• Skip to primary navigation
  • Skip to main content
  • Skip to primary sidebar

ThaiHiv365

Never leave someone behind.

  • หน้าแรก
  • จองคิวตรวจเอชไอวี
  • เอชไอวีและเอดส์
    • การรักษาเอชไอวี
    • การป้องกันเอชไอวี
    • การตรวจเอชไอวี
    • เอดส์ คืออะไร
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • โรคหนองในเทียม
    • โรคหนองใน ภัยร้ายใกล้ตัว รู้ก่อนรักษาได้
    • โรคหูดข้าวสุก
    • โรคหูดหงอนไก่
    • โรคเริม
    • แผลริมอ่อน
    • โรคซิฟิลิส
  • เพร็พ PrEP/ เป็ป PEP
    • เพร็พ PrEP
    • เป๊ป PEP
  • บทความ
  • ถาม-ตอบ
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ อาการบ่งบอกถึงโรค “หนองใน”

January 6, 2023 by 365team

เจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ อาการบ่งบอกถึง หนองใน

หนองใน คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง สามารถพบได้บ่อยมากเป็นอันดับต้นๆ พบได้ประมาณ  40 – 50 % ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หนองในเกิดจากการติดเชื้อ Neisseria gonorrhoeae เชื้อนี้จะทำให้เกิดเฉพาะเยื่อเมือก Mucous Membrance เช่น เยื่อเมือกในท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก เยื่อบุมดลูก ท่อรังไข่ ทวารหนัก เยื่อบุตา คอ เป็นต้น โดยเชื้อนี้มี ระยะฟักตัวเร็ว คือประมาณ 1-10 วัน

หนองใน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • หนองในแท้ (Gonorrhoea)
  • หนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis)

อาการหนองใน

อาการหนองในของผู้ชาย

อาการของหนองในขึ้นอยู่กับบริเวณที่ติดเชื้อ ผู้ชายบางคนโดยเฉพาะคนที่เป็นหนองที่ทวารหนัก และลำคอ จะไม่มีร่องรอยหรืออาการใดๆ เลย แต่ถ้ามีอาการเกิดขึ้นอาจรวมถึงมีของเหลวข้นสีเหลือง หรือขาวที่ไหลออกจากองคชาต เจ็บหรือลำบากในการถ่ายปัสสาวะ บริเวณรอบๆ รูองคชาตเป็นสีแดง มีของเหลวออกจากทวารหนัก และรู้สึกไม่สบายเนื้อตัว

อาการหนองในของผู้หญิง

ส่วนใหญ่ไม่มีร่องรอยหรืออาการใดๆ แต่ถ้ามีอาการเกิดขึ้น อาจรวมถึงมีของเหลวออกจากช่องคลอดมากผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ถ่ายปัสสาวะลำบาก เจ็บอุ้งเชิงกรานโดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์ มีของเหลวออกจากทวารหนัก และรู้สึกไม่สบายเนื้อตัว

การวินิจฉัย หนองใน

การวินิจฉัยหนองใน

หนองใน สามารถวินิจฉัยได้หลากหลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างเชื้อจากบริเวณที่อาจมีการติดเชื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างนั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีและไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยหนองในในเพศชายและเพศหญิงอาจมีข้อแตกต่างกัน คือ

  • การวินิจฉัยในเพศชาย : มักใช้การตรวจปัสสาวะ หรือเก็บตัวอย่างจากของเหลวที่ถูกขับออกมาจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งผู้ป่วยต้องไม่ปัสสาวะเป็นเวลา 2 ชั่วโมงก่อนหน้าการเก็บตัวอย่าง เนื่องจากการปัสสาวะจะไปล้างเชื้อแบคทีเรียโรคหนองในแท้ ส่งผลต่อความแม่นยำของการวินิจฉัยโรค
  • การวินิจฉัยในเพศหญิง : แพทย์หรือพยาบาลมักจะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างจากช่องคลอดหรือปากมดลูกระหว่างที่ตรวจภายใน หรือบางกรณีก็อาจมีการเก็บตัวอย่างจากบริเวณท่อปัสสาวะด้วย ทั้งนี้ผู้ป่วยจะขอเก็บตัวอย่างจากภายในช่องคลอดด้วยสำลีหรือผ้าอนามัยแบบสอดด้วยตนเองก็ได้

ภาวะแทรกซ้อนของหนองใน

  • ภาวะมีบุตรยากในเพศชาย โรคหนองในที่ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้มีภาวะอัณฑะอักเสบ ซึ่งเป็นการอักเสบของท่อม้วนขนาดเล็กในส่วนหลังของลูกอัณฑะที่มีท่ออสุจิอยู่ โดยภาวะอัณฑะอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษานี้สามารถนำไปสู่การเกิดภาวะมีบุตรยาก
  • ภาวะมีบุตรยากในเพศหญิง เชื้อหนองในสามารถแพร่กระจายไปยังมดลูกและท่อนำไข่ เป็นสาเหตุของการติดเชื้อและอักเสบในอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดพังผืดที่ท่อนำไข่ เสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก อาการปวดเชิงกรานระยะยาว ภาวะมีบุตรยาก รวมถึงภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี หนองในจะส่งผลให้ผู้ป่วย ไวต่อการติดเชื้อเอชไอวี และผู้ที่ติดเชื้อทั้งหนองในและเอชไอวี จะสามารถแพร่กระจายโรคทั้ง 2 ชนิด ไปสู่คู่นอนของตนเองได้เร็วกว่าปกติ
  • ภาวะแทรกซ้อนในทารก การได้รับเชื้อหนองในจากมารดาระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลต่อการติดเชื้อรุนแรงที่อวัยวะอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของทารกได้

การป้องกันหนองใน

  • ใช้ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยหนองในหรือคู่นอนที่มีความเสี่ยง
  • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • รับการตรวจหนองในเป็นประจำ
การรักษา หนองใน

การรักษาหนองใน

หนองใน สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะในช่วงสั้น ๆ โดยฉีดยาปฏิชีวนะแล้วตามด้วยการให้ยาปฏิชีวนะแบบเม็ด หลังจากได้รับยา ผู้ป่วยจะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่อาการเจ็บบริเวณเชิงกรานหรือลูกอัณฑะนั้นอาจต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์จึงจะหายดี ส่วนผู้ป่วยที่มีเลือดออกระหว่างรอบเดือนหรือประจำเดือนมามากผิดปกติซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคจะพบว่าอาการดีขึ้นเมื่อถึงรอบเดือนครั้งถัดไป

หนองในรักษาได้ที่ไหน ?

