• Skip to primary navigation
  • Skip to main content
  • Skip to primary sidebar

ThaiHiv365

Never leave someone behind.

  • หน้าแรก
  • จองคิวตรวจเอชไอวี
  • เอชไอวีและเอดส์
    • การรักษาเอชไอวี
    • การป้องกันเอชไอวี
    • การตรวจเอชไอวี
    • เอดส์ คืออะไร
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • โรคหนองในเทียม
    • โรคหนองใน ภัยร้ายใกล้ตัว รู้ก่อนรักษาได้
    • โรคหูดข้าวสุก
    • โรคหูดหงอนไก่
    • โรคเริม
    • แผลริมอ่อน
    • โรคซิฟิลิส
  • เพร็พ PrEP/ เป็ป PEP
    • เพร็พ PrEP
    • เป๊ป PEP
  • บทความ
  • ถาม-ตอบ
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา

หนองในเทียม

เจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ อาการบ่งบอกถึงโรค “หนองใน”

January 6, 2023 by 365team

เจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ อาการบ่งบอกถึง หนองใน

หนองใน คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง สามารถพบได้บ่อยมากเป็นอันดับต้นๆ พบได้ประมาณ  40 – 50 % ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หนองในเกิดจากการติดเชื้อ Neisseria gonorrhoeae เชื้อนี้จะทำให้เกิดเฉพาะเยื่อเมือก Mucous Membrance เช่น เยื่อเมือกในท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก เยื่อบุมดลูก ท่อรังไข่ ทวารหนัก เยื่อบุตา คอ เป็นต้น โดยเชื้อนี้มี ระยะฟักตัวเร็ว คือประมาณ 1-10 วัน

หนองใน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • หนองในแท้ (Gonorrhoea)
  • หนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis)

อาการหนองใน

อาการหนองในของผู้ชาย

อาการของหนองในขึ้นอยู่กับบริเวณที่ติดเชื้อ ผู้ชายบางคนโดยเฉพาะคนที่เป็นหนองที่ทวารหนัก และลำคอ จะไม่มีร่องรอยหรืออาการใดๆ เลย แต่ถ้ามีอาการเกิดขึ้นอาจรวมถึงมีของเหลวข้นสีเหลือง หรือขาวที่ไหลออกจากองคชาต เจ็บหรือลำบากในการถ่ายปัสสาวะ บริเวณรอบๆ รูองคชาตเป็นสีแดง มีของเหลวออกจากทวารหนัก และรู้สึกไม่สบายเนื้อตัว

อาการหนองในของผู้หญิง

ส่วนใหญ่ไม่มีร่องรอยหรืออาการใดๆ แต่ถ้ามีอาการเกิดขึ้น อาจรวมถึงมีของเหลวออกจากช่องคลอดมากผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ถ่ายปัสสาวะลำบาก เจ็บอุ้งเชิงกรานโดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์ มีของเหลวออกจากทวารหนัก และรู้สึกไม่สบายเนื้อตัว

การวินิจฉัย หนองใน

การวินิจฉัยหนองใน

หนองใน สามารถวินิจฉัยได้หลากหลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างเชื้อจากบริเวณที่อาจมีการติดเชื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างนั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีและไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยหนองในในเพศชายและเพศหญิงอาจมีข้อแตกต่างกัน คือ

  • การวินิจฉัยในเพศชาย : มักใช้การตรวจปัสสาวะ หรือเก็บตัวอย่างจากของเหลวที่ถูกขับออกมาจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งผู้ป่วยต้องไม่ปัสสาวะเป็นเวลา 2 ชั่วโมงก่อนหน้าการเก็บตัวอย่าง เนื่องจากการปัสสาวะจะไปล้างเชื้อแบคทีเรียโรคหนองในแท้ ส่งผลต่อความแม่นยำของการวินิจฉัยโรค
  • การวินิจฉัยในเพศหญิง : แพทย์หรือพยาบาลมักจะใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างจากช่องคลอดหรือปากมดลูกระหว่างที่ตรวจภายใน หรือบางกรณีก็อาจมีการเก็บตัวอย่างจากบริเวณท่อปัสสาวะด้วย ทั้งนี้ผู้ป่วยจะขอเก็บตัวอย่างจากภายในช่องคลอดด้วยสำลีหรือผ้าอนามัยแบบสอดด้วยตนเองก็ได้

ภาวะแทรกซ้อนของหนองใน

  • ภาวะมีบุตรยากในเพศชาย โรคหนองในที่ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้มีภาวะอัณฑะอักเสบ ซึ่งเป็นการอักเสบของท่อม้วนขนาดเล็กในส่วนหลังของลูกอัณฑะที่มีท่ออสุจิอยู่ โดยภาวะอัณฑะอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษานี้สามารถนำไปสู่การเกิดภาวะมีบุตรยาก
  • ภาวะมีบุตรยากในเพศหญิง เชื้อหนองในสามารถแพร่กระจายไปยังมดลูกและท่อนำไข่ เป็นสาเหตุของการติดเชื้อและอักเสบในอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดพังผืดที่ท่อนำไข่ เสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก อาการปวดเชิงกรานระยะยาว ภาวะมีบุตรยาก รวมถึงภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี หนองในจะส่งผลให้ผู้ป่วย ไวต่อการติดเชื้อเอชไอวี และผู้ที่ติดเชื้อทั้งหนองในและเอชไอวี จะสามารถแพร่กระจายโรคทั้ง 2 ชนิด ไปสู่คู่นอนของตนเองได้เร็วกว่าปกติ
  • ภาวะแทรกซ้อนในทารก การได้รับเชื้อหนองในจากมารดาระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งผลต่อการติดเชื้อรุนแรงที่อวัยวะอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของทารกได้

การป้องกันหนองใน

  • ใช้ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยหนองในหรือคู่นอนที่มีความเสี่ยง
  • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • รับการตรวจหนองในเป็นประจำ
การรักษา หนองใน

การรักษาหนองใน

หนองใน สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะในช่วงสั้น ๆ โดยฉีดยาปฏิชีวนะแล้วตามด้วยการให้ยาปฏิชีวนะแบบเม็ด หลังจากได้รับยา ผู้ป่วยจะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่อาการเจ็บบริเวณเชิงกรานหรือลูกอัณฑะนั้นอาจต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์จึงจะหายดี ส่วนผู้ป่วยที่มีเลือดออกระหว่างรอบเดือนหรือประจำเดือนมามากผิดปกติซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคจะพบว่าอาการดีขึ้นเมื่อถึงรอบเดือนครั้งถัดไป

หนองในรักษาได้ที่ไหน ?

หนองใน สามารถรับการรักษาได้โดยการใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสิทธิประกันสังคมได้ จากทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน หรือ คลินิกเฉพาะทางเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาหนองในจะขึ้นอยู่กับสิทธิการรักษา เช่น ประกันสุขภาพถ้วนหรือประกันสังคม โดยอาจไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือจ่ายเพียง 30 บาทเท่านั้น

รักษาหนองใน ราคาเท่าไร ?

ค่ารักษาหนองใน หากคนไทยใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหรือประกันสังคมไม่เสียค่าใช้จ่าย บางคนใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท  ทั้งนี้อาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆขึ้นอยู่กับอาการของโรคในแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน  ส่วนใครที่รักษากับคลินิคเอกชน หรือโรงพยาบาล ราคาเริ่มต้นที่ 500 บาท

“แนะนำให้โทรสอบถามสถานพยาบาลนั้นๆก่อน เพราะจะได้ทราบถึงค่าใช้จ่าย​”

ค้นหาสถานที่ตรวจหนองในและรักษาหนองในได้ง่ายๆที่ >> http://love2test.org

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

  • หนองในเทียม (Chlamydia)
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์(STI) ที่พบได้บ่อย

Filed Under: หนองใน Tagged With: หนองใน, หนองในเทียม, หนองในแท้, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

หนองในเทียม (Chlamydia)

November 25, 2022 by 365team

“หนองในเทียม” เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันกับผู้ที่ติดเชื้อ เชื้อสามารถแพร่ติดต่อได้หลายทาง เช่น ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก ทางปาก หรือแม้กระทั่งทางตา สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง

หนองใน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • หนองในแท้
  • หนองในเทียม

อาการของหนองในเทียม

อาการ หนองในเทียม ผู้ชาย

  • มีมูกใสหรือขุ่นไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ
  • มีอาการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
  • รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
  • รู้สึกปวดหรือมีการบวมที่ลูกอัณฑะ
  • มีหนองที่บริเวณทวารหนัก มีเลือดไหล 

อาการ หนองในเทียม ผู้หญิง

  • มีตกขาวลักษณะผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น
  • รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
  • รู้สึกคันหรือแสบร้อนบริเวณรอบอวัยวะเพศ
  • รู้สึกเจ็บท้องน้อยเวลามีประจำเดือนหรือขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีหนองที่บริเวณทวารหนัก มีเลือดไหล

การวินิจฉัยหนองในเทียม

  • การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swap Test) คือการใช้ไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งที่บริเวณปากมดลูก ปลายท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือลำคอ เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ
  • การทดสอบปัสสาวะ (Urine Test) คือการเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไปตรวจ ควรเป็นปัสสาวะที่ทิ้งระยะจากการปัสสาวะครั้งล่าสุด 1-2 ชั่วโมง

หนองในเทียมในหญิงตั้งครรภ์และทารก

หากติดเชื้อหนองในเทียม ระหว่างตั้งครรภ์ อาจเกิดการแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารก ส่งผลทำให้ทารกเกิดการติดเชื้อที่ตาและปอดได้ หากมารดาไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที จะส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ หรือแท้งได้ และอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ุทำให้มีบุตรยาก

การป้องกัน หนองในเทียม

  • ใช้ถุงยางอนามัยครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ สามารถช่วยป้องกันหนองในเทียมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
  • มีคู่นอนเพียงคนเดียว การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นหนองในเทียม
  • ควรหมั่นไปพบแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจร่างกาย ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การรักษาหนองในเทียม

การรักษาหนองในเทียม สามารถรักษาได้โดยการรับประทาน “ยาปฏิชีวนะ” เพื่อช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของแบคทีเรีย ตัวอย่างกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาหนองในเทียมในประเทศไทย ได้แก่

  • กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillins)
  • กลุ่มยาแมคโครไลด์ (Macrolides)
  • กลุ่มยาเตตราไซคลิน (Tetracyclines)

หนองในเทียมรักษาแล้ว จะหายเมื่อไหร่ ?

หนองในเทียม อาจเป็นเรื้อรังและรักษาให้หายได้ยากกว่าหนองในแท้ เนื่องจากส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบเชื้อที่เป็นต้นเหตุ แต่สำหรับหนองในเทียมที่เกิดจากเชื้อคลามัยเดีย (ซึ่งเกิดได้เป็นส่วนใหญ่) จะรักษาให้หายขาดได้ ภายใน 14 วัน หากรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

  • โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata)
  • ทำความรู้จักกับ โรคฝีดาษลิง

Filed Under: หนองในเทียม Tagged With: รักษาหนองในเทียม, หนองใน, หนองในเทียม, อาการหนองในเทียม

หนองใน

March 15, 2022 by 365team

หนองใน เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมด โดยปกติแล้วผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการของโรคอย่างชัดเจน ควรรีบการรักษาก่อนที่จะแพร่สู่คู่นอน หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากยิ่งขึ้น

หนองในคืออะไร ?

หนองใน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อ Neisseria gonorrhoeae ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในน้ำอสุจิและสารน้ำในช่องคลอด จึงถ่ายทอดผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก โรคหนองในแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. โรคหนองในแท้
  2. โรคหนองในเทียม

หนองในแท้และหนองในเทียมต่างกันอย่างไร

หนองในแท้และหนองในเทียมถึงแม้จะมีชื่อคล้ายกันแต่มีสาเหตุการติดเชื้อ อาการ รวมทั้งการรักษาที่ต่างกัน ดังนี้

หนองในแท้

  • เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย
  • มีระยะการฟักตัวของโรคประมาณ 1-14 วัน 
  • การรักษาใช้ยาปฏิชีวนะหลายขนานคือ เซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) เป็นยาฉีด ร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น อซิโทรมัยซิน (azithromycin) ครั้งเดียว เพื่อลดปัญหาเชื้อโรคดื้อยา

หนองในเทียม

  • เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis)
  • มีระยะการฟักตัวของโรคมากกว่า 10 วันขึ้นไป
  • การรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มด็อกซีไซคลิน (Doxycyclin) อะซิโธรมัยซิน (azithromycin) และยากลุ่มควิโนโลน (Quinolones) ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน

อาการของโรคหนองใน

อาการ ในผู้ชายอาการ ในผู้หญิง
มีอาการปัสสาวะแสบขัด และมีหนองสีขาวขุ่นข้นไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ ซึ่งในระยะแรกๆ หนองอาจจะไม่ขุ่นเท่าไร แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้หนองขุ่นขึ้น มีโอกาสทำให้เป็นหมันได้มีอาการปัสสาวะแสบขัด มีตกขาวปริมาณมากและมีกลิ่นเหม็นรุนแรง เกิดการอักเสบที่ปากมดลูกและท่อปัสสาวะ หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้โรคลุกลามจนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะอุดตันในท่อรังไข่ ส่งผลให้เป็นหมัน หรือมีการตั้งครรภ์นอกมดลูก

กิจกรรมที่ไม่ทำเกิดการติดเชื้อหนองใน

  • การจับมือ
  • การกอด
  • การจูบ
  • การใช้แก้วน้ำ จาน ชามร่วมกัน
  • การใช้ห้องน้ำร่วมกัน
  • การใช้สระว่ายน้ำร่วมกัน 

การป้องกันโรคหนองใน

ใช้ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคหนองในหรือคู่นอนที่มีความเสี่ยง ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพราะจะยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเข้ารับการตรวจโรคหนองในเป็นประจำ

การรักษาโรคหนองใน

สำหรับการรักษาโรคหนองในนั้น สามารถใช้การรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ในการรักษา รวมถึงใช้การรักษาอื่นๆควบคู่เพื่อบรรเทาอาการและรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรค การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจะค่อนข้างได้ผลดี หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเร็ว สามารถหายได้เร็ว แต่อาการความเสียหายของเนื้อเยื่อต้องใช้เวลาให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง สำหรับผู้ติดเชื้อหนองใน แพทย์จะให้ตรวจเลือด เพื่อดูว่าติดเชื้อโรคอื่นๆหรือไม่ เช่น เชื้อเอชไอวี เชื้อซิฟิลิส

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

ไวรัสตับอักเสบบี..ภัยเงียบที่ควรระวัง

อาการแบบนี้ ใช่โรคหนองในเทียมหรือเปล่า?

Filed Under: โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Tagged With: หนองใน, หนองในเทียม, หนองในแท้

อาการแบบนี้ ใช่โรคหนองในเทียมหรือเปล่า?

April 16, 2020 by thaihiv365 team

ต้องยอมรับว่ากลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบัน มีโอกาสพบเจอกันได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น จากแอพพลิเคชั่นออนไลน์ทั่วไป อันเป็นเหตุมาซึ่งความเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน หนึ่งในกามโรคที่ตรวจพบได้บ่อยไม่น้อยไปกว่าไวรัสเอชไอวี เลยก็คือ “โรคหนองในเทียม” ซึ่งจะพบได้ในกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย กลุ่มผู้ใช้บริการทางเพศ หรือกลุ่มคนที่มีรสนิยมไม่ชอบสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจเนื่องมาจากการที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศศึกษา การป้องกันโรค หรืออาจมีแนวคิดว่าการสวมถุงยางอนามัยมันไม่เท่ห์ และทำให้อรรถรสในการมีเพศสัมพันธ์ลดน้อยลง

อาการหนองในเทียม หนองในเทียม เชื้อหนองในเทียม โรคหนองในเทียม ตรวจหนองในเทียม ยาหนองในเทียม รักษาหนองในเทียม สาเหตุหนองในเทียม

โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis) เกิดจากการติดเชื้อจากหลายปัจจัย ได้แก่ แบคทีเรีย โปรโตซัว เชื้อรา แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Chlamydia Trachomatis ซึ่งพบได้ประมาณ 40% ที่สังเกตอาการได้ชัดเจนที่สุดและระบุได้ว่าไม่ใช่โรคหนองในแท้ คือ หนองในเทียมจะไม่มีการติดเชื้อหนอง มีระยะฟักตัวของโรคหลังจากได้รับเชื้อ มักจะแสดงอาการภายใน 7-14 วันขึ้นไป

การติดต่อของโรคหนองในเทียม

หนองในเทียม จะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้สวมถุงยางอนามัยเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก ทั้งในคู่รักชายหญิงทั่วไป กลุ่มชายรักชาย หรือหญิงรักหญิงด้วยก็สามารถทำให้ติดเชื้อหนองในเทียมได้เช่นกัน เพราะเชื้อนี้สามารถติดต่อกันได้แม้เพียงสัมผัสโดนบริเวณโรค นอกจากนี้ยังอาจติดต่อจากแม่ไปสู่ลูก ในขณะที่มีการคลอดปกติทางช่องคลอดได้อีกด้วย

อาการของโรคหนองในเทียม

ในระยะแรกที่ติดเชื้อใหม่ ๆ แทบจะไม่มีอาการอะไรแสดงออกมา จนกว่าจะติดเชื้อได้สักประมาณ 7-30 วันขึ้นไปแล้ว หากมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (การทำออรัลเซ็กส์) อาจมีโอกาสติดเชื้อในลำคอ มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง เป็นไขและไอ หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก จะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณนั้น อาจมีน้ำ หรือเลือดออกมาจากทวารหนักได้ การติดเชื้อหนองในเทียม ยังสามารถกระจายไปที่ลำไส้ตรงซึ่งเป็นส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ ที่ต่อกับทวารหนักได้ด้วย โดยอาการจะแบ่งออกตามเพศ ดังนี้

ในเพศชาย

  • จะมีมูกใส ๆ หรือขุ่น ไหลซึมออกมาจากปลายอวัยวะเพศเล็กน้อย แต่ไม่มีลักษณะข้น และออกมาเยอะมากแบบโรคหนองในแท้ (ไม่ใช่ปัสสาวะ หรือน้ำอสุจิ)
  • รู้สึกเจ็บ หรือมีอาการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
  • เวลาปัสสาวะจะรู้สึกเจ็บ หรือแสบที่อวัยวะเพศ ปวดบวมที่ลูกอัณฑะ

ในเพศหญิง

  • มีอาการตกขาวลักษณะผิดปกติ และมีกลิ่นเหม็น
  • เวลาปัสสาวะจะรู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศ เหมือนกับเพศชาย
  • รู้สึกคัน หรือแสบร้อนบริเวณรอบอวัยวะเพศ
  • เจ็บท้องน้อย ปวดหลัง มีไข้ คลื่นไส้ ในช่วงที่มีประจำเดือน
  • มีเลือดออกผิดปกติในขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์ หรือระหว่างที่ยังไม่เป็นประจำเดือน
ถุงยางอนามัย HIV เอชไอวี AIDS โรคเอดส์ ตรวจเลือด กามโรค เชื้อหนองใน โรคติดต่อทางเพศ ถุงยางอนามัยป้องกันเอชไอวี

อาการดังกล่าวข้างต้นนี้ จะป้องกันได้ด้วยการใส่ใจในการป้องกันตนเองเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง ก็จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อหนองในเทียมได้มากขึ้น แต่หากติดเชื้อแล้วควรรีบตรวจ รีบรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ เพราะอาการเหล่านี้ อาจจะเป็นแบบเรื้อรังนานแรมเดือนแรมปี และยังส่งต่อเชื้อให้กับคู่นอนของคุณไปเป็นทอด ๆ ทำให้รักษาไม่หายขาด เพราะฉะนั้นหากคุณมีความเสี่ยง วิธีการที่จะยับยั้งไม่ให้เชื้อลุกลามเป็นปัญหาไปมากกว่านี้ คือ การตัดสินใจไปตรวจหาเชื้อ และทำการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง ผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะดีที่สุด

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม

  • ทำไมถึงควรตรวจเอชไอวีเป็นประจำ
  • เพร็พ PrEP ทางเลือกเพื่อป้องกันเอชไอวี

Filed Under: โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Tagged With: กามโรค, หนองในเทียม, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

Primary Sidebar

Recent Posts

  • แยกให้เป็น HIV กับ AIDS ไม่เหมือนกัน
  • เจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ อาการบ่งบอกถึงโรค “หนองใน”
  • โรคฝีมะม่วง..ภัยร้ายใกล้ตัว
  • หนองในเทียม (Chlamydia)
  • CD4 ที่เท่าไหร่ถึงเรียกว่าระดับน่าเป็นห่วง

Archives

  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • November 2021
  • September 2021
  • April 2021
  • November 2020
  • September 2020
  • May 2020
  • April 2020

Categories

  • PEP
  • PrEP
  • Uncategorized
  • ตรวจเอชไอวี
  • ถุงยางอนามัย
  • ยาต้านไวรัส
  • หนองใน
  • หนองในเทียม
  • เอชไอวี HIV
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โรคฝีดาษลิง
  • โรคฝีมะม่วง

Copyright © 2023 · Genesis Sample on Genesis Framework · WordPress · Log in