง

  • ห้ามเกา –  เพราะยิ่งเกาจะยิ่งเป็นมากขึ้น และทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนด้วย
  • ดูแลผิวไม่ให้ผิวแห้ง – เพื่อลดอาการคัน ทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นกับผิวเป็นประจำ
  • กินยาแก้แพ้ – antihistamine เพื่อลดอาการคัน ถ้าเป็นชนิดง่วงเล็กน้อยเช่น Hydroxyzine ก็จะช่วยลดอาการคันได้ดีขึ้น
  • ทายาสเตียรอยด์ – ที่มีความเข้มข้นสูง เช่น clobetasol  ลดการคันและอักเสบที่ตุ่ม ยาสเตียรอยความเข้มข้นสูงไม่ควรใช้นานเกินสองถึงสามสัปดาห์ เพราะมีผลข้างเคียงทำให้ผิวบาง ช่วงที่ไม่คันมากตุ่มไม่หนาควรใช้ความเข้มข้นปานกลาง TA cream แทน

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

ทำความรู้จักกับ โรคฝีดาษลิง

โรคหูด สาเหตุ, อาการ, การรักษา

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ตุ่ม PPE คือ? https://apcocapsules.com/เรื่องของตุ่ม-ppe-c20159155092406
  • ตุ่ม PPE คืออะไร http://www.skinanswer.org/โรคผิวหนัง/ตุ่ม-ppe-คืออะไร/

Filed Under: เอชไอวี HIV Tagged With: PPE, Pruritic Papular Eruption, พีพีอี, ลักษณะตุ่ม PPE, เอชไอวี, เอดส์

เอชไอวี(HIV) ป้องกันง่ายกว่ารักษา

September 9, 2022 by 365team

เอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คหลายคนหวาดกลัวการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ และถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่น่ากลัว และไม่มีทางรักษา แต่มีวิธีการที่สามารถช่วยป้องกัน และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีนี้ได้

เอชไอวี คืออะไร?

เอชไอวี (HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเอดส์ (AIDS) คือระยะท้ายของการติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโรคแทรกซ้อนได้ เชื้อ HIV จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายลดต่ำลง ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อของโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ ได้ เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

อาการของเอชไอวี

  • ปอดอักเสบ
  • สูญเสียความจำ อาการซึมเศร้าและอาการทางระบบประสาทอื่นๆ
  • ท้องเสียเรื้อรังนานกว่าหนึ่งสัปดาห์
  • เหนื่อยผิดปกติ
  • อาการไข้ที่กลับมาเป็นซ้ำๆ
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
  • มีผื่นตามผิวหนัง ในช่องปาก จมูกและเปลือกตา
  • แผลที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศและทวารหนัก
  • อาการบวมที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้และขาหนีบ

เอชไอวี มีทั้งหมด 3 ระยะ

ระยะไม่ปรากฏอาการ

ในระยะนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนั้นจะไม่ปรากฏอาการผิดปกติใด ๆ ให้เห็น จึงดูเหมือนคนปกติที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่อาจจะมีอาการป่วยเล็กน้อย โดยเฉลี่ยนั้น จากระยะแรกเข้าสู่ระยะที่ 2 จะใช้เวลาประมาณ 7 – 8 ปี แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการอยู่ได้นานถึง 10 ปี จึงทำให้ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นๆได้ เพราะว่าผู้ที่ติดเชื้อเอดส์ส่วนใหญ่ในระยะแรก ยังไม่ทราบว่าตัวเองนั้นติดเชื้อแล้ว

ระยะปรากฏอาการ

ในระยะนี้จะตรวจพบผลเลือดบวก และมีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็นได้ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตติดต่อกันนานหลายเดือน มีเชื้อราบริเวณในปาก โดยเฉพาะกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก เป็นงูสวัด หรือแผลเริมชนิดลุกลาม มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุเกิน 1 เดือน เช่น มีไข้ ท้องเสีย ผิวหนังอักเสบ น้ำหนักลด และอื่น ๆ ในระยะนี้อาจมีอาการอยู่เป็นปี ก่อนพัฒนาลุกลามกลายเป็นเอดส์เต็มขึ้นในระยะต่อไป