หนองใน สามารถรับการรักษาได้โดยการใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสิทธิประกันสังคมได้ จากทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน หรือ คลินิกเฉพาะทางเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาหนองในจะขึ้นอยู่กับสิทธิการรักษา เช่น ประกันสุขภาพถ้วนหรือประกันสังคม โดยอาจไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือจ่ายเพียง 30 บาทเท่านั้น

รักษาหนองใน ราคาเท่าไร ?

ค่ารักษาหนองใน หากคนไทยใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหรือประกันสังคมไม่เสียค่าใช้จ่าย บางคนใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท  ทั้งนี้อาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆขึ้นอยู่กับอาการของโรคในแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน  ส่วนใครที่รักษากับคลินิคเอกชน หรือโรงพยาบาล ราคาเริ่มต้นที่ 500 บาท

“แนะนำให้โทรสอบถามสถานพยาบาลนั้นๆก่อน เพราะจะได้ทราบถึงค่าใช้จ่าย​”

ค้นหาสถานที่ตรวจหนองในและรักษาหนองในได้ง่ายๆที่ >> http://love2test.org

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

  • หนองในเทียม (Chlamydia)
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(STI) ที่พบได้บ่อย

Filed Under: หนองใน Tagged With: หนองใน, หนองในเทียม, หนองในแท้, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคฝีมะม่วง..ภัยร้ายใกล้ตัว

December 19, 2022 by 365team

โรคฝีมะม่วง ภัยร้ายใกล้ตัว

โรคฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum : LGV) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis bacterium) แบคทีเรียนี้จะผ่านเข้าสู่ผิวหนังทำให้เกิดแผลที่อวัยวะเพศสืบพันธุ์หรือทวารหนัก ทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่ จะรู้สึกเจ็บปวดมากและเดินลำบาก โรคนี้ส่วนใหญ่มักพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พวกรักร่วมเพศระหว่างชายกับชาย การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย และการมีคู่นอนหลายคน

การวินิจฉัยโรคฝีมะม่วง

การวินิจฉัยโรคฝีมะม่วง แพทย์จะตรวจร่างกาย รวมทั้งซักประวัติการรักษาและการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย การตรวจร่างกายจะช่วยวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ดังนี้

  • ตรวจชื้นเนื้อ แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนัง เพื่อตัดและนำตัวอย่างชิ้นเนื้อของฝีมะม่วงสารคัดหลั่งจากแผล หรือเนื้อเยื่อของลำไส้ตรง ออกไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย
  • ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วยไปตรวจ เพื่อวินิจฉัยชนิดของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝีมะม่วง
  • ทำซีทีสแกน แพทย์จะทำซีทีสแกนผู้ป่วย เพื่อตรวจดูระดับของภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่เกิดขึ้น
  • ส่องกล้องตรวจลำไส้ แพทย์จะส่องกล้อง เพื่อตรวจและวินิจฉัยความผิดปกติที่ส่งผลให้เกิดอาการป่วยที่ลำไส้
สาเหตุของ โรคฝีมะม่วง

สาเหตุของโรคฝีมะม่วง

โรคฝีมะม่วง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลามีเดียทราโคมาติส ชนิด L1, L2, L3 (Chlamydia Tracho matis L1-L3) ติดต่อโดยการร่วมเพศหรือสัมผัสถูกหนองของฝีมะม่วงโดยตรง ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคฝีมะม่วง คือ การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย โดยไม่สวมถุงยางอนามัยในขณะร่วมเพศทั้งทางปาก ทวารหนัก และช่องคลอด รวมไปถึงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

ระยะฟักตัวของโรคฝีมะม่วง

โรคฝีมะม่วง มีระยะการฟักตัว ประมาณ 7-10 วัน หลังจากสัมผัสเชื้อ ส่วนการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองมักจะเกิดขึ้นประมาณ 10-30 วัน หลังจากสัมผัสเชื้อ

อาการของโรคฝีมะม่วง

อาการของโรคฝีมะม่วงแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1

  • มีตุ่มนูนเล็ก ๆ ขึ้นมา หรือเป็นแผลตื้น ๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด
  • มีแผลเปื่อยขึ้นมาและหายไปเองภายใน 2-3 วัน
  • อาจเกิดอาการป่วยคล้ายโรคท่อปัสสาวะอักเสบ
  • บริเวณต่อมน้ำเหลืองมีก้อนนุ่ม ๆ นูนขึ้นมา ทำให้เกิดอาการบวม

ระยะที่ 2

  • เกิดฝีมะม่วงซึ่งเป็นก้อนนุ่มสีใสขนาดใหญ่ที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 2-6 สัปดาห์หลังจากต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างเริ่มมีอาการบวมและปวด
  • อาจมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม และปวดตามข้อ
  • เกิดผื่นแดงและมีไข้ รวมทั้งมีตุ่มแข็งขนาดใหญ่ขึ้นที่ผิวหนัง
  • อาจประสบภาวะเยื่อตาอักเสบ ตับโต เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ ปอดบวม หรือข้ออักเสบ

ระยะที่ 3

  • มักเกิดอาการอักเสบที่ลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
  • อาจรู้สึกคันทวารหนักและมีเลือดกับมูกปนหนองออกมา ทั้งนี้ อาจรู้สึกที่ก้น ปวดเบ่งที่ลำไส้ตรงเหมือนจะถ่ายหนักตลอดเวลา มีหนองไหลออกทางรูทวาร  ท้องผูก และน้ำหนักลด
  • การอักเสบเรื้อรังของโรคอาจทำให้เกิดฝี ท่อน้ำเหลืองอุดตัน ลำไส้ตรงผิดรูป และลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงติดเชื้อ

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อโรคฝีมะม่วง

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีสวมถุงยางอนามัย
  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนอยู่เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ (ชายรักชาย)

ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีมะม่วง

  • เกิดฝีคัณฑสูตร (Fistula) ซึ่งทำให้ทวารหนักเกิดรูที่เชื่อมระหว่างลำไว้ตรงกับช่องคลอด
  • องคชาตมีพังผืด หรือองคชาตมีลักษณะผิดรูป
  • เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณอวัยวะเพศหรือเกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน จนนำไปสู่การมีบุตรยาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • ประสบภาวะสมองอักเสบ
  • ประสบภาวะตับโต
  • เกิดการอักเสบที่ข้อต่อ ดวงตา หัวใจ หรือตับ รวมทั้งป่วยเป็นปวดบวม
  • อวัยวะสืบพันธุ์บวมและเกิดการอักเสบเรื้อรัง
  • ลำไส้ตรงเกิดแผลและตีบเข้า ส่งผลให้ลำไส้อุดตัน
การป้องกัน โรคฝีมะม่วง

