• Skip to primary navigation
  • Skip to main content
  • Skip to primary sidebar

ThaiHiv365

Never leave someone behind.

  • หน้าแรก
  • จองคิวตรวจเอชไอวี
  • เอชไอวีและเอดส์
    • การรักษาเอชไอวี
    • การป้องกันเอชไอวี
    • การตรวจเอชไอวี
    • เอดส์ คืออะไร
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • โรคหนองในเทียม
    • โรคหนองใน ภัยร้ายใกล้ตัว รู้ก่อนรักษาได้
    • โรคหูดข้าวสุก
    • โรคหูดหงอนไก่
    • โรคเริม
    • แผลริมอ่อน
    • โรคซิฟิลิส
  • เพร็พ PrEP/ เป็ป PEP
    • เพร็พ PrEP
    • เป๊ป PEP
  • บทความ
  • ถาม-ตอบ
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา

HIV

แยกให้เป็น HIV กับ AIDS ไม่เหมือนกัน

January 18, 2023 by thaihiv365 team

ถ้าพูดถึง HIV กับ AIDS คนหลายคน ก็เกิดมีความกลัวอย่างเห็นได้ชัด เพราะยังมีชุดความรู้ผิดๆ เกี่ยวกับเชื้อนี้อยู่มาก เนื่องจากยังไม่ค่อยมีสื่อเรื่องเพศศึกษา และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในสถานศึกษาอย่างจริงจัง พอได้ยินว่า “เลือดบวก” ก็จะตีความว่าเขาเป็นโรคเอดส์ทันที ในบทความนี้จะแยกให้เห็นว่า HIV กับ AIDS ไม่ได้เหมือนกันอย่างที่คิดครับ

แยกให้เป็น HIV กับ AIDS ไม่เหมือนกัน

HIV กับ AIDS แตกต่างกันอย่างไร?

ความแตกต่างของ HIV กับ AIDS นั่นง่ายมาก เพราะ HIV คือ ไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค AIDS หมายความว่า AIDS เป็นเพียงอาการของผู้ที่ติดเชื้อ HIV และไม่ได้รับการรักษาเท่านั้น จึงจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคเอดส์ได้ในตอนท้าย สรุปอีกครั้งว่า HIV เป็นเชื้อไวรัส แต่ AIDS เป็นเพียงอาการของคนที่ไม่ได้รักษานั่นเอง ซึ่งกว่าจะกลายเป็นโรคแทรกซ้อน ไวรัสเอชไอวีจะต้องเข้าสู่ร่างกายมาสักระยะและผู้นั้นไม่ได้ทานยาต้านไวรัสเอชไอวี ตัวไวรัสจึงแพร่กระจายตัวไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้พังลงได้ในที่สุด

HIV ติดต่อได้ผ่าน

  • การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น และ
  • การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก (พบได้น้อย)
HIV ติดต่อได้ผ่าน

อาการของ HIV กับ AIDS

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า AIDS ที่เป็นอาการของผู้ติดเชื้อ HIV นั้นมีความเกี่ยวเนื่องกัน แต่ในระยะแรกที่ได้รับเชื้อมาใหม่ๆ คนๆ นั้นจะแทบไม่มีอาการใดปรากฏให้เห็นเลย หรือถ้ามีก็น้อยมากจนไม่ทันสังเกต เพราะอาจคิดว่าป่วยเป็นโรคธรรมดาทั่วไป โดยเราจะแบ่งระยะอาการออกเป็น 3 ระยะดังนี้

  1. ระยะติดเชื้อเฉียบพลัน : ระยะนี้จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีมาแล้ว ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ซึ่งจะมีอาการคล้ายกับคนเป็นไข้หวัด เช่น
    • ต่อมน้ำเหลืองโต
    • มีผื่นขึ้นตามร่างกาย
    • ปวดเนื้อเมื่อยตัว ไม่มีเรี่ยวแรง
    • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องเสีย
    • เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เจ็บคอ
  2. ระยะเริ่มแสดงอาการ : ระยะนี้ จะค่อยๆ เริ่มมีอาการ โดยจะใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 7-10 ปีขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ติดเชื้อ แต่ก็ยังไม่อาจระบุได้ว่าเข้าสู่ภาวะเอดส์อย่างเต็มขั้น ซึ่งอาการจะค่อนข้างคล้ายคลึงในช่วงแรกที่ติดเชื้อ แต่อาจมีโรคอย่างอื่นด้วย เช่น
    • โรคงูสวัด
    • เกิดเชื้อราในช่องปาก
    • มีแผลเริมที่อวัยวะเพศ
    • พบผื่นคันตามร่างกาย คล้ายคนเป็นภูมิแพ้
  3. ระยะเอดส์ : ระยะนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภูมิต้านทาน ในระดับต่ำมากๆ หรือผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่ได้รับการรักษา เชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าไปทำลายเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย และไม่มีภูมิต้านทานมาช่วยได้ ส่งผลทำให้มีโรคฉวยโอกาสเข้ามาได้บ่อยๆ เช่น
    • วัณโรค
    • โรคติดเชื้อในปอด
    • โรคติดเชื้อในสมอง
    • โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น

มาป้องกันตัวเองจาก HIV กับ AIDS กันเถอะ!

อยากห่างไกลจากโรคเอดส์ ทำได้ง่ายๆ เลยเรื่องเดียวคือ ให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเอง เพราะเมื่อเราเซฟตัวเองดี คนอื่นรอบข้างก็ไม่มีความเสี่ยงไปด้วย

  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ รักเดียว ใจเดียว
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หมั่นตรวจเอชไอวีเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

HIV กับ AIDS ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

หากเราเรียนรู้และยอมรับเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น จะเห็นได้ว่า การอยู่ร่วมกับผู้มีเชื้อเอชไอวีไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวแต่อย่างใด เพราะเขาเหล่านี้ก็คือมนุษย์ปกติเหมือนกับเรา เพียงแต่เจ็บป่วยด้วยโรคประเภทหนึ่งเท่านั้น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเรา เรียน ทำงาน หรือแม้แต่มีครอบครัว มีลูกได้เหมือนกัน ในความเป็นจริง คนที่ติดเชื้อและทำการรักษาเอชไอวีด้วยยาต้าน จะถูกกลไกของยาคอยควบคุมเชื้อไม่ให้แพร่กระจาย ไปทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ และเขาจะได้รับการติดตามผลการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะยานี้จำเป็นต้องทานไปตลอดชีวิต จนกว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนามาให้กลุ่มผู้ติดเชื้อได้รักษาเอชไอวีให้หายขาดไปได้จริงจากร่างกายในอนาคตครับ

