• Skip to primary navigation
  • Skip to main content
  • Skip to primary sidebar

ThaiHiv365

Never leave someone behind.

  • หน้าแรก
  • จองคิวตรวจเอชไอวี
  • เอชไอวีและเอดส์
    • การรักษาเอชไอวี
    • การป้องกันเอชไอวี
    • การตรวจเอชไอวี
    • เอดส์ คืออะไร
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • โรคหนองในเทียม
    • โรคหนองใน ภัยร้ายใกล้ตัว รู้ก่อนรักษาได้
    • โรคหูดข้าวสุก
    • โรคหูดหงอนไก่
    • โรคเริม
    • แผลริมอ่อน
    • โรคซิฟิลิส
  • เพร็พ PrEP/ เป็ป PEP
    • เพร็พ PrEP
    • เป๊ป PEP
  • บทความ
  • ถาม-ตอบ
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา

ถุงยางอนามัย

การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัยเป็นไปได้หรือไม่

July 19, 2022 by thaihiv365 team

การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัย

เรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญของทุกคน การป้องกันก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน การมีเซ็กส์ยังไงให้ปลอดภัย เพื่อการป้องกัน และลดความเสี่ยงการติดต่อของโรคทางเพศสัมพันธ์

Safe Sex คืออะไร 

คือ การมีเซ็กซ์ หรือเพศสัมพันธ์กันอย่างปลอดภัย ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่ามีเพียงแค่การใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่ความจริงแล้วการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยมีมากกว่านั้น อย่างเช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าการช่วยตัวเอง ซึ่งวิธีอย่างหนึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ร้ายแรง หรือน่ารังเกียจ

ทำไมต้อง Safe Sex? 

การ Safe Sex หรือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยนั้น เพื่อเป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี, โรคเอดส์, ซิฟิลิส, หนองใน ฯลฯ หรือช่วยในการคุมกำเนิด ตั้งท้องในขณะที่ยังไม่พร้อม 

การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัยเป็นไปได้หรือไม่ 

เป็นไปได้ หากเรามีความรู้ และการเข้าใจในการมีเซ็กซ์ หรือเพศสัมพันธ์ อย่างถูกต้อง ทำให้เรามีเซ็กส์อย่างปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

Safe Sex มีแบบไหนบ้าง?

แบบที่ 1 ก่อนที่จะมี Sex กับใครได้โปรดตรวจเลือดเพื่อความชัวร์! 

แม้ว่าเราจะมั่นใจในตัวเอง หรือไว้ใจในคู่นอนของเรามากแค่ไหน แต่การตรวจเลือดก่อนมีเพศสัมพันธ์ก็จะชัวร์และปลอดภัยมากกว่า เพราะการที่เราตรวจเลือดก่อนมีเพศสัมพันธ์ก็เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เราสามารถตรวจได้จากเลือดนั้นเอง เช่น โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส หรือโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี ที่ติดแล้วรักษายากมาก ๆ ซึ่งสามารถตรวจได้ตามโรงพยาบาลทั่วไปเลย ฉะนั้นก่อนมีเพศสัมพันธ์เราอยากจะแนะนำให้ตรวจเลือดก่อนทุกครั้งเพื่อเขาเพื่อเราจะได้ปลอดภั

แบบที่ 2 Safe Sex ด้วยถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย

ถุงยางอนามัยของผู้ชายนั้นเป็น Safe Sex แบบเบสิก ถ้าใช้ถูกวิธีรับรองว่าปลอดภัย 100% และหาซื้อง่าย ราคาไม่แพง เพราะนอกจากจะสามารถช่วยป้องกันเราจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถคุมกำเนิดได้ดีอีกด้วย

ข้อดีของการใช้ถุงยางอนามัย

สามารถป้องกันเราจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการคุมกำเนิดได้ 100% ถ้าถุงยาง ไม่รั่ว ไม่ขาด ไม่หมดอายุ ฉะนั้นเช็กดี ๆ ก่อนสวม ราคาไม่แพง หาซื้อง่ายตามร้านสะดวกซื้อ เปิดขายกันตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพหรือภาวะแทรกซ้อนด้วย

ข้อควรระวังในการใช้ถุงยาง

อาจทำให้เกิดการแพ้สารเคมีในถุงยางได้ และอาจทำให้ถุงยางรั่วหรือแตก ระวังกันด้วยน้าา เช็กวันหมดอายุ รวมถึงเช็กขนาด รอยขาด รอยรั่วด้วยเพื่อความปลอดภัยของเรา

ห้ามใช้ถุงยางอนามัยพร้อมกัน


แบบที่ 3 Safe Sex ด้วยถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง

ถุงยางอนามัยของผู้หญิงมีความปลอดภัยสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดเข้าไปในช่องคลอดเช่นกัน และมีราคาแพงกว่าถุงยางของผู้ชาย ถุงยางผู้หญิงทำจากพลาสติกที่เรียกว่าโพลียูรีเทน (Polyurethane) ซึ่งมีขนาดบางมากก อ่อนนุ่ม ผู้หญิงทุกคนสามารถใช้ได้ แต่สำหรับคนที่แพ้สารโพลียูรีเทนหรือยางสังเคราะห์ หรืออวัยวะเพศมีความผิดปกติ ใส่ไม่พอดีหรือหลวมไปควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด

ข้อดีของการใช้ถุงยางผู้หญิง

ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, สามารถป้องกันการตั้งท้องได้ ถ้าใช้อย่างถูกต้อง, สามารถใช้ได้ขณะมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ และไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้งาน

ข้อควรระวังในการใช้ถุงยาง

แกะถุงยางอนามัยออกจากซองอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันการฉีกขาด โดยส่วนวงแหวนที่มีขอบยางหนาจะถูกสอดใส่ไว้ในอวัยวะเพศหญิง และวงแหวนที่มีขอบยางบางจะอยู่ที่ปากช่องคลอด ควรตรวจสอบว่าถุงยางไม่พลิกตัว หรือพับงอ และปลายเปิดของถุงยางอยู่ที่ปากอวัยวะเพศ