การป้องกันโรคฝีมะม่วง

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรค
  • เลี่ยงการสัมผัสผิวหนัง แผล หรือสารคัดหลั่งที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
  • สวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

การรักษาโรคฝีมะม่วง

การรักษาด้วยยา แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วง เพื่อใช้รักษาการติดเชื้อและป้องกันเชื้อแบคทีเรียทำลายเนื้อเยื่อส่วนอื่น โดยยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคฝีมะม่วง ประกอบด้วย

  • ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ผู้ป่วยมักได้รับการรักษาด้วยยานี้เป็นอันดับแรก โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาดอกซีไซคลินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 100 มิลลิกรัม เป็นเวลา 21 วัน
  • อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยานี้เป็นยารักษาโรคฝีมะม่วงอีกชนิดที่แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วย โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้ยาอะซิโธรมัยซินปริมาณ 2 กรัม เป็นเวลา 20 วัน

การผ่าตัด ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วงที่เกิดก้อนฝีหรือต่อมน้ำเหลืองบวมโต อาจต้องเจาะผิวเอาของเหลวในฝีออกมา เพื่อบรรเทาอาการของโรคให้ทุเลาลง ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายที่ลำไส้ตรงตีบหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

ขอบคุณข้อมูล : Pobpad

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

  • หนองในเทียม (Chlamydia)
  • หนองใน..โรคที่ไม่ควรละเลย

Filed Under: โรคฝีมะม่วง Tagged With: ป้องกันโรคฝีมะม่วง, ฝีมะม่วง, รักษาโรคฝีมะม่วง, อาการโรคฝีมะม่วง, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคฝีมะม่วง

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(STI) ที่พบได้บ่อย

October 27, 2022 by thaihiv365 team

1.โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(STI) ที่พบได้บ่อย

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีผลกระทบต่อทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อบางอย่างสามารถรักษาได้เพื่อให้คุณ และคู่นอนของคุณมีสุขภาพที่แข็งแรง และคุณเองสามารถป้องกันตัวเองจากการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

STI  คืออะไร?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections; STI)  คือ การติดเชื้อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ โดยผ่านการจูบ, การสัมผัสหรือถูอวัยวะเพศ, การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก (การใช้ปากกับอวัยวะเพศ), การร่วมเพศ (องคชาตในช่องคลอด องคชาตในทวารหนัก), การใช้เซ็กซ์ทอย รวมถึง การติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูกระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และหลังคลอด

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด

  • เชื้อ HIV
  • โรคหนองใน
  • โรคหนองในเทียม
  • โรคหูดหงอนไก่และเชื้อ HPV
  • โรคเริม
  • โรคซิฟิลิส
  • โรคไวรัสตับอักเสบเอ โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคไวรัสตับอักเสบซี

ใครเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ?

  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย กับบุคคลเหล่านี้จะทำให้คุณมีแนวโน้มการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้มากขึ้น เช่น คู่นอนชั่วครั้งชั่วคราว, มีคู่นอนหลายคน หรือมีกิจกรรมทางเพศบ่อย
  • ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับผู้ชายคนอื่น
  • อายุน้อย ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศสัมพันธ์
  • เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในอดีต
  • ดื่มสุรา 
  • ใช้สารเสพติด

เมื่อไหร่ที่ควรมาตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?

  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย (ทั้งผ่านทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางหวารหนัก)
  • มีอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่บริเวณอวัยวะเพศของคุณ ได้แก่ องคชาต, ลูกอัณฑะ, ช่องคลอด, ปากช่องคลอด, ทวารหนัก โดยมีอาการดังนี้ เป็นผื่นหรือคันที่อวัยวะเพศ, มีสารคัดหลั่งจากองคชาต ช่องคลอด หรือทวารหนัก, อาการแสบเวลาปัสสาวะ, เจ็บแผล เป็นตุ่ม หรือมีหนอง, มีติ่งหรือก้อนเนื้อขึ้นบริเวณผิวหนัง, เจ็บปวดที่อวัยวะเพศหรือท้องน้อย, มีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  • กังวลว่าคุณอาจติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ถุงยางอนามัยของคุณฉีกขาดหรือหลุดออกระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
  • คู่นอนของคุณมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น
  • ใช้เข็ม หลอดฉีดยา และช้อนในการฉีดสารเสพติดร่วมกับผู้อื่น

จะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อสงสัยว่าอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ?

เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเพิ่งมีความเสี่ยงในการติดโรค ควรรีบปรึกษาแพทย์ และงดการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นจนกว่าจะทราบผลการตรวจ ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหาย และแนะนำให้คู่นอนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เข้ารับการตรวจรักษาด้วย 

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รักษาหาย และไม่หาย

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รักษาหาย

  • หนองใน
  • หนองในเทียม  
  • ซิฟิลิส  
  • ทริคโคโมแนส  
  • กามโรคของท่อและต่อม 
  • น้ำเหลือง  
  • แผลริมอ่อน  
  • หิดและโลน  
  • ตับอักเสบเอ  
  • หูดข้าวสุก

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รักษาไม่หายขาด

  • เอชไอวี  
  • เริมอวัยวะเพศ  
  • หูดหงอนไก่  
  • ตับอักเสบบี
  • ตับอักเสบซี 
วิธีการป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

วิธีการป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำอย่างไรได้บ้าง

  • การไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ การมีคู่นอนคนเดียวและคู่นอนไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้ 
  • การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีและทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์  และการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก  ตรวจสอบวันที่ใช้งานเสมอ เนื่องจากถุงยางอนามัยเก่าอาจฉีกขาดได้ง่าย
  • ใช้แผ่นยางทันตกรรม (แผ่นยางบาง ๆ ที่ใช้เป็นตัวกั้น) สำหรับการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก
  • ใช้สารหล่อลื่นสูตรน้ำเพื่อช่วยลดโอกาสการฉีกขาดของถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางอนามัย  อย่าใช้วาสลีนหรือน้ำมันนวดตัว เพราะอาจทำให้ถุงยางหรือแผ่นยางอนามัยเสื่อมหรือฉีกขาดได้ง่าย
  • ใช้ถุงยางอนามัยใหม่หรือแผ่นยางอนามัยใหม่ทุกครั้งที่คุณมีเพศสัมพันธ์ (ถึงแม้ว่าคุณหรือคู่นอนของคุณจะไม่หลั่งน้ำกามออกมา) อย่าล้างถุงยางอนามัยและนำกลับมาใช้อีก
  • หากคุณมีเพศสัมพันธ์กับคนมากกว่าหนึ่งคน (มีเพศสัมพันธ์แบบสามคนหรือแบบเป็นกลุ่ม) เปลี่ยนถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางทันตกรรมใหม่สำหรับแต่ละคน
  • เมื่อใช้เซ็กซ์ทอยในการมีเพศสัมพันธ์แบบสามคนหรือแบบเป็นกลุ่ม ให้ใช้ถุงยางอนามัยใหม่สำหรับแต่ละคน
  • หากคุณหรือคู่นอนของคุณมีอาการ อย่าสัมผัสหรือถูบริเวณนั้น
  • หากคุณคิดว่า คุณเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่ามีเพศสัมพันธ์อีกจนกว่าคุณจะไปพบแพทย์
  • การตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้และหนองในเทียมปีละครั้ง โดยเฉพาะหญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือกลุ่มชายรักชาย และการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มชายรักชาย
  • การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สำหรับคนที่มีอายุ 9-45 ปี โดยเฉพาะก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี

บทความอื่นๆเพิ่มเติม

โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata)

ทำความรู้จักกับ โรคฝีดาษลิง

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ – About STIs (Thai) https://www.staystifree.org.au/about-stis/about-stis-thai
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ https://www.pidst.or.th/A732.html

Filed Under: โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Tagged With: Sexually transmitted infections, STI, เพศสัมพันธ์, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เอชไอวี(HIV) ป้องกันง่ายกว่ารักษา

September 9, 2022 by 365team

เอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คหลายคนหวาดกลัวการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ และถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่น่ากลัว และไม่มีทางรักษา แต่มีวิธีการที่สามารถช่วยป้องกัน และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีนี้ได้

เอชไอวี คืออะไร?

เอชไอวี (HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเอดส์ (AIDS) คือระยะท้ายของการติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโรคแทรกซ้อนได้ เชื้อ HIV จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายลดต่ำลง ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อของโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ ได้ เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

อาการของเอชไอวี

  • ปอดอักเสบ
  • สูญเสียความจำ อาการซึมเศร้าและอาการทางระบบประสาทอื่นๆ
  • ท้องเสียเรื้อรังนานกว่าหนึ่งสัปดาห์
  • เหนื่อยผิดปกติ
  • อาการไข้ที่กลับมาเป็นซ้ำๆ
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
  • มีผื่นตามผิวหนัง ในช่องปาก จมูกและเปลือกตา
  • แผลที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศและทวารหนัก
  • อาการบวมที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้และขาหนีบ

เอชไอวี มีทั้งหมด 3 ระยะ

ระยะไม่ปรากฏอาการ

ในระยะนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนั้นจะไม่ปรากฏอาการผิดปกติใด ๆ ให้เห็น จึงดูเหมือนคนปกติที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่อาจจะมีอาการป่วยเล็กน้อย โดยเฉลี่ยนั้น จากระยะแรกเข้าสู่ระยะที่ 2 จะใช้เวลาประมาณ 7 – 8 ปี แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการอยู่ได้นานถึง 10 ปี จึงทำให้ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นๆได้ เพราะว่าผู้ที่ติดเชื้อเอดส์ส่วนใหญ่ในระยะแรก ยังไม่ทราบว่าตัวเองนั้นติดเชื้อแล้ว

ระยะปรากฏอาการ

ในระยะนี้จะตรวจพบผลเลือดบวก และมีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็นได้ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตติดต่อกันนานหลายเดือน มีเชื้อราบริเวณในปาก โดยเฉพาะกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก เป็นงูสวัด หรือแผลเริมชนิดลุกลาม มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุเกิน 1 เดือน เช่น มีไข้ ท้องเสีย ผิวหนังอักเสบ น้ำหนักลด และอื่น ๆ ในระยะนี้อาจมีอาการอยู่เป็นปี ก่อนพัฒนาลุกลามกลายเป็นเอดส์เต็มขึ้นในระยะต่อไป

ระยะโรคเอดส์

ในระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายลงไปเยอะมาก ซึ่งทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น และร่างกายก็ไม่สามารถขจัดเชื้อโรคเหล่านี้ออกไปจากร่างกายได้  ซึ่งมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าติดเชื้อชนิดใด และเกิดขึ้นบริเวิณอวัยวะส่วนใดของร่างกาย เช่น หากติดเชื้อวัณโรคที่ปอด อาการที่พบจะมีไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด แต่ถ้าเป็นเยื้อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรวดแรง อาเจียน คอแข็ง คลื่นไส้ และถ้าเป็นอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาทก็จะมีอาการซึมเศร้า แขนขาอ่อนแรง ความจำเสื่อม ซึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์ในระยะสุดท้ายนี้ จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1 – 2 ปีเท่านั้น

ใครบ้างที่ควรตรวจเอชไอวี

  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ผู้ที่ตัดสินใจจะมีคู่หรือแต่งงาน
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • ผู้ที่ใช้เข็มหรือหลอดฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ที่คิดจะตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของแม่และตัวเด็ก

การป้องกันเอชไอวี

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • มีคู่นอนเพียงคนเดียว ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ 
  • ก่อนสมรส หรือมีลูก ควรมีการตรวจเลือด
  • งดใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น
  • พาคู่รักและตนเองไปตรวจเลือด หรือรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

การรักษาเอชไอวี

การรักษาเอชไอวีมีหลายประเภท รวมถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ARV) การป้องกันโรคหลังการสัมผัส (PEP) และการป้องกันโรคก่อนการสัมผัส (PrEP)

ยารักษาอาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ที่ได้รับการรับรองมากกกว่า 25 ชนิด เรียกว่า ยาต้านรีโทรไวรัส (antiretroviral drugs หรือเรียกย่อว่า ARV) ทำหน้าที่ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคสู่คนอื่น

หากมีความกังวลว่าตัวเองอาจเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี สามารถใช้ ยาต้านไวรัสหลังสัมผัสโรค (post-exposure prophylaxis หรือชื่อย่อว่า PEP) เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับยาให้เร็วที่สุด ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง

นอกจากนี้สามารถใช้ ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis หรือชื่อย่อว่า PrEP) ใช้ในผู้ไม่มีเชื้อเอชไอวีแต่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีสูง และต้องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต้องรับประทานยาทุกวันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

  • ทำความรู้จักกับ โรคฝีดาษลิง
  • ผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี

Filed Under: เอชไอวี HIV Tagged With: เอชไอวี, เอดส์, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคเอดส์

การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัยเป็นไปได้หรือไม่

July 19, 2022 by thaihiv365 team

การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัย

เรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญของทุกคน การป้องกันก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน การมีเซ็กส์ยังไงให้ปลอดภัย เพื่อการป้องกัน และลดความเสี่ยงการติดต่อของโรคทางเพศสัมพันธ์

Safe Sex คืออะไร 

คือ การมีเซ็กซ์ หรือเพศสัมพันธ์กันอย่างปลอดภัย ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่ามีเพียงแค่การใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่ความจริงแล้วการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยมีมากกว่านั้น อย่างเช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าการช่วยตัวเอง ซึ่งวิธีอย่างหนึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ร้ายแรง หรือน่ารังเกียจ

ทำไมต้อง Safe Sex? 