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม

  • โรคฝีมะม่วง ภัยร้ายใกล้ตัว
  • เจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ อาการบ่งบอกถึงโรค “หนองใน”

Filed Under: เอชไอวี HIV Tagged With: AIDS, HIV, โรคเอดส์, ไวรัสเอชไอวี

CD4 ที่เท่าไหร่ถึงเรียกว่าระดับน่าเป็นห่วง

November 22, 2022 by thaihiv365 team

CD4 ที่เท่าไหร่ถึงเรียกว่าระดับน่าเป็นห่วง

HIV เป็นเชื้อไวรัสที่จะทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค และเชื้อไวรัสต่าง ๆ เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาว ถูกทำลายจนอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะถูกเชื้อไวรัสเอชไอวีโจมตีจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้และก่อให้พัฒนาจนกลายเป็นโรคเอดส์ (AIDS) เต็มขั้น

การตรวจวัดจำนวน CD3/CD4/CD8 ในกระแสเลือด ซึ่งเป็น CD ที่มีความจำเพาะกับเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันชนิดที่ต้องมีการกระตุ้น ( Adaptive Immune Response ) คือ กลุ่มเม็ดเลือดขาว ชนิดที่สร้างแอนติบอดี ( B cells ) หรือ กลุ่มเม็ดเลือดขาวที่เป็นหน่วยความจำ ( T cells ) และมีความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย

CD4 คืออะไร?

CD4 cells ย่อมาจากคำว่า Cluster of Differentiation 4 บางครั้งถูกเรียกว่า T-cells หรือ T-helper cells 

CD4 คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่มีหน้าที่ควบคุม และต่อสู้กับเชื้อโรค และมีบทบาทในการจัดระบบภูมิต้านทานของร่างกายต่อการติดเชื้อ แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส

หลายคนอาจยังเข้าใจผิดว่า CD4 คือ เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือภูมิต้านทานในร่างกายของผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพียงเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว ในคนที่ร่างกายปกติก็มีเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือ CD4 เช่นเดียวกัน

กลไกของการติดเชื้อเอชไอวี หรือกระบวนการทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวของของเชื้อเอชไอวีกัน

การเข้าใจกลไกของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เป็นการช่วยให้เราเข้าใจการทำงานของยาต้านไวรัส แต่ละประเภทด้วย โดยมี 5 ขั้นตอน ดังนี้

1. เชื้อเอชไอวีเริ่มยึดเกาะเข้ากับผนัง CD4 โดยใช้หนามที่มีอยู่รอบ ๆ เซลล์แทงยึดที่เต้ารับของ CD4  จากนั้นจะเริ่มแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรการติดเชื้อเอชไอวี

2. หลังจากที่ยึดเแน่นแล้ว เยื่อหุ้มเอชไอวีจะผสานเป็นหนึ่งเดียวกับเยื่อหุ้ม CD4 เมื่อเจาะเกราะหุ้ม CD4 ได้ เชื้อเอชไอวีจะพุ่งเข้าไปในเซลล์ CD4 ทันที

3. เมื่อเข้าเซลล์ได้ รหัสพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี (RNA) จะพุ่งสู่ใจกลางเซลล์ CD4 และก๊อบปี้ตัวเองขึ้นมา โดยขโมยโปรตีนของเซลล์ CD4 มาใช้ในการสร้างเนื้อตัวของลูกหลานตัวใหม่ เซลล์เอชไอวีรุ่นใหม่จะมีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าของเก่า

4. เมื่อได้ทุกสิ่งอย่างครบตามองค์ประกอบเดิมเชื้อเอชไอวี ตัวใหม่ก็จะผุดออกมาจากเซลล์ CD4 โดยดึงเนื้อหนังมังสามาจากผนังของ CD4 มาสร้างเปลือก

5. กองทัพเชื้อเอชไอวีถูกปล่อยออกมาจาก CD4 พร้อม ๆ กันหลายตัว การแบ่งตัวแบบทวีคูณนี้ทำให้เชื้อเอชไอวีสามารถรวมกันเป็นขบวนการทำร้าย CD4 เซลล์อื่น ๆ ที่ยังแข็งแรงได้อย่างรวดเร็ว

หลังจากเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3-12 สัปดาห์ ร่างกายจะสังเคราะห์แอนติบอดี้เพื่อตรวจจับสิ่งแปลกปลอมออกมา เพื่อจะจับกุมเชื้อเอชไอวี แต่ก็สายไปแล้ว แอนติบอดี้ที่ร่างกายผลิตขึ้นมานี้ คือ สารที่ตรวจเจอเวลาเราไปตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีนั้นเอง

หลังจากที่ CD4 ถูกทำลายแล้วจะเป็นอย่างไร

CD4 ที่ถูกเชื้อเอชไอวีใช้ในการแบ่งตัวจะไม่สามารถทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอม ได้อีกต่อไป CD4 เหล่านั้นจะหมดสภาพ และถูกทำลายไป ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทางตรง:  CD4 ที่ติดเชื้อจะเอชไอวีถูกขโมยเนื้อเยื่อ และสารประกอบไปผลิตเชื้อเอชไอวีตัวใหม่ และเมื่อลูกหลานของเชื้อเอชไอวีจำนวนมากผุดออกมาจากเซลล์ CD4 ตัวนั้นจะตายลง เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในถูกทำลายอย่างหนัก หรือถ้ายังไม่ตายในทันทีก็ จะหมดอายุและตายในเวลาต่อมา

ทางอ้อม:  CD4 ที่ติดเชื้ออาจตั้งโปรแกรม ทำลายตัวเอง (Apoptosis) เมื่อระบบ และกลไกการทำงานของเซลถูกรบกวนจากการผลิตลูกหลานของเชื้อเอชไอวี ผู้มีเชื้อส่วนใหญ่ จะมีเซลล์ Apoptosis ในกระแสเลือด และต่อมน้ำเหลืองจำนวนมากกว่าคนที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี

ปริมาณ CD4 ในกลุ่มคนไม่ติดเชื้อเอชไอวี

คนปกติที่มีสุขภาพแข็งแรง ระดับปกติของ CD4 ในคนที่ไม่ติดเชื้อ HIV จะอยู่ระหว่าง 400 – 1600 ต่อ เลือด 1 ลบ.มม. โดยจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติระหว่าง 4,500 ถึง 10,000 เม็ดเลือดขาว หรือ wbc white blood cell ต่อไมโครลิตร

CD 4 ของผู้หญิงที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี นั้นจะมีแนวโน้นมที่สูงกว่าเล็กน้อย คือ 500 – 1600.