ควรถอดถุงยางผู้หญิงโดยการบิดวงแหวนด้านนอกหรือปลายเปิดของถุงยาง และดึงออกจากอวัยวะเพศ ห้ามใช้ทั้งถุงยางผู้หญิงและถุงยางผู้ชายพร้อมกันขณะร่วมเพศ เพราะอาจเกิดการเสียดสีกันจนฉีกขาดได้ถุงยางอนามัยของผู้หญิงสามารถใช้ได้กับสารหล่อลื่นทุกประเภท แต่ห้ามใช้วาสลีน หรือน้ำมัน

แบบที่ 4 Safe Sex ด้วยการทานยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด 

เป็นตัวเลือกของผู้หญิง ที่นิยมใช้กันมาก คือ ยาคุมกำเนิด แต่ไม่ป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ฉะนั้นอย่าลืมใช้ถุงยางทุกครั้งด้วย แต่ยาคุมชนิดเม็ดก็ยังเป็นที่นิยมอยู่

  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วย ฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ตัวนี้เป็นชนิดที่เราแนะนำเพราะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าตัวอื่น ๆ
  • ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน แบบเดี่ยว เหมาะกับคนที่อยู่ช่วงให้นมลูก 
  • ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน ไม่แนะนำให้ทาน แต่ควรใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉินมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน หรือการคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ผิดพลาด เช่น ถุงยางแตก รั่วหรือหลุด เท่านั้น

ข้อดีของการทายาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

ทานง่าย สะดวก หาซื้อได้ง่าย ตามร้านขายยาทั่วไป ไม่เป็นอุปสรรคระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

ข้อควรระวังในการทานยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

ให้เช็กตารางของการมีประจำเดือนให้ดี ๆ เพราะถ้าพลาดแล้วแก้ไขยาก ผลข้างเคียงมาก เช่น ทำให้รู้สึกง่วงนอน คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด น้ำหนักขึ้น ตัวบวม หรือบางครั้งอาจจะส่งผลให้มีอารมณ์แปรปรวนด้วยยาคุมไม่ได้ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

แบบที่ 5 Safe Sex ด้วยการฉีดยาคุมกำเนิด

การฉีดยาคุมสามารถคุมกำเนิดได้ 100% ซึ่งวิธีนี้สามารถคุมกำเนิดได้ยาวนาน 1-3 เดือน แต่ผลข้างเคียงเยอะมาก หากฉีดยาคุมควรปรึกษาหมอก่อนฉีด  ซึ่งวิธีนี้จะไม่ค่อยสะดวก และราคาสูงกว่าการทานยาคุมแบบเม็ด แต่การฉีดยาคุมถือว่ามีประสิทธิภาพสูงมากในการคุมกำเนิด 

ข้อดีของการฉีดยาคุม

คุมกำเนิดได้ยาวนาน 1-3 เดือน แล้วแต่ชนิดยา โดยไม่ต้องทานยาทุกวัน ไม่รบกวนต่อการมีเพศสัมพันธ์สามารถใช้ได้แม้จะอยู่ในช่วงให้นมลูก ช่วยแก้ปัญหารอบเดือนที่ผิดปกติได้

ข้อควรระวังในการฉีดยาคุม

ต้องฉีดยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพถึงจะหยุดใช้แล้ว เพราะอาจส่งผลจนกว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเป็นปกติ เป็นโรคกระดูกพรุน การใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉีดชนิดเมดรอกซีโปรเจสเทอโรนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อกระดูก แต่ก็จะกลับสู่ภาวะปกติ หากหยุดใช้

ตรวจโรคอย่างสม่ำเสมอ

แนวทางการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  1. ตรวจหาโรคติตต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เพียงแค่เรา แต่คู่นอนของเราเองก็ต้องหมั่นตรวจด้วยอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้สร้างความมั่นใจ และหาแนวทางในการป้องกัน หรือแก้ไขกันต่อไป เพราะเชื้อบางชนิดไม่ได้ออกอาการทันที ใช้ระยะเวลานานกว่าจะออกอาการ 
  2. ป้องกันอยู่เสมอโดยใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งสามารถพกพาถุงยางอนามัยไว้ป้องกันตัวเอง เพราะเราไม่รู้ว่าจะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงกันตอนไหน นอกจากนี้ควรย้ำกับคู่นอน หรือคุณแฟนเราอยู่เสมอว่าต้องใส่ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง 
  3. รักเดียวใจเดียว ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญกับเรื่องความรัก ในเรื่องเพศสัมพันธ์ก็เช่นเดียวกัน รักใครก็รักทีละคน จะมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยก็มีทีละคน ลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาจากคนอื่นด้วย
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว อาจทำให้สติ ความคิด ความยับยั้งชั่งใจที่ดีก็จะลดลงไปด้วย ทำให้เราอาจะไม่ได้นึกถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย หรือถูกวิธี ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมาและต้องมานั่งเสียใจทีหลังได้
  5. การคุมกำเนิด เมื่อคิดจะมีเซ็กส์แล้ว ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาด้วย นอกจากเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว เรื่องการคุมกำเนิดก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ทั้งยาคุมที่กินประจำทุกวัน และยาคุมฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์แบบไม่พร้อมนะคะ อยากจะเน้นย้ำว่า ยาคุมไม่มีผลต่อการป้องกันโรคติดต่อ ไม่สามารถป้องกันโรคได้ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยจึงควรใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทุกครั้ง

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

กามโรคคืออะไร?

โรคหนองในแท้ และหนองในเทียม ต่างกันยังไง

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ไม่ต้องอาย! ถ้า STOP ไม่ได้ ก็ “Safe Sex” เรียนรู้การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย https://www.sanook.com/women/130637/
  • Safe Sex แบบไหนปลอดภัยสุด! https://www.wongnai.com/beauty-tips/safe-sex

Filed Under: ถุงยางอนามัย, เอชไอวี HIV, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Tagged With: Safe Sex, เพศสัมพันธ์กันอย่างปลอดภัย, เอชไอวี, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคเอดส์

SEXUAL HEADACHE อาการปวดหัวระหว่างมีเพศสัมพันธ์

May 1, 2022 by thaihiv365 team

SEXUAL HEADACHE

อาการปวดศีรษะสามารถเกิดขึ้นก่อน และระหว่างมีกิจกรรมทางเพศได้ หรือตอนที่ถึงจุดสุดยอด หรือหลังจากมีเซ็กส์ไปแล้วหลายชั่วโมงก็ยังปวดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยตัวเอง หรือตอน Oral Sex อาการอาจจะดูไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรที่จะปล่อยไว้ เพื่อเป็นปัญหาทำลายความสุขในชีวิตรักได้

การปวดศีรษะจากการมีเพศสัมพันธ์ (Sexual Headache)  คือ

อาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์นั้น เป็นอาการปวดหัวที่หาได้ยาก สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งระหว่างการมีเซ็กส์และหลังจากการมีเซ็กส์ แต่โดยปกติแล้วมักจะเกิดขึ้นหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการสำเร็จความใคร่ โดยที่อาการปวดหัวนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรค หรือความผิดปกติของร่างกายอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว คุณอาจจะรู้สึกว่ามีอาการปวดตุบๆที่บริเวณศีรษะและลำคอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างที่กำลังทำกิจกรรมทางเพศ หรืออาจจะมีอาการปวดหัวจี๊ดขึ้นมาอย่างรุนแรงขณะสำเร็จความใคร่

อาการปวดมักจะมีอาการปวดหัวอย่างหนักนานไม่เกิน 1 วัน และอาการปวดเบาๆ อีกไม่เกิน 3 วัน อาการปวดนี้จะคล้ายกันอาการคล้ายกับอาการปวดหัวไมเกรน สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุ และพบได้มากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

อาการSEXUAL HEADACHE

เช็คอาการผิดปกติ

หากมีอาการปวดศีรษะ ปวดตื้อๆ บริเวณศีรษะ และลำคอ มักเกิดเมื่อมีความตื่นเต้น และแรงกระตุ้นทางเพศที่สูงขึ้นในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดตั้งแต่เริ่มเกิดขึ้นก่อน ระหว่างทำกิจกรรมทางเพศ หรือเสร็จการทำกิจกรรทางเพศแล้วนั้น โดยอาจปวดเพียงครู่เดียว หรือต่อเนื่องกันหลายนาที หลายชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน 

ผู้ที่มีความเสี่ยงอาการปวดหัวตอนมีเพศสัมพันธ์

  1. อายุมากกว่า 40 ปี
  2. เพศหญิง
  3. ผู้ที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนหรือมีคนในครอบครัวเป็น
  4. ปวดมากกว่า 24 ชั่วโมง
  5. มีอาการทางระบประสาทอื่น ๆ ร่วมด้วย

ทำไมมีเซ็กส์แล้วถึงปวดหัว

สาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละคน แต่สาเหตุที่พบกันบ่อยๆ ก็จะมีประมาณนี้

  • การหดตัวของหลอดเลือด ก็เหมือนกับการเป็นไมเกรน ประมาณครึ่งหนึ่งของคนมี sex headache เป็นไมเกรนอยู่ก่อน เซ็กส์จึงเป็นเพียงตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของไมเกรนเท่านั้นเอง
  • การเกร็งตัวอย่างสุดขีดของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อท้ายทอย มักจะทำให้ปวดแบบตื้อ มากกว่าแบบแปล๊บ
  • ผลจากยา โดยเฉพาะยาช่วยให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวอย่าง sildenafil (Viagra)
  • มีความดันเลือดสูงอยู่แต่ไม่รู้ตัว พอออร์กัสซั่มปุ๊ปความดันจะยิ่งพุ่งขึ้นไปอยู่แล้ว อย่างน้อยก็จะขึ้นไปถึง 240 มม. ดังนั้นถ้าใครมีความดันเลือดสูงเป็นพื้นอยู่แล้ว ก็ไม่แปลกที่อาจจะมีอาการปวดหัวได้
  • การปริแตกของหลอดเลือดที่โป่งพองอยู่แล้วในสมอง คือวัยรุ่นจำนวนหนึ่งมีจุดที่หลอดเลือดดำ และหลอดเลือดแดงมาต่อกันแบบลุ่นๆแทนที่จะต่อผ่านหลอดเลือดฝอย เรียกว่ามี AVM ย่อมาจาก ateriovenous malformation เวลามันปริหรือแตกก็จะปวดหัวแบบสายฟ้าฟาด (thunderclap headache) และเวลาเกิดออร์แกสซั่มก็เป็นเวลาเหมาะที่จะปริ เพราะเป็นจังหวะที่ความดันจู๊ดขึ้นได้ที่พอดี
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ พอหัวใจขาดเลือดจากความดันขึ้น และหลอดเลือดหดตัว แทนที่จะเจ็บที่หน้าอกแบบปกติ ก็อาจจะมีบางคนที่ขึ้นไปเจ็บที่กราม ท้ายทอย หรือในหัวแทนถึงไม่ร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรเพิกเฉย

ทำไมปวดหัวตอนช่วยตัวเอง

อาการปวดศีรษะ ปวดท้ายทอย เวลาที่ช่วยตัวเอง จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ระยะเวลาปวดศีรษะนานประมาณ 15-20 นาที ปวดบริเวณท้ายทอย ต้นคอ หลังเบ้าตา และอาจกระจายไปทั่วทั้งศีรษะได้ เหตุเกิดจากการเพิ่มขึ้นของความดันโลหิตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วขณะถึงจุดสุดยอด

หากมีอาการบ่อย ปวดศีรษะ ปวดต้นคอมากขึ้น ควรไปตรวจพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องค่ะ

ลักษณะอาการที่เกิดขึ้น

อาการปวดศีรษะที่อาจเกิดขึ้นขณะทำกิจกรรมทางเพศแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ปวดศีรษะขณะใกล้ถึงจุดสุดยอดจะมีอาการปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ ที่บริเวณท้ายทอย อาการปวดศีรษะมักจะไม่รุนแรง แต่ถ้ามีเพศสัมพันธ์รุนแรงมากขึ้น จะทำให้อาการปวดศีรษะเป็นเพิ่มขึ้นได้
  2. ปวดศีรษะขณะถึงจุดสุดยอดมักจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน แล้วตามด้วยอาการปวดตึบ ๆ บริเวณต้นคอ ท้ายทอย ปวดบริเวณด้านหน้า เบ้าตา แล้วกระจายไปทั่ว บางคนเป็นเพียง  1 นาที บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะได้เป็นวัน

บางคนอาจจะมีอาการทั้งสองแบบนี้พร้อมกัน อาการปวดหัวนั้นสามารถอยู่ได้นานตั้งแต่ไม่กี่นาทีไปจนถึงหลายวัน ผู้ที่เคยมีอาการปวดหัวกว่า 75% รายงานว่ารู้สึกถึงอาการปวดที่ศีรษะทั้งสองข้าง และหากยิ่งขยับก็จะยิ่งมีอาการปวดมากยิ่งขึ้น

ควรไปพบแพทย์

จะทำอย่างไรดีถ้าเป็น Sexual Headache

1. ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและประเมินดังนี้ 

  • ประเมินความดันเลือด
  • ประเมินยาที่กินอยู่ 
  • ประเมินหลอดเลือดหัวใจ
  • ประเมินการมีอยู่ของ AVM ในสมองด้วยการตรวจ MRI ของสมองด้วย เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

2. ถ้าพบแพทย์แล้วไม่มีอะไรที่น่ากังวล ก็เป็นเรื่องง่ายแล้ว คือ sexual headache ส่วนใหญ่หายเอง 

  • ถอยห่างจากเซ็กส์ไปตั้งหลักสักพัก
  • กลับมามีเซ็กส์ใหม่ก็หัดค่อยๆ ไปแบบช้าๆ  ไม่ใช่เร่งรีบ
  • อย่าไปเกร็งตั้งคอไว้นาน เปลี่ยนท่าให้กล้ามเนื้อคอได้ผ่อนคลายบ้าง เทคนิคนี้จะช่วยได้มากกับพวกที่มีสาเหตุจากการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
  • วันไหนที่เครียดมากทำท่าจะปวดหัวอยู่แล้ว ก็อย่ามีเซ็กส์ เก็บเซ็กส์ไว้เป็นกิจกรรมเมื่อเรารู้สึกผ่อนคลาย
  • ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพทั่วไปดี ปัญหา sexual headache มักเป็นกับคนที่สุขภาพแย่ เช่นอ้วน ความดันสูง เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Sexual Headache

โดยปกติแล้วอาการปวดศีรษะจากเพศสัมพันธ์นั้นไม่เป็นอันตราย แต่หากเกิดอาการเกี่ยวข้องกับระบบประสาท เช่น อาการคอแข็ง อาเจียน หมดสติ หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงต่อเนื่องกันเกิน 1 วัน เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

วิธีการรักษาอาการปวดหัวตอนมีเพศสัมพันธ์

โดยปกติแล้ว อาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์มักจะหายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา บางคนอาจจะมีอาการเพียงแค่ครั้งเดียว แต่ก็มีบ้างที่อาจจะมีอาการปวดหัวอย่างเรื้อรังเป็นเวลานาน และจำเป็นต้องรับการรักษา

วิธีการรักษาอาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์นั้น จะขึ้นอยู่สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัว เนื่องจากอาการปวดหัวเนื่องจากเซ็กส์นั้น มักจะไม่เกี่ยวข้องกับโรคอื่น ๆ ดังนั้นการรับประทานยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้เอง เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin) ก็อาจจะเพียงพอที่จะรักษาอาการปวดหัวนี้ได้

ในบางกรณีแพทย์อาจจะสั่งยา เช่น ยาในกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-blockers)ให้รับประทานเป็นประจำ เพื่อป้องกันอาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์เพิ่มเติมอีกด้วยแต่ในบางครั้ง อาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์อาจจะเป็นผลมาจากสภาวะหรือโรคอื่นๆ ที่แอบแฝงอยู่ก็เป็นได้

ดังนั้นทางที่ดีจึงควรรับการตรวจจากแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคและหาสาเหตุของอาการปวดหัวที่แท้จริง เพื่อที่จะได้ทำการรักษาและป้องกันอาการปวดหัวได้อย่างถูกวิธี

  • ปวดศีรษะไม่รุนแรงจากการมีเพศสัมพันธ์ และเป็นไม่บ่อย สามารถรักษาโดยการทานยาแก้การอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ก่อนมีเพศสัมพันธ์
  • ปวดศีรษะรุนแรงจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นครั้งแรก แนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอันตราย อาทิเช่น เส้นเลือดสมองแตก, เส้นเลือดสมองหดตัวชั่วคราว, ผนังเส้นเลือดฉีกขาด

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับถุงยางอนามัย

ความก้าวหน้าของการรักษาเอชไอวีในปัจจุบัน

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ปวดหัวหลังมีเซ็กส์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์ที่คุณควรรู้ https://www.sanook.com/women/153489/
  • เรื่องน่าห่วงปวดหัวเมื่อมี SEX https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/diseases-and-treatments/sexual-headache
  • ปวดหัวตอนมี sex อาจเป็น Sexual Headache ได้นะ https://today.line.me/th/v2/article/GoK1DQ
  • ปวดหัวหลังมีเซ็กส์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการปวดหัวหลังมีเซ็กส์ที่คุณควรรู้
    https://hellokhunmor.com/สุขภาพทางเพศ/เคล็ดลับเรื่องบนเตียง/ปวดหัวหลังมีเซ็กส์/

Filed Under: ตรวจเอชไอวี, ถุงยางอนามัย, เอชไอวี HIV Tagged With: Oral Sex, Sexual Headache, การช่วยตัวเอง, ทำไมปวดหัวตอนช่วยตัวเอง, ปวดศีรษะจากการมีเพศสัมพันธ์, อาการปวดศีรษะ

STI และ STD อะไรคือความแตกต่าง

February 20, 2022 by thaihiv365 team

STI_STDความแตกต่าง

STD และ STI มักใช้แทนกันได้ เพราะหมายถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ความสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ระหว่าง “D” และ “I” คือ ความแตกต่างระหว่างโรคและการติดเชื้อ การติดเชื้อมักเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียไวรัส หรือจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคเข้าสู่ร่างกายและเริ่มทวีคูณ และโรคที่เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในร่างกายของคุณได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อ และเริ่มมีสัญญาณและอาการของการเจ็บป่วยเกิดขึ้น

STI  คืออะไร

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections; STI)  คือ การติดเชื้อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ โดยผ่านการจูบ, การสัมผัสหรือถูอวัยวะเพศ, การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก (การใช้ปากกับอวัยวะเพศ), การร่วมเพศ (องคชาตในช่องคลอด องคชาตในทวารหนัก), การใช้เซ็กซ์ทอย รวมถึง การติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูกระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และหลังคลอด

STD คืออะไร

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases: STD) คือกลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศกับคนที่เป็นโรค หรือคนที่ติดเชื้อ ทั้งจากการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทวารหนัก และสามารถติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ ผ่านการถ่ายโอนเลือด หรือการใช้เข็มร่วมกันได้เหมือนกัน

STI และ STD อะไรคือความแตกต่าง

STI (Sexually transmitted infection) คือ การติดเชื้อที่ป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ STD (Sexually transmitted disease) ซึ่งสองอย่างนี้ มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย

โดยอาจเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ แต่ STI อาจจะไม่มีอาการแสดง ถึงแม้คุณจะมีการติดเชื้ออยู่ก็ตาม ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา อาจพัฒนาเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคุณควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ

  • Sexually transmitted infections (STI, STIs)
    Infection – ภาวะการติดเชื้อ = ( มีอาการและ / หรืออาการแสดง) +( ผู้ที่ไม่มี อาการ และอาการแสดง)
  • Sexually transmitted diseases (STD, STDs)
    Disease -โรค มีอาการ และ / หรืออาการแสดง 

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีมากมาย บางชนิดพบได้บ่อย แต่จะแบ่งได้คร่าวๆ ออกเป็น 2 กลุ่มคือ ติดเชื้อไวรัส และติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนี้

  • โรคเอดส์    โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HIV                                                                            
  • หนองในแท้   โรคที่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae 
  • หนองในเทียม   โรคที่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis
  • เริมที่อวัยวะเพศ   โรคที่เกิดจากติดเชื้อไวรัส Herpes simplex virus                
  • หูดหงอนไก่   โรคที่เกิดจากติดเชื้อไวรัสฮิวแมน แปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus: HPV)                                                 
  • ซิฟิลิส   โรคที่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย โรคที่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum
  • ไวรัสตับอักเสบ  โรคที่เกิดจากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (HBV)  และไวรัสตับอักเสบ ซี (HCV)

ใครเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ?

  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย กับบุคคลเหล่านี้จะทำให้คุณมีแนวโน้มการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้มากขึ้น เช่น คู่นอนชั่วครั้งชั่วคราว, มีคู่นอนหลายคน หรือมีกิจกรรมทางเพศบ่อย
  • ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับผู้ชายคนอื่น
  • อายุน้อย ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศสัมพันธ์
  • เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในอดีต
  • ดื่มสุรา 
  • ใช้สารเสพติด
ตรวจโรคเมื่อไหร่

เมื่อไหร่ที่ควรมาตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?

  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย (ทั้งผ่านทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางหวารหนัก)
  • มีอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่บริเวณอวัยวะเพศของคุณ ได้แก่ องคชาต, ลูกอัณฑะ, ช่องคลอด, ปากช่องคลอด, ทวารหนัก โดยมีอาการดังนี้ เป็นผื่นหรือคันที่อวัยวะเพศ, มีสารคัดหลั่งจากองคชาต ช่องคลอด หรือทวารหนัก, อาการแสบเวลาปัสสาวะ, เจ็บแผล เป็นตุ่ม หรือมีหนอง, มีติ่งหรือก้อนเนื้อขึ้นบริเวณผิวหนัง, เจ็บปวดที่อวัยวะเพศหรือท้องน้อย, มีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  • กังวลว่าคุณอาจติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ถุงยางอนามัยของคุณฉีกขาดหรือหลุดออกระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
  • คู่นอนของคุณมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น
  • ใช้เข็ม หลอดฉีดยา และช้อนในการฉีดสารเสพติดร่วมกับผู้อื่น

จะปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อสงสัยว่าอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ?

เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเพิ่งมีความเสี่ยงในการติดโรค ควรรีบปรึกษาแพทย์ และงดการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นจนกว่าจะทราบผลการตรวจ ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหาย และแนะนำให้คู่นอนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เข้ารับการตรวจรักษาด้วย 

กินยาตามแพทย์สั่ง

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รักษาหาย และไม่หาย

โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินหรือฉีดยาปฏิชีวนะให้ครบตามแพทย์สั่ง และให้ความสำคัญกับการพาคู่นอนมารับการตรวจรักษา ส่วนโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดจะอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต เช่น เริม การรักษาจะช่วยควบคุมอาการโรคได้ แต่การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอชพีวี ร่างกายอาจกำจัดเชื้อได้เอง หากกำจัดไม่ได้เชื้ออาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในอนาคต 

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รักษาหาย

  • หนองใน
  • หนองในเทียม  
  • ซิฟิลิส  
  • ทริคโคโมแนส  
  • กามโรคของท่อและต่อม 
  • น้ำเหลือง  
  • แผลริมอ่อน  
  • หิดและโลน  
  • ตับอักเสบเอ  
  • หูดข้าวสุก

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รักษาไม่หายขาด

  • เอชไอวี  
  • เริมอวัยวะเพศ  
  • หูดหงอนไก่  
  • ตับอักเสบบี
  • ตับอักเสบซี 

วิธีการป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำอย่างไรได้บ้าง ?

  • การไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ การมีคู่นอนคนเดียวและคู่นอนไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้ 
  • การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีและทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์  และการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก  ตรวจสอบวันที่ใช้งานเสมอ เนื่องจากถุงยางอนามัยเก่าอาจฉีกขาดได้ง่าย
  • ใช้แผ่นยางทันตกรรม (แผ่นยางบาง ๆ ที่ใช้เป็นตัวกั้น) สำหรับการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก
  • ใช้สารหล่อลื่นสูตรน้ำเพื่อช่วยลดโอกาสการฉีกขาดของถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางอนามัย  อย่าใช้วาสลีนหรือน้ำมันนวดตัว เพราะอาจทำให้ถุงยางหรือแผ่นยางอนามัยเสื่อมหรือฉีกขาดได้ง่าย
  • ใช้ถุงยางอนามัยใหม่หรือแผ่นยางอนามัยใหม่ทุกครั้งที่คุณมีเพศสัมพันธ์ (ถึงแม้ว่าคุณหรือคู่นอนของคุณจะไม่หลั่งน้ำกามออกมา) อย่าล้างถุงยางอนามัยและนำกลับมาใช้อีก
  • หากคุณมีเพศสัมพันธ์กับคนมากกว่าหนึ่งคน (มีเพศสัมพันธ์แบบสามคนหรือแบบเป็นกลุ่ม) เปลี่ยนถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางทันตกรรมใหม่สำหรับแต่ละคน
  • เมื่อใช้เซ็กซ์ทอยในการมีเพศสัมพันธ์แบบสามคนหรือแบบเป็นกลุ่ม ให้ใช้ถุงยางอนามัยใหม่สำหรับแต่ละคน
  • หากคุณหรือคู่นอนของคุณมีอาการ อย่าสัมผัสหรือถูบริเวณนั้น
  • หากคุณคิดว่า คุณเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่ามีเพศสัมพันธ์อีกจนกว่าคุณจะไปพบแพทย์
  • การตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้และหนองในเทียมปีละครั้ง โดยเฉพาะหญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือกลุ่มชายรักชาย และการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มชายรักชาย
  • การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สำหรับคนที่มีอายุ 9-45 ปี โดยเฉพาะก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

ไวรัสตับอักเสบบี..ภัยเงียบที่ควรระวัง

อาการแบบนี้ ใช่โรคหนองในเทียมหรือเปล่า?

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ https://www.pidst.or.th/A732.html

Filed Under: ถุงยางอนามัย, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Tagged With: Disease, Infection, Sexually transmitted disease, Sexually transmitted infection, STD, STI, โรคติดต่อทางเพศสัมพัน

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับถุงยางอนามัย

February 9, 2022 by thaihiv365 team

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยมีความสำคัญในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการคุมกำเนิด ในปัจจุบัน มีถุงยางอนามัยให้เลือกใช้ ทั้งแบบสำหรับสตรีและแบบสำหรับบุรุษ 

ถุงยางอนามัยคือ?

ถุงยางอนามัย (Condom) มาจากภาษาละติน แปลว่า ภาชนะที่รองรับ ทำด้วยวัสดุจากยางพารา หรือโพลียูรีเทน โดยฝ่ายชายเป็นฝ่ายใช้สวมครอบอวัยวะเพศของตนเอง  และเป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้เป็นอันดับต้นๆ สำหรับช่วยป้องกันการคุมกำเนิด และช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

ซึ่งปัจจุบันมีการผลิต และพัฒนาถุงยางอนามัยออกสู่ตลาดจำนวนมาก ในหลากหลายแบบให้เลือก ทั้งที่มีสีสัน ผิวเรียบ ผิวไม่เรียบ มีกลิ่น และรสผลไม้ รวมทั้งมีรูปทรงที่แปลกตามากขึ้น ซึ่งแต่ละแบบเน้นวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันไป

ทำไมจึงต้องใส่ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์

เพราะ ถุงยางอนามัยจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ อย่างหนึ่งที่ใช้เพื่อการคุมกำเนิด หรือเพื่อป้องกันการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน หูดหงอนไก่ เชื้อเอชไอวี โรคเอดส์ ไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นต้น  ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการสวมถุงยางอนามัย ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ซึ่งสามารถป้องกันได้มากถึงร้อยละ 98%

ชนิดของถุงยางอนามัย

ชนิดของถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยที่มีการผลิตจำหน่ายมี 3 ชนิด โดยแบ่งตามวัสดุที่ใช้ ได้แก่

ชนิดที่ทำจากลำไส้สัตว์ (Skin condom)

วัสดุที่ใช้ผลิตเป็นส่วนของลำไส้ส่วนล่างของแกะ ที่เรียกว่า caecum มีความหนา 0.15 มิลลิเมตร มีขนาดความกว้างตั้งแต่ 62 – 80 มิลลิเมตร สวมใส่ไม่รัดรูปแต่ไม่สามารถยืดตัวได้ ให้ความรู้สึกสัมผัสที่ดีในขณะมีเพศสัมพันธ์ เพราะเชื่อว่าวัสดุจากลำไส้สัตว์ สามารถสื่อผ่านความอบอุ่นของร่างกายสู่กันได้ แต่ในประเทศไทยไม่มีการผลิตจำหน่าย เนื่องจากมีราคาสูง

ชนิดที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ (rubber condom or latex condom)

ถุงยางอนามัยที่ทำจากยางธรรมชาติมีราคาถูก มีความบางและยืดหยุ่นได้ดีกว่าแบบทำจากลำไส้สัตว์ ขนาดความกว้างน้อยจึงน้อยกว่า เวลาสวมใส่ให้ความรู้สึกกระชับรัดแนบเนื้อ และสามารถใช้ได้ทั้ง เพื่อการคุมกำเนิด และป้องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

ถุงยางชนิดนี้ไม่สามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นประเภทที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม หรือน้ำมันหล่อลื่นผิวหนัง พวก Mineral oil ได้ เพราะจะทำให้โครงสร้างของน้ำยางเสื่อมลง ส่งผลต่อคุณภาพและการป้องกัน แต่ใช้ได้กับสารหล่อลื่นชนิดที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก (water-based lubricant)

ชนิดที่ทำจาก Polyurethane หรือ Polyisoprene (ถุงยางพลาสติก)

ปัจจุบันมีการนำวัสดุอื่นมาผลิตเป็นถุงยางอนามัยด้วย เช่น สาร Polyurethane ถุงยางชนิดนี้ให้ความรู้สึกที่ดี เหนียวกว่า ทนต่อการฉีกขาดกว่าแบบที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ เหมาะสำหรับผู้ที่กลัวแพ้ยางพารา สามารถใช้สารหล่อลื่นที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม หรือน้ำมันหล่อลื่นผิวหนัง พวก Mineral oil ได้  และที่สำคัญคือสามารถทำให้บางได้ถึง 01 มิลลิเมตร ทำให้รู้สึกเสมือนไม่ได้ใส่อะไรเลย (feels like not wearing anything) แต่ราคาอาจสูงกว่าแบบน้ำยางพารา

ขนาดของถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยที่เหมาะสมกับแต่ละคน สามารถสังเกตตัวเองได้เมื่ออวัยวะเพศมีการแข็งตัวเกิดขึ้น โดยทั่วไปจะขยายได้ใหญ่กว่าเดิม 3-5 เท่า การแข็งตัวเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำเป็นลำยาวตลอดองคชาตที่เรียกว่า corpora cavernosa เริ่มเต็มไปด้วยเลือดที่ถูกสูบฉีดมาหล่อเลี้ยง เมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ

การเลือกขนาดถุงยางอนามัย ควรเลือกให้พอดี ไม่หลวม หรือคับแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ฉีกขาดง่าย หรือหลุดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ 

โดยขนาดความกว้างตั้งแต่ขนาด 44 มิลลิเมตร จนถึงขนาด 56 มิลลิเมตร และความยาววัดจากปลายเปิดจนถึงปลายปิดไม่รวมส่วนที่เป็นติ่งหรือกระเปาะ ต้องไม่น้อยกว่า 160 มิลลิเมตร ซึ่งกำหนดตามมาตรฐานขององค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ (ISO) ปี ค.ศ. 1990

ข้อดี-ข้อเสียของการใช้ถุงยางอนามัย

ข้อดีของการใช้ถุงยางอนามัย

  • หาซื้อง่าย ไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์ ถุงยางอนามัย มีแจกจ่ายตามโรงพยาบาลและที่สาธารณะทั่วไปไม่มีผลข้างเคียงในการใช้คุมกำเนิดเหมือนการทานยาคุมกำเนิดของผู้หญิง
  • ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะน้ำอสุจิ เชื้อโรค หรือแบคทีเรียต่าง ๆ ไม่สามารถทะลุผ่าน ถุงยางอนามัย ได้ยกเว้น ถุงยางอนามัย ที่ผลิตมาจากลำไส้ของสัตว์เท่านั้น
  • สามารถมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ฝ่ายหญิงมีประจำเดือน หรือที่เรียกกันว่าฝ่าไฟแดงได้ (แต่ไม่แนะนำ)
  • ป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกให้แก่ฝ่ายหญิง
  • ราคาถูกและปลอดภัยกว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นการสวมใส่ และใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ถึง 98%
  • มีหลายรูปทรง หลายกลิ่น หลายสี สามารถเพิ่มพูนความสุขระหว่างร่วมรักได้ง่าย

ข้อเสียของการใช้ถุงยางอนามัย

  • อาจเกิดอาการแพ้ คัน และผื่นแดงขึ้น มีอาการแพ้ได้ทั้งชายและหญิงแต่ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด สามารถทานยาแก้แพ้หลังจากเสร็จสิ้นการมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ทางที่ดีควรเปลี่ยนถุงยางอนามัยเป็นชนิดที่ไม่เกิดอาการแก้ดีกว่า อย่างเช่น ถุงยางอนามัย ที่ผลิตมาจากโพลียูรีเทนราคาแพงไปสักนิดแต่ก็ดีกว่ามานั่งทานยาแก้แพ้อยู่เรื่อย ๆ
  • การสวมใส่ ถุงยางอนามัย ผิดวิธีหรือไม่ระวังมีโอกาสทำให้ลื่นหลุด หรือฉีกขาดทำให้การร่วมรักสะดุด ไม่ต่อเนื่อง ดูไม่เป็นธรรมชาติ ยิ่งมือใหม่ใส่ไม่ช่ำชองจะพาลหมดอารมณ์ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
  • เมื่อหลั่งน้ำอสุจิเรียบร้อยแล้ว ต้องรีบถอนออกมาถอด ถุงยางอนามัย ด้วยความระมัดระวัง การปล่อยแช่ทิ้งไว้ที่อวัยวะเพศหญิงอาจจะทำให้ถุงยางอนามัยหลุดออกคาช่องคลอดได้
ต้องใช้ไม่เกิน 30 นาที

ข้อควรระวังในการใช้ถุงยางอนามัย

  • ระยะเวลาในการใช้งาน การใช้ 1 ชิ้นจะต้องใช้ไม่เกิน 30 นาที เพราะความสมบูรณ์ของตัวถุงยางอนามัยอาจจะเสื่อมสภาพลง และต้องใช้แล้วทิ้งเท่านั้น ห้ามนำกลับมาใช้ใหม่โดยเด็ดขาด
  • ระวังสารหล่อลื่น การใช้สารหล่อลื่นบางชนิดอาจมีผลกับตัวถุงยางอนามัย จึงควรหลีกเลี่ยงสารหล่อลื่นที่เป็นน้ำมันพืช น้ำมันแร่เป็นตัวละลาย เนื่องจากสารเหล่านี้จะทำปฏิกิริยาจนเกิดความเสียหายต่อถุงยางอนามัยได้
  • ภายหลังการใช้ถุงยางอนามัยไม่ควรสัมผัสถุงยางโดยตรง เพราะอาจมีเชื้อโรคติดอยู่ที่ด้านนอกแล้ว
  • ถุงยางอนามัยที่ใช้แล้ว ควรนำไปเผา หรือทิ้งลงถังขยะในทันที
  • การเก็บรักษาให้พ้นจากความร้อน หรือแสงแดด และไม่ควรเก็บในที่ชื้น เช่น ในช่องเก็บของบนพาหนะเนื่องจากมีความร้อนสูง และไม่ควรเก็บในที่ถูกทับ หรือบีบรัด เช่น กระเป๋ากางเกง กระเป๋าเงิน เพราะอาจทำให้ถุงยางอนามัยเกิดการชำรุดได้ 
  • ด้วยราคาที่ไม่ได้แพง การป้องกันที่ง่าย และได้ผลดี เราจึงไม่ควรมองข้ามการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเอง และต่อผู้อื่น รวมถึงลดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพราะถึงแม้ว่าเชื้อเอชไอวีอาจจะรักษาไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะป้องกันได้

ประโยชน์ของถุงยางอนามัยมีดังนี้

คุมกำเนิด

คือการป้องกันไม่ให้อสุจิเล็ดลอดเข้าไปในบริเวณช่องคลอดได้ ซึ่งการสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์จะช่วยให้มีโอกาสคุมกำเนิดได้มากขึ้น เมื่อมีการสวมถุงยางอนามัยที่ถูกวิธี ดังนั้นควรสวมถุงยางตลอดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ และสังเกตให้ดีก่อนว่าถุงยางอนามัยที่สวมอยู่นั้นรั่วหรือชำรุดหรือไม่

ป้องกันการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์

นอกเหนือจากการป้องการการตั้งครรภ์แล้ว ถุงยางอนามัยยังช่วยลดโอกาสการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เช่น โรคเอดส์ กามโรค หนองใน ซิฟิลิส เป็นต้น เพราะการรติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกันโดยตรงของสารคัดหลั่งและอวัยวะเพศ ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสได้ง่าย

ลดการบาดเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์

ถุงยางอนามัยมีส่วนผสมของสารหล่อลื่นในปริมาณที่พอเหมาะ เมื่อใช้ขณะมีเพศสัมพันธ์จะทำให้ลดโอกาสบาดเจ็บของอีกฝ่ายได้ ทั้งนี้ถุงยางอนามัยสามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นได้อีกด้วย

ช่วยเพิ่มอรรถรสทางเพศได้

ถุงยางอนามัยในปัจจุบันมีให้เลือกใช้งานได้หลายรูปแบบ ทั้งผิวเรียบ ผิวไม่เรียบ ผิวขรุขระ มีสี มีกลิ่น ให้เลือกใช้งานได้ตามรสนิยมของผู้ใช้งาน จึงทำให้ช่วยเพิ่มอรรถรสในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

ข้อดีของการตรวจ HIV ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจ

อาการแบบนี้ ใช่โรคหนองในเทียมหรือเปล่า?

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • แนะการใช้ถุงยางอนามัย4ขั้นตอน “เลือก เก็บ ใช้ ทิ้ง” https://www.thaihealth.or.th/Content/49255-แนะการใช้ถุงยางอนามัย4ขั้นตอน%20“เลือก%20เก็บ%20ใช้%20ทิ้ง”.html
  • ถุงยางอนามัย…กับความปลอดภัยเมื่อมีกิจกรรมรัก https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/08252020-1437
  • ถุงยางอนามัย ป้องกันได้แค่ไหนเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/condom_with_sex
  • วิธีใส่ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง
    https://multimedia.anamai.moph.go.th/help-knowledgs/how-to-put-on-a-condom/
  • ข้อดีของการใช้ ถุงยางอนามัย ที่อาจยังไม่รู้ https://new.camri.go.th/infographic/91
  • วิธีใส่ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง https://www.pobpad.com/วิธีใส่ถุงยางอนามัยอย่

Filed Under: ถุงยางอนามัย, เอชไอวี HIV, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Tagged With: Condom, คุมกำเนิด, ถุงยางอนามัย, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

Primary Sidebar

Recent Posts

  • แยกให้เป็น HIV กับ AIDS ไม่เหมือนกัน
  • เจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ อาการบ่งบอกถึงโรค “หนองใน”
  • โรคฝีมะม่วง..ภัยร้ายใกล้ตัว
  • หนองในเทียม (Chlamydia)
  • CD4 ที่เท่าไหร่ถึงเรียกว่าระดับน่าเป็นห่วง

Archives

  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • November 2021
  • September 2021
  • April 2021
  • November 2020
  • September 2020
  • May 2020
  • April 2020

Categories

  • PEP
  • PrEP
  • Uncategorized
  • ตรวจเอชไอวี
  • ถุงยางอนามัย
  • ยาต้านไวรัส
  • หนองใน
  • หนองในเทียม
  • เอชไอวี HIV
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โรคฝีดาษลิง
  • โรคฝีมะม่วง

Copyright © 2023 · Genesis Sample on Genesis Framework · WordPress · Log in