การ Safe Sex หรือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยนั้น เพื่อเป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี, โรคเอดส์, ซิฟิลิส, หนองใน ฯลฯ หรือช่วยในการคุมกำเนิด ตั้งท้องในขณะที่ยังไม่พร้อม 

การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัยเป็นไปได้หรือไม่ 

เป็นไปได้ หากเรามีความรู้ และการเข้าใจในการมีเซ็กซ์ หรือเพศสัมพันธ์ อย่างถูกต้อง ทำให้เรามีเซ็กส์อย่างปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

Safe Sex มีแบบไหนบ้าง?

แบบที่ 1 ก่อนที่จะมี Sex กับใครได้โปรดตรวจเลือดเพื่อความชัวร์! 

แม้ว่าเราจะมั่นใจในตัวเอง หรือไว้ใจในคู่นอนของเรามากแค่ไหน แต่การตรวจเลือดก่อนมีเพศสัมพันธ์ก็จะชัวร์และปลอดภัยมากกว่า เพราะการที่เราตรวจเลือดก่อนมีเพศสัมพันธ์ก็เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เราสามารถตรวจได้จากเลือดนั้นเอง เช่น โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส หรือโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี ที่ติดแล้วรักษายากมาก ๆ ซึ่งสามารถตรวจได้ตามโรงพยาบาลทั่วไปเลย ฉะนั้นก่อนมีเพศสัมพันธ์เราอยากจะแนะนำให้ตรวจเลือดก่อนทุกครั้งเพื่อเขาเพื่อเราจะได้ปลอดภั

แบบที่ 2 Safe Sex ด้วยถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย

ถุงยางอนามัยของผู้ชายนั้นเป็น Safe Sex แบบเบสิก ถ้าใช้ถูกวิธีรับรองว่าปลอดภัย 100% และหาซื้อง่าย ราคาไม่แพง เพราะนอกจากจะสามารถช่วยป้องกันเราจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถคุมกำเนิดได้ดีอีกด้วย

ข้อดีของการใช้ถุงยางอนามัย

สามารถป้องกันเราจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการคุมกำเนิดได้ 100% ถ้าถุงยาง ไม่รั่ว ไม่ขาด ไม่หมดอายุ ฉะนั้นเช็กดี ๆ ก่อนสวม ราคาไม่แพง หาซื้อง่ายตามร้านสะดวกซื้อ เปิดขายกันตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพหรือภาวะแทรกซ้อนด้วย

ข้อควรระวังในการใช้ถุงยาง

อาจทำให้เกิดการแพ้สารเคมีในถุงยางได้ และอาจทำให้ถุงยางรั่วหรือแตก ระวังกันด้วยน้าา เช็กวันหมดอายุ รวมถึงเช็กขนาด รอยขาด รอยรั่วด้วยเพื่อความปลอดภัยของเรา

ห้ามใช้ถุงยางอนามัยพร้อมกัน


แบบที่ 3 Safe Sex ด้วยถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง

ถุงยางอนามัยของผู้หญิงมีความปลอดภัยสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดเข้าไปในช่องคลอดเช่นกัน และมีราคาแพงกว่าถุงยางของผู้ชาย ถุงยางผู้หญิงทำจากพลาสติกที่เรียกว่าโพลียูรีเทน (Polyurethane) ซึ่งมีขนาดบางมากก อ่อนนุ่ม ผู้หญิงทุกคนสามารถใช้ได้ แต่สำหรับคนที่แพ้สารโพลียูรีเทนหรือยางสังเคราะห์ หรืออวัยวะเพศมีความผิดปกติ ใส่ไม่พอดีหรือหลวมไปควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด

ข้อดีของการใช้ถุงยางผู้หญิง

ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, สามารถป้องกันการตั้งท้องได้ ถ้าใช้อย่างถูกต้อง, สามารถใช้ได้ขณะมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ และไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้งาน

ข้อควรระวังในการใช้ถุงยาง

แกะถุงยางอนามัยออกจากซองอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันการฉีกขาด โดยส่วนวงแหวนที่มีขอบยางหนาจะถูกสอดใส่ไว้ในอวัยวะเพศหญิง และวงแหวนที่มีขอบยางบางจะอยู่ที่ปากช่องคลอด ควรตรวจสอบว่าถุงยางไม่พลิกตัว หรือพับงอ และปลายเปิดของถุงยางอยู่ที่ปากอวัยวะเพศ

ควรถอดถุงยางผู้หญิงโดยการบิดวงแหวนด้านนอกหรือปลายเปิดของถุงยาง และดึงออกจากอวัยวะเพศ ห้ามใช้ทั้งถุงยางผู้หญิงและถุงยางผู้ชายพร้อมกันขณะร่วมเพศ เพราะอาจเกิดการเสียดสีกันจนฉีกขาดได้ถุงยางอนามัยของผู้หญิงสามารถใช้ได้กับสารหล่อลื่นทุกประเภท แต่ห้ามใช้วาสลีน หรือน้ำมัน

แบบที่ 4 Safe Sex ด้วยการทานยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด 

เป็นตัวเลือกของผู้หญิง ที่นิยมใช้กันมาก คือ ยาคุมกำเนิด แต่ไม่ป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ฉะนั้นอย่าลืมใช้ถุงยางทุกครั้งด้วย แต่ยาคุมชนิดเม็ดก็ยังเป็นที่นิยมอยู่

  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วย ฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ตัวนี้เป็นชนิดที่เราแนะนำเพราะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าตัวอื่น ๆ
  • ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน แบบเดี่ยว เหมาะกับคนที่อยู่ช่วงให้นมลูก 
  • ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน ไม่แนะนำให้ทาน แต่ควรใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉินมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน หรือการคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ผิดพลาด เช่น ถุงยางแตก รั่วหรือหลุด เท่านั้น

ข้อดีของการทายาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

ทานง่าย สะดวก หาซื้อได้ง่าย ตามร้านขายยาทั่วไป ไม่เป็นอุปสรรคระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

ข้อควรระวังในการทานยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

ให้เช็กตารางของการมีประจำเดือนให้ดี ๆ เพราะถ้าพลาดแล้วแก้ไขยาก ผลข้างเคียงมาก เช่น ทำให้รู้สึกง่วงนอน คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด น้ำหนักขึ้น ตัวบวม หรือบางครั้งอาจจะส่งผลให้มีอารมณ์แปรปรวนด้วยยาคุมไม่ได้ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