ถึงแม้ว่าถ้าคุณไม่มีเชื้อเอชไอวี แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณ CD4 ตามตัวอย่างต่อไปนี้

  • ผู้หญิงมี CD4 สูงกว่าผู้ชาย ประมาณ 100
  • CD4 ของผู้หญิงจะขึ้นและลงในช่วงที่มีประจำเดือน
  • ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดจะทำให้ CD4 ลดลงได้
  • บุคคลที่สูบบุหรี่จะมีแนวโน้มที่มี CD4 สูงกว่าปกติ ประมาณ 140
  • CD4 จะลดระดับลงในขณะที่ร่างกายพักผ่อน และลดลงได้มากถึง 40%
  • การหลับสนิทจะหมายถึง คุณจะมี CD4 ที่ต่ำในช่วงเช้า แต่จะมี CD4 ที่สูงขึ้นในช่วงบ่าย

ปัจจัยที่กล่าวมาไม่ทำให้เกิดความแตกต่างในการต่อต่านเชื้อโรคของระบบภูมิต้านทาน เนื่องจาก

CD4 ส่วนน้อยที่อยู่ในกระแสเลือด ส่วนที่เหลืออยู่ใน lymph nodes และ เนื้อเยื่อ และ การขึ้นลงที่กล่าวมาข้างบนนั้นอาจจะเกิดจากการย้ายตัวของ CD4 ระหว่าง เลือด และ เนื้อเยื่อ

CD4 ที่เท่าไหร่ถึงเรียกว่าระดับน่าเป็นห่วง

ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจากการตรวจวัด CD4 จะอยู่ที่ระดับน้อยกว่า 200  ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ เรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาสเนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ทั้งนี้หากผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัส จะทำให้ค่า CD4  เพิ่มขึ้นตามลำดับ และจะเริ่มคงที่อยู่ที่ระดับ 500 – 600 ตามแต่สภาพทางร่างกายของแต่ละคน แต่ถึงอย่างไรแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่มีร่างกายปกติ การรับประทานอาหารให้ครบ  5 หมู่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการพักผ่อนที่เพียงพอก็จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีได้

CD4 สำคัญอย่างไรกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี?

ในการติดเชื้อเอชไอวีมีเพียงประมาณ 5-10% ของเซลล์ภูมิคุ้มกัน CD4 ส่วนที่เหลือ 90-95% ตายแล้วจากการทำลายของเชื้อเอชไอวี จะเห็นได้ว่าการที่ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน เกิดจากจำนวน cd4 ที่ลดลง มากกว่าปัญหาจากจำนวนเชื้อเอชไอวี ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะถือว่าผู้ติดเชื้อนั้นเข้าสู่ระยะที่เป็นโรคเอดส์  และมีโอกาสที่จะเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส  เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อ Pneumocystis (PCP) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบมากในผู้ป่วยเอดส์เป็นอันดับ 2 รองจากวัณโรค

ระดับ CD4กำหนดยาต้านไวรัสเอชไอวี

ระดับ CD4 และการรักษาเอชไอวี

ระดับ CD4 จะช่วยกำหนดการเริ่มรับยาต้านไวรัสเอชไอวี และเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการรักษาได้ผลหรือไม่ 

เมื่อระดับ CD4 ของคุณต่ำกว่า 350 แพทย์จะเริ่มแนะนำให้คุณรับยาต้านไวรัส ซึ่งในระดับนี้ยังขึ้นอยู่กับคุณว่าต้องการรับยาต้านหรือไม่ แต่ ถ้า CD4 อยู่ที่ 200-250 คุณควรจะต้องรับยาต้านไวรัส เนื่องจากระดับ CD4 บ่งชี้ว่าคุณมีความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อการเป็นโรคเอดส์ แต่ถ้าคุณรอจนกระทั้ง CD4 อยู่ในระดับต่ำกว่า 200 คุณมีแนวโน้มที่ตอบสนองต่อยาต้านไวรัสได้น้อย ในขณะที่คนที่มี CD4 มากว่า 350 จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆเลย ถ้าบุคคลนั้นรับยาต้านไวรัส

เมื่อคุณ เริ่มรับยาต้านแล้ว ระดับ CD4 จะเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่ถ้าระดับ CD4 ยังคงลดลงในการตรวจหลายๆครั้ง คุณควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการผิดปกติในการรักษา

ทำไมต้องเพิ่ม CD4 อย่างรวดเร็ว

การเพิ่ม CD4 ให้สูงขึ้น มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วย และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย มากกว่าการลดจำนวนเชื้อเอชไอวี ให้น้อยลง เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยมีค่า CD4 เพิ่มสูงขึ้นจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ หรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาสต่าง ๆ ได้ด้วย

การเพิ่ม CD4  โดยทั่วไป อาจทำได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ  การทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และการออกกำลังกายสามารถเพิ่ม CD4 ได้

บทความอื่นๆเพิ่มเติม

ผลข้างเคียงของยาต้านไวรัสเอชไอวี
ผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • การตรวจ CD3/CD4/CD8 Cell Count คืออะไร? https://wincellresearch.com/cd3-cd4-cd8/
  • CD4 คืออะไร? http://buddystation.ddc.moph.go.th/basic005/
  • CD4 คืออะไร https://www.scimath.org/article-science/item/8478-cd4
  • CD4 คืออะไร https://sites.google.com/site/aidsfriend/knowledge/cd4-khux-xari

Filed Under: Uncategorized Tagged With: CD4 cells, CD4 คืออะไร?, Cluster of Differentiation 4, HIV, T-cells, เอชไอวี

ตรวจหาเชื้อเอชไอวีไม่เจอ ควรตรวจซ้ำอีกรอบหรือไม่?

October 19, 2022 by thaihiv365 team

ตรวจหาเชื้อเอชไอวีไม่เจอ

การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี  ถ้าผลตรวจออกมาเป็นลบ หรือไม่เจอเชื้อ ก็เป็นการได้เริ่มต้นป้องกันตัวเองอย่างจริงจัง หรือถ้าตรวจเจอเชื้อ ก็ถือว่าเป็นการรู้ตัวก่อนที่จะป่วยขึ้นมา เพื่อได้เข้าสู่กระบวนการรักษาแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่ป่วยหรือ เสียชีวิตจากโรคเอดส์ อีกทั้งสามารถป้องกันคนที่เรารักและคนอื่นๆ ไม่ให้ติดเชื้อจากเราได้

การตรวจหาเชื้อเอชไอวี สามารถแบ่ง 2 ลักษณะ คือ ตรวจคัดกรอง และตรวจยืนยัน

1. การตรวจคัดกรอง คือ การตรวจเพื่อกรองบุคคลผู้มีความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อเอชไอวี ว่ามีโอกาสได้รับเชื้อหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจโดย Rapid Test เป็นชุดตรวจที่ตรวจง่าย รู้ผลรวดเร็วภายในไม่กี่นาที ซึ่งมีความแม่นยำสูง 

หากผลตรวจพบว่า มีโอกาสพบเชื้อเอชไอวี ผู้ตรวจควรดำเนินการตรวจยืนยันที่โรงพยาบาล หรือคลินิกได้ทันที การตรวจแบบคัดกรองนี้ไม่สามารถยืนยัน หรือสรุปได้ว่าคุณเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี

2. การตรวจยืนยัน คือ การตรวจยืนยัน อีกครั้งหลังจาก คุณทำการตรวจคัดกรองมาแล้ว และพบว่ามีโอกาส ได้รับการติดเชื้อเอชไอวี 

ทำไมถึงต้องตรวจคัดกรองก่อน เพราะปัจจุบัน การตรวจยืนยัน ยังอาจใช้เวลานาน กว่าจะทราบผล และมีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมาก ดังนั้นหากมีการตรวจคัดกรองมาก่อน ก็จะสามารถช่วยคัดกรองผู้ป่วย ที่มีโอกาสพบเชื้อ กับผู้ที่ไม่มีโอกาสพบเชื้อ ให้สามารถเข้าสู่ระบบการตรวจรักษาได้เร็วขึ้น และลดภาระงาน ในการตรวจของเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น

ตรวจเอชไอวีไม่เจอ เกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง

การจะแพร่เชื้อได้นั้น จะต้องมีปริมาณของเชื้อไวรัสมากพอสมควร โดยเกณฑ์ที่ใช้เทียบเคียง คือ ต้องมีปริมาณไวรัสในเลือดตั้งแต่ 200 – 1,000 copies/ซีซีของเลือด จึงจะสามารถแพร่เชื้อได้ และชุดตรวจเอชไอวีในปัจจุบัน สามารถตรวจได้ต่ำสุดตั้งแต่ 20-50 copies/ซีซีของเลือด

การตรวจเอชไอวีไม่เจอนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ จาก 2 กรณี ได้แก่

  • กรณีที่ 1 คือ ระยะเวลาในการตรวจนั้น เร็วเกินไป ผู้ที่ได้รับความเสี่ยงมา บางคนอาจจะใจร้อน รีบตรวจเกินไปร่างกายยังไม่มีการสร้างแอนติบอดีขึ้นมา ทำให้หากตรวจในระยะเวลาที่เร็วเกินไปอาจจะตรวจไม่เจอเอดส์ นั่นเอง 

    ปัจจุบันวิธีการตรวจจะพัฒนาขึ้นมาก และสามารถตรวจได้เร็วสุดภายในหนึ่งสัปดาห์ ด้วยวิธีการตรวจแบบ NAT แต่หากตรวจด้วยวิธีอื่น ระยะเวลาที่ดีที่สุดที่สมควรตรวจ คือ 30 วัน และควรตรวจซ้ำอีกทุก 30 วัน เป็นเวลา 3 เดือน หรือตรวจอีกครั้งหลัง 3 เดือน ก็สามารถทำได้ แต่หากตรวจพบว่ามีโอกาสพบเชื้อตั้งแต่ครั้งแรก ให้รีบตรวจยืนยันที่โรงพยาบาล หรือคลินิก ทันที หากไม่พบเชื้อถึงจะสามารถปิดเคสได้

  • กรณีที่ 2 คือ เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว โดยรับประทานยาต้านไวรัสสอย่างต่อเนื่อง ในทุกๆ วัน ติดต่อกันนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่จะมีปริมาณไวรัสเอชไอวีอยู่ในเลือดต่ำกว่า 50 copies ต่อซีซีของเลือด ชุดทดสอบจึงตรวจไม่เจอ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เชื้อหมดจากร่างกายแล้ว เพียงแต่ทานยาต้านไวรัสต่อเนื่อง แต่หากหยุดทานยา เชื้อก็จะเพิ่มขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์
ตรวจอีกครั้งหลัง 3 เดือน

ตรวจหาเชื้อ HIV มีโอกาสได้ผลผิดพลาดไหม?

มีโอกาสผิดพลาด คือ ได้รับผลการทดสอบเอชไอวีผิดพลาด จากการทดสอบที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ผิดพลาดตามไปด้วย เพราะการทดสอบมีระยะเวลา 3-6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ใครๆ ก็สามารถติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่ไวรัสจะไม่ปรากฏในการทดสอบแอนติบอดี ซึ่งหมายความว่าอาจมีคนติดเชื้อเอชไอวีในช่วงเวลาดังกล่าว แต่จะไม่ปรากฏในการทดสอบแอนติบอดีจนกว่าจะผ่านไปนาน 6 เดือน

ตรวจเอชไอวีไม่เจอ เท่ากับไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อแล้วหรือเปล่า?

