โรคฝีดาษลิง โรคนี้พบมากในแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก พบผู้ป่วยในประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร มักเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศหรือการนำเข้าสัตว์ติดเชื้อ โรคฝีดาษลิงเคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิดโดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้
โรคฝีดาษลิง คือ ?
โรคฝีดาษลิง ฝีดาษวานร หรือ Monkeypox เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะบนทวีปแอฟริกา โดยเชื้อไวรัสนี้แพร่เชื้อไปยังสัตว์อื่น และสามารถแพร่จากสัตว์ไปสู่คนได้ ซึ่งการรายงานที่พบโรคนี้ครั้งแรกเกิดจากลิงในห้องทดลอง จึงเรียกว่าฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานรนั่นเอง ซึ่งหมายความว่าลิงไม่ใช่แหล่งกำเนิดของโรคนี้อย่างที่เข้าใจกัน การระบาดที่พบในตอนนี้ เกิดในประเทศบนทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปเป็นส่วนใหญ่
การวินิจฉัยโรคฝีดาษลิง
การวินิจฉัยอาการ ว่าเป็นโรคฝีดาษลิงหรือไม่ แพทย์จะทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยวิธี PCR ของเหลวจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง การดำเนินโรคใช้เวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10 % โดยมีสาเหตุจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในปอด การขาดน้ำและภาวะสมองอักเสบ
อาการโรคฝีดาษลิง
- ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน
- อาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย
- 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนในหน้าและลำตัว
- ระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดมา
การป้องกันโรคฝีดาษลิง
- หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ
- หลังกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์
การรักษาโรคฝีดาษลิง
หากพบว่าเป็นโรคฝีดาษลิง สามารถรักษาโดยให้ยาต้านไวรัส Cidofovir, Tecovirimat, Brincidofovir ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพิ่มเติม
ขอบคุณข้อมูลจาก : paolohospital ,bpksamutprakan ,princhealth