แบบที่ 5 Safe Sex ด้วยการฉีดยาคุมกำเนิด

การฉีดยาคุมสามารถคุมกำเนิดได้ 100% ซึ่งวิธีนี้สามารถคุมกำเนิดได้ยาวนาน 1-3 เดือน แต่ผลข้างเคียงเยอะมาก หากฉีดยาคุมควรปรึกษาหมอก่อนฉีด  ซึ่งวิธีนี้จะไม่ค่อยสะดวก และราคาสูงกว่าการทานยาคุมแบบเม็ด แต่การฉีดยาคุมถือว่ามีประสิทธิภาพสูงมากในการคุมกำเนิด 

ข้อดีของการฉีดยาคุม

คุมกำเนิดได้ยาวนาน 1-3 เดือน แล้วแต่ชนิดยา โดยไม่ต้องทานยาทุกวัน ไม่รบกวนต่อการมีเพศสัมพันธ์สามารถใช้ได้แม้จะอยู่ในช่วงให้นมลูก ช่วยแก้ปัญหารอบเดือนที่ผิดปกติได้

ข้อควรระวังในการฉีดยาคุม

ต้องฉีดยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพถึงจะหยุดใช้แล้ว เพราะอาจส่งผลจนกว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเป็นปกติ เป็นโรคกระดูกพรุน การใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉีดชนิดเมดรอกซีโปรเจสเทอโรนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อกระดูก แต่ก็จะกลับสู่ภาวะปกติ หากหยุดใช้

ตรวจโรคอย่างสม่ำเสมอ

แนวทางการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  1. ตรวจหาโรคติตต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เพียงแค่เรา แต่คู่นอนของเราเองก็ต้องหมั่นตรวจด้วยอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้สร้างความมั่นใจ และหาแนวทางในการป้องกัน หรือแก้ไขกันต่อไป เพราะเชื้อบางชนิดไม่ได้ออกอาการทันที ใช้ระยะเวลานานกว่าจะออกอาการ 
  2. ป้องกันอยู่เสมอโดยใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งสามารถพกพาถุงยางอนามัยไว้ป้องกันตัวเอง เพราะเราไม่รู้ว่าจะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงกันตอนไหน นอกจากนี้ควรย้ำกับคู่นอน หรือคุณแฟนเราอยู่เสมอว่าต้องใส่ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง 
  3. รักเดียวใจเดียว ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญกับเรื่องความรัก ในเรื่องเพศสัมพันธ์ก็เช่นเดียวกัน รักใครก็รักทีละคน จะมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยก็มีทีละคน ลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาจากคนอื่นด้วย
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว อาจทำให้สติ ความคิด ความยับยั้งชั่งใจที่ดีก็จะลดลงไปด้วย ทำให้เราอาจะไม่ได้นึกถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย หรือถูกวิธี ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมาและต้องมานั่งเสียใจทีหลังได้
  5. การคุมกำเนิด เมื่อคิดจะมีเซ็กส์แล้ว ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาด้วย นอกจากเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว เรื่องการคุมกำเนิดก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ทั้งยาคุมที่กินประจำทุกวัน และยาคุมฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์แบบไม่พร้อมนะคะ อยากจะเน้นย้ำว่า ยาคุมไม่มีผลต่อการป้องกันโรคติดต่อ ไม่สามารถป้องกันโรคได้ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยจึงควรใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทุกครั้ง

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

กามโรคคืออะไร?

โรคหนองในแท้ และหนองในเทียม ต่างกันยังไง

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ไม่ต้องอาย! ถ้า STOP ไม่ได้ ก็ “Safe Sex” เรียนรู้การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย https://www.sanook.com/women/130637/
  • Safe Sex แบบไหนปลอดภัยสุด! https://www.wongnai.com/beauty-tips/safe-sex

Filed Under: ถุงยางอนามัย, เอชไอวี HIV, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Tagged With: Safe Sex, เพศสัมพันธ์กันอย่างปลอดภัย, เอชไอวี, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคเอดส์

กามโรคคืออะไร?

June 10, 2022 by thaihiv365 team

กามโรค

กลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคหรือคนที่ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก เดิมมีชื่อว่า กามโรค (venereal diseases) ในปัจจุบันมีการค้นพบโรคในกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (sexually transmitted infections, STIs) โรคที่สำคัญคือ ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม เริม และเอชพีวี

กามโรค (Venereal Disease)  คืออะไร

กามโรค (Venereal Disease) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) หรือการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) เป็นโรคที่แพร่เชื้อกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทั้งการสอดใส่ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทำออรัลเซ็กส์ ซึ่งติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสผิวหนังที่เป็นโรค หรือสัมผัสเลือด อสุจิ เมือกในช่องคลอด และของเหลวอื่น ๆ ที่มาจากร่างกาย ทั้งนี้กามโรคติดต่อกันได้โดยไม่ใช่จากการร่วมเพศเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการติดต่อทางสายเลือด การถ่ายเลือด การใช้เข็มหรือสิ่งของที่สัมผัสเลือด มูก หรือของเหลวของผู้ป่วยที่มีเชื้อ

กามโรคเชื้อร้ายกลายพันธุ์ พัฒนาเป็น ซูเปอร์กามโรค 4 ชนิด

1. เชื้อไนซีเรีย เมนิงไจไทดิส (Neisseria meningitidis)

ไนซีเรีย เมนิงไจไทดิส เป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อเมนิงโกค็อกคัส หรือไข้กาฬหลังแอ่น  บ่อยครั้งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ก่อให้เกิดอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ เชื้อไนซีเรีย เมนิงไจไทดิส อยู่ในลำคอและโพรงจมูกทางด้านหลัง การแพร่เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวไปยังคู่นนอน ผ่านการทำออรัลเซ็กส์ การจูบแบบดูดดื่ม หรือการกระทำอื่น ๆ ที่ถ่ายทอดเชื้อจากละอองเสมหะ

2. เชื้อไมโคพลาสมา เจนิตาเลียม (Mycoplasma genitalium)

ไมโคพลาสมา เจนิตาเลียม เป็นหนึ่งในเชื้อแบคทีเรียขนาดเล็กที่สุด โดยผู้ติดเชื้อไมโคพลาสมา เจนิตาเลียม ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการใด ๆ อย่างไรก็ตาม เชื้อชนิดนี้สามารถทำให้เกิดอาการคล้ายโรคหนองในเทียม (Chlamydia) และโรคหนองในแท้ (Gonorrhoea) ซึ่งก่อให้เกิดอาการระคายเคืองที่ท่อปัสสาวะ และปากมดลูก และอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ส่งผลให้มันอาจทำให้เกิดภาวะเป็นหมัน มีบุตรยาก การแท้งบุตร และทารกคลอดก่อนกำหนด 