  • ระยะเวลาในการตรวจนั้น เร็วเกินไป หลังไปเสี่ยงสัมผัสเชื้อมา  แนะนำให้ตรวจอีกรอบ เพื่อความมั่นใจ ในระยะที่น่าเชื่อถือ หรือระยะการตรวจเชื้อ หากไม่พบเชื้อถึงจะสรุปได้ว่าไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ
  • การกินยาต้านไวรัสที่ทานมาอย่างยาวนาน ออกฤทธิ์ไปกดเชื้อไว้ ไม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้น ไม่ให้เชื้อทำอันตรายต่อร่างกายไปมากกว่านี้ ซึ่งการตรวจอาจจะไม่เจอเชื้อไวรัส แต่เชื้อไวรัสเอชไอวียังคงอยู่ในร่างกายไม่หายขาด สรุปก็คือเป็นผู้ติดเชื้ออยู่นั่นเอง

U = U ตรวจไม่เจอเชื้อเอชไอวี = ไม่แพร่เชื้อ จริงหรือไม่

U=U หรือ Undetectable = Untransmittable คือ ไม่เจอ = ไม่แพร่ ดังนั้นหากทำการตรวจไม่เจอเชื้อเอชไอวี ก็จะไม่สามารถถ่ายทอด หรือแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้

หากตรวจเลือดแล้ว ไม่เจอว่ามีการติดเชื้อ และไม่ทำตัวเองให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อขึ้นอีกได้ การตรวจไม่เจอว่าติดเชื้อ ก็คือไม่แพร่เชื้อเช่นกัน แต่ถ้าหากมีพฤติกรรมเสี่ยงอยู่ เช่น การไม่สวมถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือการใช้ PrEP หลังจากเสี่ยงสัมผัสเชื้อ ก็ทำให้เป็นผู้ที่ไม่ติดเชื้อมีโอกาสติดเชื้อได้อยู่

บทความอื่นๆเพิ่มเติม

ควรตรวจ HIV เมื่อไร?

เอชไอวี(HIV) ป้องกันง่ายกว่ารักษา

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ตรวจเอดส์ ไม่เจอ เกิดอะไรขึ้นกันแน่ ? http://www.thaihivhometest.com/ตรวจเอดส์-ไม่เจอ/
  • ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ (Undetectable = Untransmissable, U = U) http://www.thaiaidssociety.org/index.php?option=com_content&view=article&id=179&Itemid=90

Filed Under: ตรวจเอชไอวี, เอชไอวี HIV Tagged With: HIV, การตรวจหาเชื้อเอชไอวี, ตรวจเอชไอวี, ตรวจเอชไอวีไม่เจอ, เอชไอวี, เอดส์, โรคเอดส์

ทำความรู้จักกับยาต้านไวรัสเอชไอวี (ARV)

October 10, 2022 by thaihiv365 team

ทำความรู้จักกับยาต้านไวรัสเอชไอวี (ARV)

เอชไอวี คือ เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคเอดส์เสมอไป หากมีการติดเชื้อเอชไอวีแล้วนั้นเชื้อจะอยู่ในร่างกายผู้ติดเชื้อตลอดไป 

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดได้ แต่มียาต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งถ้าผู้ติดเชื้อเอชไอวีกินยาได้เร็ว กินยาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ สามารถทำให้ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อเอชไอวีนี้ไปยังผู้อื่นได้ด้วย

ยาต้านไวรัสเอชไอวีคืออะไร?

ยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้สูงสุดถึง 99% หากมีการใช้อย่างถูกวิธี

Exposure prophylaxis เป็นยาที่ทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เท่านั้น ไม่ได้รวมถึงโรคอื่น โดยก่อนการรับยาต้องมีการประเมินความเสี่ยงจากประวัติของคนไข้ว่าตรงตามเงื่อนไขการรับยาหรือไม่ ประกอบกับการตรวจเลือดตามมาตรฐานสากล(คนไข้ที่จะรับยาจะต้องมีผลเอชไอวี เป็นลบ) และยาในกลุ่มนี้ต้องพิจารณาจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น

ซึ่งจะใช้ช่วงก่อนหรือหลังจากการสัมผัสเชื้อเอชไอวี สำหรับยาที่รับประทานเพื่อลดความเสี่ยงก่อนการติดเชื้อนั้น เรียกว่ายา PrEP ซึ่งย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis (ยาต้านก่อนเสี่ยง) และยาที่รับประทานเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังจากสัมผัสเชื้อนั้น เรียกว่ายา PEP โดยย่อมาจาก Post -Exposure Prophylaxis (ยาต้านฉุกเฉิน)

ยาต้านหรือยารักษาเอชไอวี มีกี่แบบ

ปัจจุบันยาต้าน ยารักษา HIV หรือที่เรียกว่ายา Antiretroviral (ARV) นั้นที่ใช้กันนั้น ดังนี้

  1. Nucleoside reverse transcriptase inhibitors (RTIs)  มีกลไกลการยับยั้งการทำงานของ Reverse transcriptase ซึ่งเป็นenzymeที่ไว้เปลี่ยน RNA ของเชื้อเป็น DNA เพื่อใช้ในการเข้าสู่ host cell ซึ่งส่งผลทำให้การเชื่อมต่อสารพันธุกรรมของเชื้อหยุดลง เชื้อไวรัสจึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนต่อไปได้  ยาในกลุ่มนี้เช่น AZT (Retrovir), DDI (Videx), DDC (Hivid), 3TC (Epivir), และ D4T (Zerit) enofovir disoproxil fumarate (TDF), Emtricitabine (FTC) เป็นต้น
  2. Protease inhibitors (PIs) มีกลไกรบกวนการทำงานของ Protease ซึ่งทำให้เชื้อไม่สามารถรวมโปรตีนเพื่อสร้างเซลล์ใหม่ได้ เช่น Indinavir (Crixivan), Nelfinavir (Viracept), Ritonavir (Norvir), Saquinavir, Lopinavir+Ritonavir (LPV/r)
  3. Non-nucleoside reverse transcriptase Inhibitor (NNRTIs) มีกลไกของยากลุ่มนี้จะยับยั้งการทำงานของ Reverse transcriptase เช่นเดียวกับยากลุ่ม NRTIs มียาที่ใช้อยู่ เช่น Delavirdine (Rescriptor), Efavirenz (Sustiva), Nevirapine (Viramune) Efavirenz (EFV), Rilpivirine (RVP)
  4. Integrase inhibitor strand transfer inhibitor (INSTs) มีกลไลยับยั้งกระบวนการ integration โดยในยากลุ่มนี้จะยับยั้งการทำงานของ integrase ของเชื้อที่ใช้ในการเชื่อมสาย DNA ของตัวเชื้อเข้ากับ host cell ยาในกลุ่มนี้ เช่น Dolutegravir (DTG), Bictegravir (BIC)

ใครบ้างควรรับยาต้านไวรัสเอชไอวี

เมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคเอดส์ เซลล์ CD4 ลดลง มีปริมาณเชื้อมาก (viral load) การรักษาผู้ป่วยจะแยกเป็นกรณี ดังนี้

  • การรักษาหลังสัมผัสโรคติดเชื้อเอชไอวี( Post-Exposure Prophylaxis) ผู้ที่ได้รับสัมผัสเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง การให้ยาแก่คนที่สัมผัสโรคสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ โดยผู้ที่สัมผัสโรคต้องปรึกษากับแพทย์ว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ให้ยา และจะให้ยานานแค่ไหน ผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง
  • Primary Infection หมายถึงภาวะตั้งแต่เริ่มได้รับเชื้อจนกระทั้งภูมิต่อเชื้อHIV เพิ่มจนสามารถตรวจพบได้ ระยะนี้มีเวลาประมาณ 12-20 สัปดาห์ หากพบผู้ป่วยระยะนี้ต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำว่าให้รับประทานตลอดชีวิต แต่บางท่านแนะนำให้รับประทานยา 24 เดือนแล้วลองหยุดยา
  • ผู้ที่ติดเชื้อHIV โดยที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic Patients with Established Infection ) การรักษาผู้ที่ติดเชื้อซึ่งไม่มีอาการยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะมีประโยชน์หรือไม่ แต่ก็มีคำแนะนำในการรักษาตามตารางข้างล่าง

ยาต้านไวรัสเอชไอวี รับได้ที่ไหน

ยาต้านไวรัส HIV ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการได้ตามสถานบริการของรัฐ เอกชน หรือคลินิกเฉพาะทางที่มีแพทย์ประจำ เนื่องจากการรับยาต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ และจำเป็นจะต้องมีการตรวจเลือดทุกครั้งที่รับยา เพื่อความปลอดภัย และลดผลข้างเคียงที่อาจจะตามมาได้หลังจากการรับยา

ยาร่วมกัน 3 ชนิด HAART

ยาต้านไวรัสเอชไอวี ต้องทานตอนไหน และการปฏิบัติตัวหลังทานยาต้าน

การทานยาต้านแต่ละตัวนั้นมีความแตกต่างกันตามกลุ่มของยา โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำให้ให้คำปรึกษาในการรับยาพิจารณาจากผลการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการว่าผู้ป่วยเหมาะสมกับยาสูตรใดชนิดใด 

ซึ่งต้องใช้ตัวยาร่วมกัน 3 ชนิด หรือเรียกว่า Highly Active Antiretroviral Therapy (HAART) จะช่วยให้ผลการรักษาได้ดี ลดการเกิดเชื้อดื้อยา ลดอัตราการป่วยจากภาวะแทรกซ้อน และอัตราการเสียชีวิตลดลงได้อย่างมาก

 แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขมากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยควรให้ความสำคัญอย่างมากกับการรับประทานยา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

ยาต้านไวรัสเอชไอวี กับผลข้างเคียง มีดังนี้

  • อาการข้างเคียงในระยะสั้นและไม่รุนแรง พบได้และอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น ภายในเวลาประมาณ 2 – 3 เดือน เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืด นอนไม่หลับ ฝันร้าย มีผื่นขึ้นเล็กน้อย
  • อาการข้างเคียงในระยะสั้นและรุนแรง เช่น ภาวะซีด ตับหรือตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ชาปลายมือปลายเท้า นิ่วในไต ซึ่งอาจพบได้ทุกช่วงของการกินยา และอาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้าไม่รีบแก้ไข ดังนั้น ต้องติดตามอาการเหล่านี้อย่างใกล้ชิด   มารับการตรวจตามนัดสม่ำเสมอ ถ้าพบอาการผิดปกติ เช่น  ท้องอืด  อาเจียน   อ่อนเพลีย   หมดแรง (อาการของภาวะกรดในเลือด)   ต้องมาพบแพทย์ก่อนวันนัด
  • อาการข้างเคียงในระยะยาว มักพบหลังจากกินยาเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่ตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป บางรายพบได้ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี อาการข้างเคียงในระยะยาว เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย การกระจายและสะสมของไขมันผิดปกติและผิดที่ มีไขมันพอกที่ต้นคอ ลำตัวอ้วน แขนขาลีบ แก้มตอบ

หากรับประทานยาต้านไวรัสเป็นเวลา 6 เดือน ขึ้นไปแพทย์แนะนำให้ตรวจค่าการทำงานของตับและการทำงานของไตเนื่องจากยาต้านไวรัสส่งผลต่อการทำงานของตับและไต

ต้องทานยาต้านไวรัสเอชไอวี ไปตลอดไหม

ยาต้านไวรัสเพื่อให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาว ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป แม้ว่าผลการตรวจเลือดของผู้ป่วยบางราย หลังจากทานยาต้านไวรัสเป็นเวลานาน จะพบเชื้อน้อยลงจนแทบไม่พบเชื้อ แพทย์ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าหายขาดแล้ว ผู้ป่วยต้องทานยาต่อไปตลอดชีวิต  และตัวผู้ป่วยเองก็ต้องดูแลร่างกายของตัวเองให้ดี ไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงใดๆ ที่อาจมีผลต่อการรักษา ทานยาสม่ำเสมอในทุกวัน