ระยะโรคเอดส์

ในระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายลงไปเยอะมาก ซึ่งทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น และร่างกายก็ไม่สามารถขจัดเชื้อโรคเหล่านี้ออกไปจากร่างกายได้  ซึ่งมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าติดเชื้อชนิดใด และเกิดขึ้นบริเวิณอวัยวะส่วนใดของร่างกาย เช่น หากติดเชื้อวัณโรคที่ปอด อาการที่พบจะมีไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด แต่ถ้าเป็นเยื้อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรวดแรง อาเจียน คอแข็ง คลื่นไส้ และถ้าเป็นอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาทก็จะมีอาการซึมเศร้า แขนขาอ่อนแรง ความจำเสื่อม ซึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ในระยะสุดท้ายนี้ จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1 – 2 ปีเท่านั้น

ใครบ้างที่ควรตรวจเอชไอวี

  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ผู้ที่ตัดสินใจจะมีคู่หรือแต่งงาน
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • ผู้ที่ใช้เข็มหรือหลอดฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ที่คิดจะตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของแม่และตัวเด็ก

การป้องกันเอชไอวี

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • มีคู่นอนเพียงคนเดียว ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ 
  • ก่อนสมรส หรือมีลูก ควรมีการตรวจเลือด
  • งดใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น
  • พาคู่รักและตนเองไปตรวจเลือด หรือรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

การรักษาเอชไอวี

การรักษาเอชไอวีมีหลายประเภท รวมถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ARV) การป้องกันโรคหลังการสัมผัส (PEP) และการป้องกันโรคก่อนการสัมผัส (PrEP)

ยารักษาอาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ที่ได้รับการรับรองมากกกว่า 25 ชนิด เรียกว่า ยาต้านรีโทรไวรัส (antiretroviral drugs หรือเรียกย่อว่า ARV) ทำหน้าที่ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคสู่คนอื่น

หากมีความกังวลว่าตัวเองอาจเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี สามารถใช้ ยาต้านไวรัสหลังสัมผัสโรค (post-exposure prophylaxis หรือชื่อย่อว่า PEP) เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับยาให้เร็วที่สุด ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง

นอกจากนี้สามารถใช้ ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis หรือชื่อย่อว่า PrEP) ใช้ในผู้ไม่มีเชื้อเอชไอวีแต่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีสูง และต้องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต้องรับประทานยาทุกวันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

  • ทำความรู้จักกับ โรคฝีดาษลิง
  • ผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี

Filed Under: เอชไอวี HIV Tagged With: เอชไอวี, เอดส์, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคเอดส์

Primary Sidebar

Recent Posts

  • สาเหตุ อาการ และการรักษา โรคซิฟิลิส
  • การตรวจ HIV ในปัจจุบัน | HIV Test
  • PEP ป้องกัน HIV ในกรณีฉุกเฉิน
  • สารพัดประโยชน์ของถุงยางอนามัย
  • เอชไอวีป้องกันได้ ด้วยการทาน “PrEP”

Archives

  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • November 2021
  • September 2021
  • April 2021
  • November 2020
  • September 2020
  • May 2020
  • April 2020

Categories

  • PEP
  • PrEP
  • Uncategorized
  • ตรวจเอชไอวี
  • ถุงยางอนามัย
  • ยาต้านไวรัส
  • หนองใน
  • หนองในเทียม
  • หนองในแท้
  • เอชไอวี HIV
  • เอดส์
  • แผลริมอ่อน
  • โรคซิฟิลิส
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โรคฝีดาษลิง
  • โรคฝีมะม่วง
  • ไวรัสตับอักเสบบี

Copyright © 2023 · Genesis Sample on Genesis Framework · WordPress · Log in