3. โรคบิดจากเชื้อชิเกลลา เฟล็กซ์เนอรี (Shigella flexneri)

โรคบิดไม่มีตัว หรือโรคบิดชิเกลลา แพร่สู่กันผ่านการสัมผัสทางตรงและทางอ้อมกับอุจจาระมนุษย์ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการปวดท้องรุนแรง และถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด 

4. ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum หรือ LGV)

โรคฝีมะม่วง หรือกามโรคต่อมน้ำเหลือง เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย ทราโคมาติส ( Chlamydia Trachomatis) ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วง ในช่วงเริ่มแรกจะมีตุ่มนูน ใส หรือ แผลขนาดเล็กเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ และหายไปเองภายใน 2-3 วันโดยที่ผู้ป่วยมักไม่ทันได้สังเกตพบ ต่อมาต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่ และเจ็บมาก ตรงกลางเป็นร่องของพังผืดคล้ายร่องของมะม่วงอกร่อง จึงเรียกว่า ฝีมะม่วง ซึ่งอาจเกิดโรคเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ผิวหนังบริเวณที่เป็นฝีจะมีอาการอักเสบมีลักษณะบวมแดงร้อนร่วมด้วย บางคนอาจปวดฝีมากจนเดินไม่ถนัด บางครั้งจะทำให้อัณฑะบวม หรือบริเวณปากช่องคลอดบวมมาก ในผู้มีอาการหนักจะมีอาการอักเสบที่ช่องทวารหนักอย่างมาก (Ulcerative proctitis) มีอาการปวดก้น อยากถ่ายอุจจาระตลอดเวลา มีหนองไหลทางรูทวาร และมีเลือดออกทางทวารหนักได้

ส่งผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์

อาการของกามโรค

ผู้ที่ติดเชื้อกามโรคจะแสดงอาการของโรคแตกต่างกันไปตามชนิดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ได้รับเชื้อ ซึ่งอาจปรากฏอาการของโรคที่ส่งผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์อย่างเดียว หรือส่งผลต่ออวัยวะส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย โดยแบ่งมี 3 ระยะ

  • ระยะที่หนึ่ง เชื้อที่เข้าสู่ร่างกายทางรอยแผล รอยถลอก บริเวณที่ติดเชื้อจะเกิด Trombolymphangitis กลายเป็นตุ่มหรือแผลตื้นๆ
  • ระยะที่สอง เรียกว่า inguinal syndrome เชื้อจะลุกลามไปตามท่อน้ำเหลือง ทำให้เกิดการอักเสบที่ต่อมน้ำเหลือง inguinal และ femeral กลายเป็นฝีมะม่วง ระยะนี้ มักพบผู้ป่วยเข้าพบแพทย์มากที่สุด ซึ่งแพทย์สามารถแยกแยะโรคฝีมะม่วง และแผลริมอ่อนได้ง่ายขึ้น
  • ระยะที่สาม เรียกว่า anogenitorectal sybdrome ในระยะท้ายของโรคเกิดขึ้นใน 1-2 ปี ให้หลัง ซึ่งการอักเสบจะสิ้นสุดลง

และบางรายก็อาจไม่ปรากฏอาการใด ๆ เลย โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อกามโรคอาจมีอาการดังนี้

  • มีตุ่ม หรือแผลขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ในช่องปาก หรือทวารหนัก
  • เจ็บหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ
  • ผู้หญิงมีตกขาวออกมาก หรือมีกลิ่นผิดปกติ ส่วนผู้ชายพบน้ำหรือหนองออกมาจากปลายองคชาต
  • รู้สึกเจ็บระหว่างสอดใส่ขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมโตและทำให้รู้สึกแสบ โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ
  • เจ็บหรือปวดบริเวณท้องน้อย
  • ไข้ขึ้น ปวดเมื่อย และรู้สึกหนาวเย็น
  • ระคายเคืองผิวบริเวณอวัยวะเพศอย่างมาก และมีผื่นขึ้นตามมือ แขน และเท้า
  • น้ำหนักลด

ผู้ติดเชื้อกามโรคจะมีอาการดังกล่าวหลังจากได้รับเชื้อมาภายใน 2-3 วัน บางรายอาจใช้เวลาเป็นปีจึงจะแสดงอาการของโรค ซึ่งขึ้นอยู่กับระบบการทำงานของร่างกายผู้ป่วย ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อกามโรคที่ไม่แสดงอาการในทันที อาการของโรคอาจแสดงภายหลัง รวมทั้งอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ ผู้ที่ได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงควรไปพบแพทย์ทันทีหลังได้รับเชื้อจากการร่วมเพศและเมื่อเกิดอาการของโรค

สาเหตุของกามโรค

สาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย ปรสิต และไวรัส นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นช่องทางแพร่กระจายการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี โรคบิดจากเชื้อชิเกลล่า (Shigella) หรือโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไกอาร์เดีย (Giardia Intestinalis)

ปัจจัยเสี่ยงทำให้ติดเชื้อกามโรค ได้แก่

  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ผู้ที่ไม่สวมถุงยางอนามัยเมื่อต้องสอดใส่ตอนร่วมเพศย่อมเสี่ยงติดเชื้อกามโรคสูง ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่ใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้องหรือไม่ใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ การทำออรัลเซ็กส์ (Oral Sex) ก็เสี่ยงติดเชื้อได้เช่นกันหากไม่ใส่ถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางป้องกันการติดเชื้อสำหรับทำออรัลเซ็กส์ (Dental Dam)
  • ร่วมเพศกับคู่นอนหลายคน ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนหลายคนมักเสี่ยงติดเชื้อกามโรค โดยผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ย่อมเสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง
  • มีประวัติป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีประวัติป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ย่อมแพร่เชื้อไปยังคู่นอนของตนได้ง่าย
  • ถูกขืนใจ ผู้ที่ถูกบังคับให้ร่วมเพศหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้น มีโอกาสเสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ผู้ที่ถูกขืนใจควรได้รับการตรวจและรับการรักษาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
  • ร่วมเพศทางทวารหนัก ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กันทางทวารหนักและไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกันนั้น มีโอกาสเสี่ยงรับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • ใช้สารเสพติด ผู้ที่ใช้เข็มร่วมกับผู้อื่นเสี่ยงติดเชื้อจากโรคทางเพศสัมพันธ์หลายโรค ได้แก่ เชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้สารเสพติดมักมีพฤติกรรมเสี่ยงซึ่งนำไปสู่การติดต่อกามโรค
ทดสอบเลือด

การวินิจฉัยกามโรค

การตรวจกามโรคจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคใด โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการป่วยหรือได้รับเชื้อกามโรค  และยังช่วยระบุสาเหตุการติดเชื้อที่เกิดขึ้นได้ โดยแพทย์อาจเจาะเลือด เก็บตัวอย่างปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งเพื่อนำไปตรวจในห้องทดลอง

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการของโรคก็อาจต้องได้รับการตรวจคัดกรองด้วย ซึ่งบุคคลต่อไปนี้อาจเข้ารับการตรวจเพื่อคัดกรองการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทุกราย สามารถเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี
  • สตรีมีครรภ์ต้องได้รับการตรวจเพื่อคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส ซึ่งการตรวจคัดกรองโรคเหล่านี้ แพทย์มักตรวจในการฝากครรภ์ครั้งแรก นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์ที่เสี่ยงติดเชื้อสูงอาจต้องได้รับการตรวจหนองในแท้และไวรัสตับอักเสบซีระหว่างตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 ครั้ง
  • ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์หรืออายุ 21 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อตรวจภายใน ซึ่งจะช่วยตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับปากมดลูกอย่างโรคมะเร็งหรือการติดเชื้ออันทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ
  • ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ควรได้รับการตรวจหนองในเทียม โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างปัสสาวะหรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอดเพื่อนำไปตรวจ
  • ผู้ชายที่ร่วมเพศกับเพศเดียวกันเสี่ยงติดเชื้อกามโรคได้สูงกว่ากลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์รูปแบบอื่น จึงควรได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส หนองในเทียม และหนองในแท้ โดยอาจตรวจปีละครั้งหรือมากกว่านั้น นอกจากนี้ อาจต้องตรวจไวรัสตับอักเสบบีด้วย
  • ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสี่ยงติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นได้สูง หากได้รับการวินิจฉัยว่าได้รับเชื้อเอชไอวี แพทย์อาจต้องตรวจหาซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม และโรคเริมด้วย รวมทั้งตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี ส่วนผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีมักเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก จึงควรตรวจภายในหลังจากแพทย์วินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อกามโรคทั้งคู่ก่อนมีเพศสัมพันธ์กัน

การรักษากามโรค

แต่ละโรคมีวิธีรักษาที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปแล้ว โรคเหล่านี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส โดยโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นรักษาให้หายได้ง่ายกว่า ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสทำได้โดยดูแลอาการไม่ให้กำเริบได้ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด วิธีดูแลและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประกอบด้วยการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส และการฉีดวัคซีน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิตนั้นรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ได้แก่ หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส  และเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะต้องได้รับการรักษาจนครบกำหนด นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการรักษาจนครบกำหนดและแผลหายดี
  • ยาต้านไวรัส ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเริมควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส แต่อาจทำให้คู่นอนของผู้ป่วยติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาต้านไวรัสยังใช้รักษาผู้ป่วยเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้แม้จะมีโอกาสเสี่ยงต่ำก็ตาม ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง จะช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสให้น้อยลงจนตรวจหาแทบไม่พบ

ภาวะแทรกซ้อนจากกามโรค

ผู้ที่ได้รับเชื้อกามโรคซึ่งอยู่ในระยะแรก ควรได้รับการตรวจโรคเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ ดังนี้

  • ปวดท้องน้อย 
  • ปวดกระดูกเชิงกราน หรืออักเสบ
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์
  • ทารกติดเชื้อที่ดวงตา
  • เกิดอาการข้ออักเสบ
  • เกิดการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน
  • เกิดภาวะมีบุตรยาก
  • ป่วยเป็นโรคหัวใจ
  • ป่วยเป็นโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งตับจากไวรัสตับเสบบีและซี เป็นต้น
ถุงยางอนามัยป้องกันกามโรค

การป้องกันกามโรค

ทำได้โดยเริ่มจากการป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น วิธีป้องกันกามโรคมีดังนี้

  • งดการมีเพศสัมพันธ์
  • ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องเป็นประจำ การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค ไม่ควรใช้น้ำมันหล่อลื่นที่เป็นน้ำมัน เช่น ปิโตรเลียมเจลลี่กับถุงยางอนามัย
  • ควรมีคู่ครองเพียงคนเดียว ถือเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ติดเชื้อกามโรค 
  • ตรวจสอบคู่นอนของคุณให้แน่ใจว่าไม่มีโรคติดต่อใดๆ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนใหม่ จนกว่าคุณทั้งคู่จะได้รับการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่คลีนิคกามโรค
  • รับการฉีดวัคซีน การได้รับวัคซีนก่อนการมีเพศสัมพันธ์สามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางประเภทได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และไม่ควรใช้ยาเสพติด
  • พูดคุยกับคู่นอนของคุณก่อนการมีเพศสัมพันธ์
  • การป้องกันโรคก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพร็พ (PrEP) เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวี

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

โรคหนองในแท้ และหนองในเทียม ต่างกันยังไง

โรคซิฟิลิส รักษาหายได้ ถ้ารู้เท่าทัน

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • กามโรค https://www.pobpad.com/กามโรค
  • กามโรค เชื้อร้ายกลายพันธุ์ พัฒนาเป็น “ซูเปอร์กามโรค” 4 ชนิดที่สร้างความกังวลทางสาธารณสุข
    https://www.bbc.com/thai/features-47116825
  • กามโรค (Venereal Disease) : อาการ สาเหตุ การรักษา https://cth.co.th/venereal-disease/

Filed Under: โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Tagged With: Venereal Disease, กามโรค, สาเหตุของกามโรค, อาการของกามโรค, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • Go to page 1
  • Go to page 2
  • Go to Next Page »

Primary Sidebar

Recent Posts

  • แยกให้เป็น HIV กับ AIDS ไม่เหมือนกัน
  • เจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ อาการบ่งบอกถึงโรค “หนองใน”
  • โรคฝีมะม่วง..ภัยร้ายใกล้ตัว
  • หนองในเทียม (Chlamydia)
  • CD4 ที่เท่าไหร่ถึงเรียกว่าระดับน่าเป็นห่วง

Archives

  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • November 2021
  • September 2021
  • April 2021
  • November 2020
  • September 2020
  • May 2020
  • April 2020

Categories

  • PEP
  • PrEP
  • Uncategorized
  • ตรวจเอชไอวี
  • ถุงยางอนามัย
  • ยาต้านไวรัส
  • หนองใน
  • หนองในเทียม
  • เอชไอวี HIV
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โรคฝีดาษลิง
  • โรคฝีมะม่วง

Copyright © 2023 · Genesis Sample on Genesis Framework · WordPress · Log in