การกินยาต้านไวรัสเอชไอวี ไม่ตรงเวลา

ผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวี กับการทานยาต้านให้ตรงเวลานั้นมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยรักษาระดับยาจะให้คงที่ในกระแสเลือด ช่วยลดปริมาณเชื้อไวรัสไม่เพิ่มจำนวน ลดอาการผลข้างเคียง และลดโอกาสการดื้อยาที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ดังนั้นหากทานยาต้านไม่ตรงเวลา หรือขาดยา ก็อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล เชื้อไวรัสเอชไอวี ก็จะเพิ่มปริมาณขึ้น ผู้ป่วยอาจจะต้องเปลี่ยนยาไปใช้ในสูตรที่แรงการสูตรเดิมรวมทั้งอาจเกิดผลข้างเคียงที่มากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หรือ ติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

บทความอื่นๆเพิ่มเติม

เอชไอวี(HIV) ป้องกันง่ายกว่ารักษา

ผลข้างเคียงของยาต้านไวรัสเอชไอวี

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ยาต้านไวรัส HIV แบบป้องกันและฉุกเฉิน คืออะไร รับได้ที่ไหน https://www.bangkoksafeclinic.com/th/arv/
  • ยาต้านไวรัสเอดส์ http://www.samrong-hosp.com/คัมภีร์การใช้ยา/ยาต้านไวรัสเอดส์

Filed Under: ยาต้านไวรัส, เอชไอวี HIV Tagged With: Antiretroviral, ARV, HIV, ยาต้านไวรัสเอชไอวี, เอชไอวี

ควรตรวจ HIV เมื่อไร ?

October 3, 2022 by 365team

ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดอยู่มาก เกี่ยวกับการตรวจ HIV และการติดเชื้อ HIV หลายคนเข้าใจว่าหากดูแลร่างกายให้แข็งแรงแล้ว ก็ไม่สามารถติดเชื้อได้อย่างแน่นอน หรือหลายคนคิดเพียงแค่ว่าตัวเองมีความเสี่ยงเพียงครั้งเดียว ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดก็ได้ เพราะไม่ติดเอชไอวีแน่นอน อาจเพราะมั่นใจในคู่นอนของตัวเองมาก แต่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าใครมีความเสี่ยงมากน้อย ไม่สามารถดูได้จากภายนอกว่าใครมีเชื้อ ฉะนั้น การตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อไวรัสเอชไอวี จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ

เอชไอวีคืออะไร ?

เอชไอวี (HIV) ย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus ไวรัสชนิดนี้ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงเรื่อยๆและทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในที่สุดทำให้ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะไม่สามารถต้านการติดเชื้อต่างๆได้ เราเรียกภาวะนี้เรียกว่า ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ปัจจุบันยังไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายได้แต่สามารถควบคุมเชื้อไวรัสได้ โดยการรับการรักษาเพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสและผู้ที่ได้รับการรักษาสามารถมีชีวิตอยู่ได้เหมือนคนปกติทั่วไป

ทำไมต้องตรวจ HIV ?

ถึงแม้ว่า ปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีกำจัดเชื้อไวรัสเอชไอวีให้หายขาดไปจากร่างกายได้ แต่การที่ติดเชื้อนั้นไม่ได้หมายความว่า คุณจะเข้าสู่ภาวะโรคเอดส์ และเสียชีวิตทันที เพราะเมื่อคุณได้รับตรวจที่รวดเร็ว คุณก็จะเข้าสู่กระบวนการ การรักษาที่รวดเร็วตามไปด้วย การทานยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างมีวินัย จะทำให้สุขภาพของคุณแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย และไม่ต้องเสี่ยงกับโรคฉวยโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ข้อดีของการตรวจเอชไอวี

  1. หากพบเชื้อ สามารถรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอให้มีอาการหรือเจ็บป่วย
  2. ได้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง
  3. หากไม่พบเชื้อ สามารถป้องกันตนเองไม่ให้มีความเสี่ยงได้ตลอดไป
  4. การตรวจเอชไอวีช่วยในการวางแผนครอบครัว

ตรวจ HIV ต้องรอกี่วัน ?

การตรวจ HIV จะขึ้นอยู่กับช่วงระยะฟักตัว หรือ Window Period เป็นช่วงที่หากร่างกายได้รับเชื้อมาแล้วจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันออกมาเพื่อต่อสู้กับไวรัส ซึ่งหากระยะเวลาน้อยเกินไปเราก็ไม่อาจตรวจเจอเชื้อ HIV ได้นั่นเอง โดยปกติมักจะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือนถึงจะตรวจเจอระดับของภูมิคุ้มกันนี้ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ซึ่งหากคุณตรวจเลือดในช่วงก่อนหน้านี้อาจไม่พบเชื้อเอชไอวี ทั้ง ๆ ที่ความจริงอาจมีเชื้ออยู่ก็ได้

ตรวจ HIV มีกี่แบบ ?

รูปแบบการตรวจระยะเวลาที่สามารถตรวจได้ (Window Period)
NAT7 วัน
Anti-HIV 4th Generation14 วัน
Anti-HIV 3th Generation30 วัน

ใครบ้างที่ควรตรวจ HIV ?

  • ผู้ที่ไม่สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่คู่นอนประจำหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ถุงยางอนามัยแตก ฉีกขาด หรือหลุด ขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • อุบัติเหตุของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น เข็มทิ่มตำ มีดบาด จากอุปกรณ์ที่ใช้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • คู่สามีภรรยาที่ต้องการวางแผนมีลูก

“เอชไอวี ติดแล้ว ไม่ทำให้เสียชีวิต รักษาได้ และไม่ป่วยเป็นโรคเอดส์”

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

  • ทำความรู้จักกับ โรคฝีดาษลิง
  • ผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี

Filed Under: ตรวจเอชไอวี Tagged With: HIV, ตรวจ HIV, ตรวจเอชไอวี, เอชไอวี

โรคติดเชื้อฉวยโอกาส ที่มักพบในผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยโรคเอดส์

April 14, 2022 by thaihiv365 team

โรคติดเชื้อฉวยโอกาส ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี

การติดเชื้อโรคฉวยโอกาส หรือภาวะแทรกซ้อน ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับคนปกติทั่วไป แต่จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยโรคเอดส์ อาจป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ได้พร้อมกันมากกว่า 1 โรค

โรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรือภาวะแทรกซ้อน คือ

ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยโรคเอดส์ จะมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรืออาการภาวะแทรกซ้อนระยะเริ่มต้น คือ ผิวหนังเป็นเริม งูสวัสดิ์ ฝี เชื้อรา ผื่น กลากเกลื้อน แผลเรื้อรัง ลิ้นเป็นฝ้าขาว แบบโรคเชื้อรา เป็นไข้ และไอเรื้อรัง แบบวัณโรคปอด เป็นไข้ ไอ หอบ แบบปอดอักเสบ เป็นไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง ก้มไม่ได้ (ก้มยาก) แบบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แขน ขา ชา อ่อนแรง แบบไขสันหลังอักเสบ ซีด มีจุดแดง จ้ำเขียว หรือเลือดออก แบบโรคเลือด ท้องเดินเรื้อรัง แบบมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรือภาวะแทรกซ้อน ที่อาจพบได้ และค่อนข้างเป็นอันตราย ได้แก่

  • วัณโรค (Tuberculosis-TB) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำลายปอดและทำให้ให้เยื่อหุ้มอักเสบ วัณโรคเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตผู้ป่วยโรคเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก
  • เริม โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้มีการอักเสบบริเวณปากหรืออวัยวะเพศจากการติดเชื้อไวรัส อาจเกิดแผลอักเสบรุนแรงขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันที่บกพร่องในภาวะเอดส์
งูสวัด
  • งูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัส มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำขนาดเล็กกระจายตามแนวเส้นประสาทซีกหนึ่งของร่างกาย  จะปวดแสบปวดร้อนหรือคัน ต่อมาตุ่มน้ำจะแตก กลายเป็นสะเก็ดและหลุดไป
  • ตุ่มพีพีอี อาจเกิดจากการแพ้ยา ผื่นมักจะแดง นูน กระจายทั่วตัว และคันมาก หรือเกิดจากการแพ้สารเคมีต่างๆ หรือแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ยุงกัด จะมีตุ่มคันรุนแรงกว่าคนปกติ
  • ปอดอักเสบพีซีพี เกิดจากเชื้อรานิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ หรือ พีซีพี ทำให้เป็นโรคปอดบวม
  • เชื้อราเยื่อหุ้มสมอง เป็นโรคที่เกิดการติดเชื้อที่อาจเกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราบริเวณเยื่อหุ้มที่หุ้มรอบสมองและไขสันหลังจนทำให้บริเวณดังกล่าวอักเสบบวม 
  • ฝีที่สมอง เกิดขึ้นจากเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดอาการอักเสบที่สมองมีลักษณะการก่อตัวของเชื้อเป็นฝี หนอง ในเนื้อสมองที่สามารถส่งผลต่ออาการผิดปกติของระบบประสาท และสามารถอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้หากเกิดการแตกของฝีในสมอง
  • โรคคริปโตค็อกคัสในระบบประสาท  เกิดจากเชื้อราคริปโตค็อกคัส ที่อยู่ในน้ำไขสันหลัง ผู้ป่วยจะค่อย ๆ เกิดอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ภาวะปอดอักเสบจากเชื้อรา   ปอดอักเสบจากเชื้อรามักจะพบเชื้อราที่ก่อให้เกิดภาวะปอดอักเสบ
  • การติดเชื้อรา และเกิดแผลอักเสบที่บริเวณปาก ภายในลำคอ หรือในช่องคลอด
อุจจาระร่วงจากโปรโตซัว
  • อุจจาระร่วงจากโปรโตซัว   เกิดจากโปรโตซัวเป็นปรสิตเซลล์เดียวที่รบกวนระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงได้
  • การติดเชื้อฉวยโอกาสจากแบคทีเรีย ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ มีปัญหาในระบบย่อยอาหาร และน้ำหนักตัวลด
  • การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส   ทำให้มีอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับดวงตาจนอาจนำไปสู่การตาบอด เกิดแผลเป็นหนองอักเสบ และอาการท้องร่วงรุนแรงได้ด้วย
  • โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อเอชไอวี จนเกิดเป็นเซลล์มะเร็งลามไปทั่วต่อมน้ำเหลือง ทั้งบริเวณลำคอ รักแร้ หรือตามข้อพับต่าง ๆ นอกจากนี้ ในบางรายอาจเป็นมะเร็งหลอดเลือดคาโปซี ที่เกิดเซลล์เนื้อร้ายก่อตัวขึ้นในเนื้อเยื่อผนังหลอดเลือด เกิดเป็นบาดแผลสีแดง หรือสีม่วงตามผิวหนัง

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

ทำไมถึงควรตรวจเอชไอวีเป็นประจำ?

การติดเชื้อฉวยโอกาส

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • โรคฉวยโอกาสที่แฝงมากับเอดส์ https://www.facebook.com/livtoyou/posts/1686095878097416/
  • ภาวะแทรกซ้อนของ เอดส์ https://www.pobpad.com/เอดส์/ภาวะแทรกซ้อนของเอดส์


Filed Under: ตรวจเอชไอวี, เอชไอวี HIV, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Tagged With: AIDS, HIV, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, ผู้ป่วยโรคเอดส์, โรคติดเชื้อฉวยโอกาส

Primary Sidebar

Recent Posts

  • แยกให้เป็น HIV กับ AIDS ไม่เหมือนกัน
  • เจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ อาการบ่งบอกถึงโรค “หนองใน”
  • โรคฝีมะม่วง..ภัยร้ายใกล้ตัว
  • หนองในเทียม (Chlamydia)
  • CD4 ที่เท่าไหร่ถึงเรียกว่าระดับน่าเป็นห่วง

Archives

  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • November 2021
  • September 2021
  • April 2021
  • November 2020
  • September 2020
  • May 2020
  • April 2020

Categories

  • PEP
  • PrEP
  • Uncategorized
  • ตรวจเอชไอวี
  • ถุงยางอนามัย
  • ยาต้านไวรัส
  • หนองใน
  • หนองในเทียม
  • เอชไอวี HIV
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โรคฝีดาษลิง
  • โรคฝีมะม่วง

Copyright © 2023 · Genesis Sample on Genesis Framework · WordPress · Log in