ต้องยอมรับว่ากลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบัน มีโอกาสพบเจอกันได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น จากแอพพลิเคชั่นออนไลน์ทั่วไป อันเป็นเหตุมาซึ่งความเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน หนึ่งในกามโรคที่ตรวจพบได้บ่อยไม่น้อยไปกว่าไวรัสเอชไอวี เลยก็คือ “โรคหนองในเทียม” ซึ่งจะพบได้ในกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย กลุ่มผู้ใช้บริการทางเพศ หรือกลุ่มคนที่มีรสนิยมไม่ชอบสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจเนื่องมาจากการที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษา การป้องกันโรค หรืออาจมีแนวคิดว่าการสวมถุงยางอนามัยมันไม่เท่ห์ และทำให้อรรถรสในการมีเพศสัมพันธ์ลดน้อยลง
โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis) เกิดจากการติดเชื้อจากหลายปัจจัย ได้แก่ แบคทีเรีย โปรโตซัว เชื้อรา แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Chlamydia Trachomatis ซึ่งพบได้ประมาณ 40% ที่สังเกตอาการได้ชัดเจนที่สุดและระบุได้ว่าไม่ใช่โรคหนองในแท้ คือ หนองในเทียมจะไม่มีการติดเชื้อหนอง มีระยะฟักตัวของโรคหลังจากได้รับเชื้อ มักจะแสดงอาการภายใน 7-14 วันขึ้นไป
Table of Contents
การติดต่อของโรคหนองในเทียม
หนองในเทียม จะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้สวมถุงยางอนามัยเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก ทั้งในคู่รักชายหญิงทั่วไป กลุ่มชายรักชาย หรือหญิงรักหญิงด้วยก็สามารถทำให้ติดเชื้อหนองในเทียมได้เช่นกัน เพราะเชื้อนี้สามารถติดต่อกันได้แม้เพียงสัมผัสโดนบริเวณโรค นอกจากนี้ยังอาจติดต่อจากแม่ไปสู่ลูก ในขณะที่มีการคลอดปกติทางช่องคลอดได้อีกด้วย
อาการของโรคหนองในเทียม
ในระยะแรกที่ติดเชื้อใหม่ ๆ แทบจะไม่มีอาการอะไรแสดงออกมา จนกว่าจะติดเชื้อได้สักประมาณ 7-30 วันขึ้นไปแล้ว หากมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (การทำออรัลเซ็กส์) อาจมีโอกาสติดเชื้อในลำคอ มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง เป็นไขและไอ หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก จะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณนั้น อาจมีน้ำ หรือเลือดออกมาจากทวารหนักได้ การติดเชื้อหนองในเทียม ยังสามารถกระจายไปที่ลำไส้ตรงซึ่งเป็นส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ ที่ต่อกับทวารหนักได้ด้วย โดยอาการจะแบ่งออกตามเพศ ดังนี้
ในเพศชาย
- จะมีมูกใส ๆ หรือขุ่น ไหลซึมออกมาจากปลายอวัยวะเพศเล็กน้อย แต่ไม่มีลักษณะข้น และออกมาเยอะมากแบบโรคหนองในแท้ (ไม่ใช่ปัสสาวะ หรือน้ำอสุจิ)
- รู้สึกเจ็บ หรือมีอาการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
- เวลาปัสสาวะจะรู้สึกเจ็บ หรือแสบที่อวัยวะเพศ ปวดบวมที่ลูกอัณฑะ
ในเพศหญิง
- มีอาการตกขาวลักษณะผิดปกติ และมีกลิ่นเหม็น
- เวลาปัสสาวะจะรู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศ เหมือนกับเพศชาย
- รู้สึกคัน หรือแสบร้อนบริเวณรอบอวัยวะเพศ
- เจ็บท้องน้อย ปวดหลัง มีไข้ คลื่นไส้ ในช่วงที่มีประจำเดือน
- มีเลือดออกผิดปกติในขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์ หรือระหว่างที่ยังไม่เป็นประจำเดือน
อาการดังกล่าวข้างต้นนี้ จะป้องกันได้ด้วยการใส่ใจในการป้องกันตนเองเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง ก็จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อหนองในเทียมได้มากขึ้น แต่หากติดเชื้อแล้วควรรีบตรวจ รีบรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ เพราะอาการเหล่านี้ อาจจะเป็นแบบเรื้อรังนานแรมเดือนแรมปี และยังส่งต่อเชื้อให้กับคู่นอนของคุณไปเป็นทอด ๆ ทำให้รักษาไม่หายขาด เพราะฉะนั้นหากคุณมีความเสี่ยง วิธีการที่จะยับยั้งไม่ให้เชื้อลุกลามเป็นปัญหาไปมากกว่านี้ คือ การตัดสินใจไปตรวจหาเชื้อ และทำการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง ผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะดีที่สุด
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม